สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 ขอนแก่น
Responsive image

สคร.7 จ.ขอนแก่น เตือน ในพื้นที่พบสัตว์ติดเชื้อพิษสุนัขบ้าเพิ่มมากขึ้น แต่ไม่พบการติดเชื้อในคน แนะป้องกันด้วยหลัก 5 ย. และพาสัตว์เลี้ยงไปฉีดวัคซีน หากถูกกัด/ข่วน ให้ล้างแผล ใส่ยา กักหมา และหาหมอฉีดวัคซีนให้ครบ

วันที่ 14 มีนาคม 2566 นายแพทย์สมาน ฟูตระกูล ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 จังหวัดขอนแก่น เปิดเผยว่าสถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้าในพื้นที่ยังไม่พบการติดเชื้อในคน แต่การติดเชื้อในสัตว์มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ย้ำโรคพิษสุนัขบ้าไม่มียารักษาหากเป็นแล้วจะเสียชีวิตทุกราย พร้อมแนะนำวิธีป้องกันโรคด้วย หลัก 3 ป.คือ ป้องกันสัตว์เป็นโรค ป้องกันการถูกสัตว์กัด/ข่วน และป้องกันหลังถูกกัด

สถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้าในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 7 (จังหวัดขอนแก่น มหาสารคาม กาฬสินธุ์ และร้อยเอ็ด) ปีงบประมาณ 2566 ยังไม่พบการติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าในคน แต่การติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น เมื่อเทียบกับปีผ่านมา(ปีงบประมาณ 2565) โดยตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 - 31 มีนาคม 2566 ในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 7 พบการติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์ จำนวน 6 ตัวอย่าง ดังนี้

1.วันที่ 9 ธ.ค. 65 พบเชื้อในสุนัข พื้นที่หมู่ที่ 12 ต.นาสีนวน อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม
2.วันที่ 26 ม.ค. 66 พบเชื้อในสุนัข ต.ชื่นชม อ.ชื่นชม จ.มหาสารคาม
3.วันที่ 27 ม.ค. 66 พบเชื้อในสุนัข ต.กุดปลาดุก อ.ชื่นชม จ.มหาสารคาม
4.วันที่ 2 มี.ค. 66 พบเชื้อในสุนัข พื้นที่หมู่ที่ 11 ต.ศรีสุข อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม
5.วันที่ 8 มี.ค. 66 พื้นที่ หมู่ที่ 11 ต.กุดโดน อ.ห้วยเม็ก จ.กาฬสินธุ์
6.วันที่ 9 มี.ค. 66 พื้นที่หมู่ที่ 9 ต.ศรีสุข อ.กันทรวิชัย

จากการลงพื้นที่สอบสวนโรคร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อค้นหาผู้สัมผัสและควบคุมโรค พบมีผู้สัมผัสสัตว์ติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าทั้งหมด 74 ราย ในพื้นที่จังหวัดมหาสารคาม 57 ราย และพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ 17 ราย โดยผู้สัมผัสทุกรายได้รับการดูแลรักษาตามแนวทางเวชปฏิบัติโรคพิษสุนัขบ้า และได้ประสานกับปศุสัตว์และหน่วยงานท้องถิ่นในพื้นที่ เพื่อดำเนินการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์รัศมี 5 กิโลเมตรรอบจุดเกิดโรค และทางสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 จังหวัดขอนแก่น ได้เฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป

นายแพทย์สมาน กล่าวเพิ่มเติมว่า โรคพิษสุนัขบ้า เป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คนสามารถเกิดขึ้นได้กับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิด เช่น สุนัข แมว กระรอก วัว ค้างคาว รวมทั้ง คน ในประเทศไทยพบมากที่สุดในสุนัข แมว และโค โรคพิษสุนัขบ้าสามารถติดต่อได้ตลอดทั้งปี ทุกฤดูกาล โดยติดต่อได้ด้วยการถูกสัตว์ที่มีเชื้อ กัด ข่วน หรือการสัมผัสกับน้ำลายของสัตว์ โดยระยะฟักตัวเฉลี่ยประมาณ 2 สัปดาห์ ถึง 2 เดือน หรือบางรายอาจนานถึง 1 ปี ปัจจุบันโรคพิษสุนัขบ้ายังไม่มียารักษา เมื่อเชื้อเข้าสู่ร่างกายเชื้อจะเดินทางไปตามเส้นประสาทเข้าสู่สมอง เมื่อผู้ป่วย
แสดงอาการแล้ว จะไม่สามารถรักษาให้หายได้ และจะเสียชีวิตทุกราย

การป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าให้ยึดหลัก 3 ป. ได้แก่

1. ป้องกันสัตว์เป็นโรค โดยการนำสัตว์เลี้ยงไปฉีดวัคซีน โดยฉีดครั้งแรกเมื่อสัตว์เลี้ยงมีอายุ 2-4 เดือน และฉีดซ้ำตามกำหนดทุกปี รวมถึงการทำหมันสัตว์เลี้ยงเพื่อไม่ให้มีจำนวนมากเกินไป ใช้สายจูงสัตว์เลี้ยงทุกครั้งที่ออกนอกบ้าน และหากพบสัตว์เลี้ยง หรือสัตว์ในพื้นที่ตายและมีอาการผิดปกติให้แจ้งปศุสัตว์อำเภอ หรือ ปศุสัตว์จังหวัดทันที

2. ป้องกันการถูกสัตว์กัด/ข่วน ด้วยหลัก 5 ย. ดังนี้ 1. อย่าแหย่ ให้สุนัขโมโห 2. อย่าเหยียบ หาง หัว ตัว สุนัข หรือ ทำให้สุนัขตกใจ 3. อย่าแยก สุนัขที่กำลังกัดกันด้วยมือเปล่า 4. อย่าหยิบ ชามข้าวหรือเคลื่อนย้ายอาหารขณะที่สุนัขกำลังกินอาหาร และ 5. อย่ายุ่ง กับสุนัขที่ไม่มีเจ้าของ หรือไม่ทราบประวัติการฉีดวัคซีน

3. ป้องกันหลังถูกกัด หากถูกสุนัขหรือแมวกัด/ข่วน แม้มีแผลเพียงเล็กน้อยให้รีบล้างแผลด้วยน้ำและสบู่ทันทีล้างอย่างน้อย 10 นาที เช็ดแผลให้แห้ง จากนั้นใส่ยาฆ่าเชื้อ และรีบไปโรงพยาบาล หรือสถานีอนามัยใกล้บ้านทันทีเพื่อรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า และต้องไปฉีดวัคซีนให้ครบตามแพทย์นัดทุกครั้ง จะช่วยป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าได้ และควรกักขังสัตว์ที่กัดไว้เพื่อสังเกตุอาการ 10 วัน

***************************************************
ข้อมูล : กลุ่มโรคติดต่อทั่วไป สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 จ.ขอนแก่น
ข่าว : กลุ่มสื่อสารความเสี่ยงฯ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 จ.ขอนแก่น
วันที่ 10 มีนาคม 2566


ข่าวสารอื่นๆ