ข้อมูลจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รายงานสถานการณ์น้ำที่ต้องเฝ้าระวังระหว่างวันที่ 15-20 กันยายน 2566 ระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสมซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง น้ำท่วมขัง ในหลายพื้นที่พร้อมแนะนำให้ติดตามข้อมูลข่าวสารจากทางราชการ ระมัดระวังอันตรายจากสัตว์และแมลงมีพิษ ระวังอันตรายจากกระแสไฟฟ้า ระวังอันตรายจากน้ำเชี่ยวไหลผ่าน
นายแพทย์สมาน ฟูตระกูล ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 จังหวัดขอนแก่น แสดงความห่วงใยต่อความปลอดภัยของประชาชนในพื้นที่ประสบปัญหาน้ำท่วม จึงขอให้ประชาชน หมั่นสังเกตและรับฟังข่าวสารจากทางราชการ และเตรียมตัวรับภัยที่มากับน้ำท่วมได้แก่ การเตรียมของใช้ที่จำเป็นในการดำรงชีวิต เช่น อาหารแห้ง อาหารกระป๋อง-อาหารสำเร็จรูป และวัสดุอุปกรณ์สำหรับใช้ทำอาหาร ไฟฉายพร้อมถ่าน ยารักษาโรค ถุงดำ นกหวีด เครื่องมือสื่อสาร ยาสามัญประจำบ้าน ยาประจำตัวสำหรับผู้มีโรคประจำตัว ชุดปฐมพยาบาลเครื่องใช้สำหรับดูแลสุขอนามัยส่วนบุคคล เช่น สบู่ ยาสีฟัน อาหารสำหรับทารกและนม ผ้าอนามัย ผ้าอ้อมและของใช้สำหรับทารก ภาชนะสะอาดสำหรับบรรจุน้ำขนาดใหญ่หลายๆอัน ให้เพียงพอต่อการใช้น้ำภายใน 3-5 วัน ผงน้ำตาลเกลือแร่ติดไว้เผื่อมีอาการท้องร่วง ถุงขยะใบใหญ่ไว้รวมขยะทั้งหมดให้อยู่ในถุง และเชือกสำหรับผูกปากถุง ถุงพลาสติกเอาไว้ใส่ขยะ และเอาไว้ถ่ายหนัก-เบา ยาทากันยุง เสื้อผ้าแขนยาวและขายาวสำหรับป้องกันยุงกัด เก็บเอกสารสำคัญสิ่งของมีค่าให้ปลอดภัย ย้ายปลั๊กไฟและเครื่องใช้ไฟฟ้าขึ้นสู่ที่สูง หากไม่มั่นใจให้ตัดกระแสไฟฟ้าเพื่อป้องกันไฟฟ้าดูด/ไฟฟ้าช็อต แยกที่อยู่สำหรับสัตว์เลี้ยง ไม่ควรนำสัตว์เลี้ยงมาอยู่ใกล้ชิดเพราะอาจติดเชื้อโรคจากสัตว์ได้ เตรียมอุปกรณ์สำหรับพยุงตัวที่หาง่ายติดตัวไปด้วยเสมอ เช่น ถังแกลลอนเปล่าปิดฝา ขวดน้ำพลาสติกเปล่าปิดฝา
เมื่อตกอยู่ในสถานการณ์ที่มีน้ำท่วม น้ำไหลหลากกระแสน้ำเชี่ยวแรง ให้คำนึงถึงความปลอดภัย ดังต่อไปนี้ 1. ไม่ควรออกเก็บผัก หาปลาและลงเล่นน้ำในขณะที่กระแสน้ำไหลหลากและเชี่ยวแรง เพราะเสี่ยงต่อการถูกกระแสน้ำพัดหรือจมในน้ำลึกได้ 2. ไม่ควรดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด ไม่ใส่เสื้อผ้าหนา หนัก อุ้มน้ำ ไม่ลงจับปลาในเวลากลางคืน หลีกเลี่ยงการลงน้ำหลังรับประทานอาหารใหม่ๆ เพราะเสี่ยงต่อการเป็นตะคริวที่ท้อง 3.ไม่ควรปล่อยให้ผู้ที่มีโรคประจำตัวที่ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้อยู่ตามลำพัง เช่น ผู้ป่วยโรคลมชัก ความดันโลหิต เบาหวาน โรคหัวใจหลอดเลือด 4.ผู้ปกครองดูแลเด็กอย่างใกล้ชิดไม่ปล่อยให้เด็กลงเล่นน้ำ ควรกำหนดให้มีบริเวณที่เป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเด็ก สอนให้เด็กรู้จักอันตรายที่เกิดขึ้นได้ในช่วงน้ำท่วม และเตรียมอุปกรณ์ลอยน้ำติดตัวหรืออยู่ในที่สะดวกต่อการนำมาใช้เมื่อมีเหตุฉุกเฉิน เช่น เสื้อชูชีพ ลูกมะพร้าว, ถังแกลลอนเปล่า,ขวดน้ำพลาสติกเปล่าผูกเชือกคล้อง ,ไม้ หรือเชือก
ทั้งนี้ ขอให้ระวัง 3 กลุ่มโรค 3 ภัยสุขภาพที่มาจากน้ำท่วม ได้แก่ กลุ่มโรคระบบทางเดินหายใจ คือ โรคไข้หวัดใหญ่และโรคปอดบวม กลุ่มโรคติดต่อทางอาหารและน้ำ คือ โรคอาหารเป็นพิษและโรคอุจจาระร่วง กลุ่มโรคที่มาจากน้ำขัง คือ โรคไข้ฉี่หนู โรคตาแดง และโรคไข้เลือดออก รวมถึง 3 ภัยสุขภาพ คือ สัตว์แมลงมีพิษกัด/ต่อย อาทิ งู แมงป่อง ตะขาบ เป็นต้น พยาธิที่มักพบมากับน้ำท่วม คือ พยาธิเส้นด้าย (พยาธิสตรองจีลอยด์) และการจมน้ำ
สำหรับ วิธีป้องกันโรคและภัยสุขภาพที่มากับน้ำท่วมหรือน้ำป่าไหลหลาก สามารถปฏิบัติได้โดย 1) อย่าทิ้งขยะทุกชนิด หรือขับถ่ายของเสียลงน้ำท่วมขัง ให้ทิ้งขยะหรือสิ่งปฏิกูลลงในถุงพลาสติกและมัดปากถุงให้แน่นแล้วเก็บไว้ในที่แห้ง 2) อย่าปล่อยให้เด็กเล็กลงเล่นน้ำโดยลำพัง เพราะเด็กอาจจมน้ำและช่วยเหลือไม่ทัน และอาจรับเชื้อจากน้ำที่มีสิ่งสกปรก ทำให้ป่วยด้วยโรคตาแดง โรคพยาธิสตรองจีลอยด์ หรือถูกสัตว์มีพิษที่หนีน้ำมากัด ต่อยได้ 3) หากน้ำท่วมขังกระเด็นเข้าตาหรือมีฝุ่นละอองเข้าไปในตา ให้ใช้น้ำสะอาดล้างหน้าและดวงตาให้สะอาด เพื่อป้องกันโรคตาแดง 4) รับประทานอาหารที่ปรุงสุก ร้อน สะอาด เพื่อป้องกันโรคอาหารเป็นพิษและโรคอุจจาระร่วง 5) หากจำเป็นต้องเดินลุยน้ำเป็นเวลานาน ควรใส่รองเท้าบู๊ททุกครั้ง เพื่อป้องกันโรคที่มากับน้ำท่วม รีบทำความสะอาดร่างกายด้วยน้ำสะอาดและเช็ดให้แห้งทันที หากมีข้อสงสัย สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422
****************************************
ข้อมูลจาก: กองโรคไม่ติดต่อ/ สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค
เผยแพร่ : กลุ่มสื่อสารความเสี่ยงโรคและภัยสุขภาพ
วันที่ 21 กันยายน 2566
ศูนย์รับข้อร้องเรียนสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 ขอนแก่น
หมายเลข 043-222818-9ต่อ 237