วันที่ 31 พฤษภาคมของทุกปี เป็นวันงดสูบบุหรี่โลก สคร.9 นครราชสีมา เชิญชวนประชาชนให้รู้เท่าทันบุหรี่ หวังกระตุ้นเตือนให้เยาวชน ผู้ปกครองและประชาชนรู้เท่าทันอันตราย และไม่หลงเชื่อลองเสพบุหรี่ไฟฟ้าทุกรูปแบบ ภายใต้คำขวัญ “บุหรี่ไฟฟ้า หยุดโกหกได้แล้ว”
นายแพทย์ทวีชัย วิษณุโยธิน ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา กล่าวว่า วันที่ 31 พฤษภาคมของทุกปี เป็นวันงดสูบบุหรี่โลก โดยในปี 2567 นี้ ประเทศไทยได้กำหนดประเด็นรณรงค์คือ “บุหรี่ไฟฟ้า หยุดโกหกได้แล้ว” เพื่อย้ำเตือนให้เยาวชน ผู้ปกครอง และประชาชนทุกเพศทุกวัยได้ตระหนักรู้เท่าทันอันตรายจากการสูบบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งปัจจุบันมีการแพร่ระบาดมากขึ้นในกลุ่มวัยเรียน และเยาวชน เนื่องจากเป็นผลิตภัณฑ์ยาสูบรูปแบบใหม่ที่ดึงดูดความสนใจด้วยการออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่เลียนแบบของเล่นเด็ก ของใช้หรือของกินที่เด็กและเยาวชนนิยมหรือคุ้นเคย รวมถึงการใส่สารปรุงแต่งกลิ่น และรสชาติในบุหรี่ไฟฟ้า เพื่อดึงดูดความสนใจให้อยากทดลอง และใช้บุหรี่ไฟฟ้า ตลอดทั้งสร้างการรับรู้ที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งทำให้เด็กและเยาวชนตกเป็นเหยื่อจากกลยุทธ์การตลาดของธุรกิจบุหรี่ไฟฟ้าได้ง่าย ทำให้เกิดนักสูบหน้าใหม่เพิ่มขึ้น
บุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า เป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อสุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะเยาวชนที่ต้องมีการพัฒนาอวัยวะและร่างกายให้สมบูรณ์เพื่อเป็นกำลังของชาติในอนาคต เพราะนิโคตินที่อยู่ในบุหรี่ไฟฟ้า นอกจากเป็นสารเสพติดแล้ว ยังเป็นสารเคมีที่สามารถดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด ทำให้เกิดการระคายเคืองและร่างกายมีปฏิกิริยาต่อต้าน เกิดการอักเสบของเส้นเลือดและเกิดการอุดตัน ส่งผลให้อวัยวะต่างๆ ขาดเลือด หย่อนสมรรถภาพในการทำงาน และเกิดโรคต่างๆ ตามมา ทั้งทางสมอง สติปัญญาบกพร่อง กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด โรคไต และอื่นๆ ได้ทุกอวัยวะ จึงขอให้ทุกฝ่ายช่วยกันปกป้องประชาชนและลูกหลานไม่ให้ข้องแวะกับบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า
นายแพทย์ทวีชัย วิษณุโยธิน กล่าวต่อไปว่า ในการป้องกันไม่ให้บุตรหลานและเยาวชนหันไปสูบบุหรี่ไฟฟ้า ขอให้สังเกตพฤติกรรมของบุตรหลานอย่างใกล้ชิด พูดคุยแนะนำ ให้ความรู้ที่ถูกต้องแก่บุตรหลานเกี่ยวกับโทษ พิษภัย อันตราย และผลกระทบของการสูบบุหรี่ไฟฟ้า เพื่อสร้างเกราะป้องกันตนเองจากบุหรี่ไฟฟ้า สร้างพื้นที่ปลอดภัยในครอบครัว ด้วยการไม่สูบบุหรี่ หรือบุหรี่ไฟฟ้าในบ้าน เพื่อป้องกันสมาชิกในครอบครัวไม่ให้ได้รับไอหรือควันจากบุหรี่ที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ และเป็นต้นแบบที่ดีแก่บุตรหลาน หากต้องการเลิกบุหรี่ สามารถขอรับคำปรึกษาได้ที่ 1) สายด่วนเลิกบุหรี่ 1600 : ปรึกษาผ่านโทรศัพท์วางแผนช่วยเลิกบุหรี่ (ไม่ต้องนัดไปเจอแพทย์) 2) คลินิกเลิกบุหรี่ : คลินิกฟ้าใส ตามโรงพยาบาล 500 แห่งทั่วประเทศ 3) ร้านยาอาสาพาเลิกบุหรี่ : ร้ายขายยาติดป้ายหน้าร้านว่า “ร้านขายยาอาสาพาเลิกบุหรี่” สามารถเข้ารับบริการได้อยู่ในโครงการของสปสช. 4) คลินิกออนไลน์ : ให้บริการเลิกบุหรี่ด้วยระบบเทเลเมดิซีน ติดตามการบำบัดอย่างต่อเนื่องผ่านระบบออนไลน์ หากมีข้อสงสัย สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422
ดาวน์โหลดเอกสารเพิ่มเติม : เอกสาร