สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 ขอนแก่น
Responsive image

:    แพทย์ชี้อากาศเย็นลงอาจป่วยด้วยไข้หวัดใหญ่ แนะประชาชนกลุ่มเสี่ยงรับวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน

 

         จากการพยากรณ์โรคและภัยสุขภาพของกรมควบคุมโรค  คาดการณ์ว่าสัปดาห์นี้จะมีโอกาสพบผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ซึ่งมักจะระบาดช่วงฤดูหนาว โดยเฉพาะภาคเหนือและภาคอีสานตอนบน ในสัปดาห์นี้จะมีอุณหภูมิลดลง ประกอบกับนโยบายการเปิดประเทศและโรงเรียนกลับมาเปิดเรียนตามปกติ อาจทำให้มีการเจ็บป่วยด้วยโรคไข้หวัดใหญ่ได้ในหลายกลุ่ม ประชาชนจึงควรดูแลสุขอนามัยตนเองเพื่อป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ทุกสายพันธุ์ โดยการปิดปาก ปิดจมูกขณะไอ จาม และล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่ หรือแอลกอฮอล์เจล หลีกเลี่ยงการเอามือเข้าปาก หรือขยี้ตา ไม่ใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น และรับวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล

 

         นายแพทย์สมาน ฟูตระกูล ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 จังหวัดขอนแก่น ได้กล่าวถึงสถานการณ์โรคไข้หวัดใหญ่ในพื้นที่รับผิดชอบ 4 จังหวัด (จังหวัดขอนแก่น มหาสารคาม กาฬสินธุ์ และจังหวัดร้อยเอ็ด) ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 6 พฤศจิกายน 2564 ได้รับรายงานผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่จำนวนทั้งสิ้น 606 ราย ไม่มีรายงานผู้ป่วยเสียชีวิต พบผู้ป่วยเพศหญิงมากกว่าเพศชาย กลุ่มอายุที่พบมีอัตราป่วยสูงสุดคือกลุ่มอายุ 0-4 ปี   รองลงมาคือ กลุ่มอายุ 5-9 ปี จังหวัดที่มีอัตราป่วยสูงสุด คือจังหวัดมหาสารคาม รองลงมาคือ จังหวัดขอนแก่น จังหวัดร้อยเอ็ด และจังหวัดกาฬสินธุ์ตามลำดับ โดยในช่วงสัปดาห์นี้ จังหวัดในพื้นที่ภาคอีสานตอนบน จะมีสภาพอากาศกลับมาหนาวเย็นอีกครั้ง จึงขอเชิญชวนให้ประชาชน 7 กลุ่มเสี่ยงเข้ารับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ หรือฉีดพร้อมกับวัคซีนโควิด-19 ได้ในคราวเดียวกัน  โดยประชาชนใน 7 กลุ่มเสี่ยง ได้แก่ 1) หญิงตั้งครรภ์ อายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป  2) เด็กอายุ 6 เดือน ถึง 2 ปี 3) ผู้มีโรคเรื้อรัง ได้แก่ ปอดอุดกั้นเรื้อรัง หอบหืด หัวใจ หลอดเลือดสมอง ไตวาย ผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ระหว่างการได้รับเคมีบำบัด และเบาหวาน 4) ผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป 5) ผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ 6) โรคธาลัสซีเมีย และผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง รวมผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่มีอาการ และ 7) โรคอ้วน คือผู้ที่มีน้ำหนักตัวมากกว่า 100 กิโลกรัม หรือมีดัชนีมวลกายมากกว่า 35 กิโลกรัมต่อตารางเมตร ซึ่งการฉีดวัคซีนจะช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดโรคไข้หวัดใหญ่ได้  โดยเฉพาะผู้ที่มีความเสี่ยงจะเกิดภาวะแทรกซ้อนตามมา ควรเข้ารับการฉีดป้องกันเพื่อผลลัพธ์ที่ดี สำหรับผู้ที่ฉีดวัคซีนโควิด-19 ไปแล้ว ควรได้รับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ด้วย เนื่องจากเป็นเชื้อไวรัสคนละชนิดกัน ประชาชนควรได้รับวัคซีนทั้ง 2 ตัว และให้ฉีดห่างกัน 2 สัปดาห์ หรือสามารถฉีดพร้อมกับวัคซีนโควิด- 19 ได้ ในคราวเดียวกัน

          สำหรับประชาชนทั้ง 7 กลุ่มเสี่ยง สามารถฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ที่สถานบริการสาธารณสุขของรัฐใกล้บ้าน และสถานพยาบาลเอกชนที่เข้าร่วมโครงการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ อีกทั้งยังฉีดพร้อมกับวัคซีนโควิด-19 ได้ในคราวเดียวกัน เพื่อป้องกันการเกิดโรคปอดบวม ทั้งยังช่วยลดความรุนแรงของโรค และลดความเสี่ยงการเสียชีวิตจากภาวะแทรกซ้อนของผู้ป่วยลงได้ด้วยทั้งนี้หากประชาชนมีข้อสงสัยสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422

            

ข้อมูลจาก : กองโรคติดต่อทั่วไป/สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค

เผยแพร่ : กลุ่มสื่อสารความเสี่ยงโรคและภัยสุขภาพ

สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 จังหวัดขอนแก่น

ศูนย์รับข้อร้องเรียนสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่7 จ.ขอนแก่น

หมายเลข 043 222818-9 ต่อ 237

http://odpc7.ddc.moph.go.th

ติดต่อขอข้อมูลเพิ่มเติมที่ anucha.mhn@gmail.com


ข่าวสารอื่นๆ