สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา
Responsive image

สคร.9 เตือนระวังเด็กจมน้ำเสียชีวิต เด็กเล็ก ยึดหลัก "อย่าใกล้ อย่าเก็บ อย่าก้ม" ส่วนเด็กโต "ตะโกน โยน ยื่น"

สคร.9 เตือนระวังเด็กจมน้ำเสียชีวิต

เด็กเล็ก ยึดหลัก “อย่าใกล้ อย่าเก็บ อย่าก้ม” ส่วนเด็กโต “ตะโกน โยน ยื่น” 

         การจมน้ำ นับเป็นภัยเงียบที่เกิดขึ้น และเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 2 ของเด็กไทยที่อายุต่ำกว่า 15 ปี ซึ่งในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีเด็กจมน้ำเสียชีวิตเฉลี่ยปีละ 737 คน หรือวันละเกือบ 2 คน สคร.9 เตือนผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลเด็ก ไม่ควรปล่อยให้เด็กเข้าถึงแหล่งน้ำได้เองตามลำพัง เพราะหากคลาดสายตาจากเด็กเพียงเสี้ยววินาที เด็กอาจจมน้ำได้ หากเกิดเหตุการณ์เด็กจมน้ำไม่ควรปฐมพยาบาลด้วยวิธีอุ้มพาดบ่าแล้วกระแทก แต่ควรโทรแจ้งขอความช่วยเหลือจากทีมแพทย์กู้ชีพ 1669 ทันที 

          นายแพทย์สุเมธ องค์วรรณดี ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา กล่าวถึงเด็กจมน้ำว่า ผู้ปกครองควรดูแลบุตรหลานอย่างใกล้ชิด ไม่ให้เข้าใกล้แหล่งน้ำตามลำพัง เพราะอาจเสี่ยงจมน้ำเสียชีวิตได้ ข้อมูลจาก งานป้องกันการบาดเจ็บ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา กรมควบคุมโรค รายงานสถานการณ์เด็กจมน้ำในเขตสุขภาพที่ 9 ปี พ.ศ.2564 มีเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี จมน้ำเสียชีวิต รวม 77 ราย แยกเป็นรายจังหวัด ดังนี้ 1) จ.นครราชสีมา 23 ราย 2) จ.ชัยภูมิ 12 ราย  3) จ.บุรีรัมย์ 27 ราย และ 4) จ.สุรินทร์ 15 ราย

          อีกทั้งเมื่อต้นเดือนสิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา ทีมตระหนักรู้สถานการณ์ ของ สคร.9 ได้รับรายงานว่า เกิดเหตุการณ์จมน้ำเสียชีวิต จำนวน 3 ราย ที่อำเภอสังขะ จังหวัดสุรินทร์ เป็นเด็ก เพศหญิง อายุ 8, 11 และ 12 ปี โดย ชักชวนกันไปเล่นน้ำหน้าโรงเรียน ซึ่งเป็นบ่อน้ำมีความลึกประมาณ 3 เมตร ญาติสันนิษฐานว่าเด็กว่ายน้ำไม่เป็น และกระโดดสะพานของฝายล้น ทำให้เกิดอุบัติเหตุไปกระทบกับของแข็งช่วงกระโดดลงน้ำ ทำให้จมน้ำเสียชีวิต

             นายแพทย์สุเมธ องค์วรรณดี กล่าวต่อไปว่า ในการการป้องกันการจมน้ำสำหรับเด็กเล็ก อายุต่ำกว่า 5 ปี เน้นใช้มาตรการ “อย่าใกล้ อย่าเก็บ อย่าก้ม” ดังนี้  1.อย่าเข้าใกล้แหล่งน้ำ เพราะอาจลื่นพลัดตกลงไปในน้ำ 2.อย่าเก็บสิ่งของที่ตกลงไปในน้ำด้วยตนเอง ต้องให้ผู้ใหญ่ช่วยเก็บ 3.อย่าก้มหรือชะโงกลงไปในแหล่งน้ำ เพราะอาจหัวทิ่มลงไปในน้ำได้

            ส่วนกลุ่มเด็กโต เน้นห้ามการไปเล่นน้ำกันเองตามลำพัง หากพบเห็นคนตกน้ำ ไม่ควรกระโดดลงไปช่วยเพราะอาจจมน้ำพร้อมกันได้ ควรใช้มาตรการ “ตะโกน โยน ยื่น” ดังนี้ 1.ตะโกนเรียกขอความช่วยเหลือ   2.โยนอุปกรณ์ที่อยู่ใกล้ตัวช่วยคนตกน้ำเกาะจับพยุงตัว เช่น ถังแกลลอนพลาสติกเปล่าปิดฝา หรือวัสดุที่ลอยน้ำได้ และ 3.ยื่นอุปกรณ์ที่อยู่ใกล้ตัว เช่น ไม้ เชือก เสื้อ ผ้าขาวม้า ให้คนตกน้ำจับและดึงขึ้นมาจากน้ำ นอกจากนี้  ขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเคร่งครัดมาตรการป้องกันการเสียชีวิตจากการจมน้ำ โดยให้ความรู้เด็กและผู้ปกครองในการป้องกันการจมน้ำ และชุมชนควรร่วมดำเนินการสำรวจแหล่งน้ำเสี่ยง จัดการแหล่งน้ำให้ปลอดภัย เช่น การสร้างรั้วกั้น ติดตั้งป้ายเตือน และเตรียมอุปกรณ์ช่วยคนตกน้ำไว้บริเวณแหล่งน้ำเสี่ยง สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422


ข่าวสารอื่นๆ