สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา
Responsive image

ห่วงเด็กเล็กป่วยโรคมือ เท้า ปาก เตือนครูพี่เลี้ยง ผู้ปกครอง โรงเรียนอนุบาลดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด

ห่วงเด็กเล็กป่วยโรคมือ เท้า ปาก เตือนครูพี่เลี้ยง ผู้ปกครอง โรงเรียนอนุบาล ดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด

           ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูฝนแล้ว หลายพื้นที่มีฝนตกอย่างต่อเนื่อง อากาศเย็นลงและมีความชื้น เอื้อต่อการเจริญเติบโตของเชื้อโรคต่างๆ โดยเฉพาะโรคมือ เท้า ปาก ที่มักพบบ่อยในช่วงนี้ ประกอบกับเป็นช่วงที่เด็กๆ เปิดเทอม และมีการรวมตัวกัน ดังนั้น  จึงฝากเตือนครูพี่เลี้ยง ผู้ดูแลเด็ก และโรงเรียนอนุบาล ควรสังเกตอาการของเด็กอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ระวังป่วยด้วยโรคมือ เท้า ปาก หากมีไข้ต่ำๆ อ่อนเพลีย เจ็บปาก ร่วมกับมีตุ่มพองเล็กๆ บริเวณฝ่ามือฝ่าเท้า หรือตุ่มแผลในปาก       ควรแยกเด็กป่วยไม่ให้คลุกคลีกับคนอื่นๆ และไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยต่อไป

          นายแพทย์สุเมธ องค์วรรณดี ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา กล่าวถึงโรคมือ เท้า ปากว่า     เป็นโรคที่พบบ่อยในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี สำหรับอาการของโรคมือ เท้า ปาก จะเริ่มด้วยมีไข้ต่ำๆ อ่อนเพลีย ต่อมา 1-2 วัน จะมีอาการเจ็บปาก ร่วมกับมีตุ่มพองเล็กๆ บริเวณฝ่ามือฝ่าเท้า ตุ่มแผลในปาก เพดานอ่อน กระพุ้งแก้ม ลิ้น ต่อมาจะแตกออกเป็นแผลหลุมตื้นๆ หากอาการไม่ดีขึ้น เช่น มีไข้ขึ้นสูง ซึมลง เดินเซ ชัก เกร็ง หายใจหอบเหนื่อย อาเจียนมาก ต้องรีบไปพบแพทย์ทันทีเพราะอาจติดเชื้อโรคมือ เท้า ปากชนิดรุนแรง อาจถึงขั้นเสียชีวิตได้

         สถานการณ์ของโรคมือ เท้า ปาก ในประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค - 26 ก.ค พ.ศ.2565 ประเทศไทยพบผู้ป่วยโรค มือ เท้า ปาก อายุต่ำกว่า 5 ปี จำนวน 8,798 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต ส่วนสถานการณ์ของโรค มือ เท้า ปากในเขตสุขภาพที่ 9 ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค - 25 ก.ค. พ.ศ. 2565 มีรายงานผู้ป่วยรวม 521 ราย แยกเป็นรายจังหวัด ดังนี้ 1) จ.นครราชสีมา มีผู้ป่วย 87 ราย 2) จ.ชัยภูมิ มีผู้ป่วย 85 ราย 3) จ.บุรีรัมย์ มีผู้ป่วย 128 ราย และ 4) จ.สุรินทร์ มีผู้ป่วย 221 ราย ส่วนใหญ่พบในเด็กอายุ 3 ปี รองลงมาคือ 2 ปี และ อายุ 1 ปี ตามลำดับ

          นายแพทย์สุเมธ องค์วรรณดี กล่าวต่อไปว่า แนะนำให้ครูพี่เลี้ยง ผู้ดูแลเด็ก และพ่อแม่ ผู้ปกครองดูแลและสังเกตอาการของบุตรหลานอย่างใกล้ชิด โดยวิธีป้องกันโรคมือ เท้า ปาก มีดังนี้ คือ 1.ลดการสัมผัสเชื้อ ไม่นำมือที่สกปรกสัมผัสใบหน้า เพราะเชื้อโรคจะอยู่ในน้ำมูก น้ำลาย น้ำจากแผลตุ่มพองหรืออุจจาระของผู้ป่วย ซึ่งมักจะติดอยู่บนมือ แล้วนำเข้าปากหรือจับของเล่น ของใช้ ทำให้เชื้อกระจายสู่  ผู้อื่นได้ 2.หมั่น       ทำความสะอาดของใช้และของเล่นของเด็กเป็นประจำ และเปิดประตูหน้าต่างให้อากาศถ่ายเท 3.หมั่นให้เด็กล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ ทั้งก่อนและหลังรับประทานอาหารหรือเข้าห้องน้ำ เพื่อลดเชื้อสะสมบนมือและลดการแพร่สู่ผู้อื่น 4.หากบุตรหลานป่วย ให้เด็กสวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย ไม่พาเด็กป่วยไปในสถานที่แออัด แยกของใช้ส่วนตัวและไม่ให้คลุกคลีกับคนอื่นๆ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่    สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422

ที่มา รง.506 สคร.9นครราชสีมา โดย ทีม SAT สคร.9

 


ข่าวสารอื่นๆ