สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา
Responsive image

ท่องเที่ยวอย่างไร ให้ปลอดภัยจากยุงลาย

ท่องเที่ยวอย่างไร ให้ปลอดภัยจากยุงลาย

         ภายหลังสถานการณ์โควิด 19 เริ่มคลี่คลาย ประเทศต่างๆ ได้ทยอยเปิดประเทศ ทำให้มีนักท่องเที่ยวเริ่มเดินทางกันมากขึ้น ซึ่งประเทศไทยถือเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวทั่วโลก สคร.9 นครราชสีมา กรมควบคุมโรค มีความห่วงใย เตือนนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติให้ป้องกันโรคติดต่อนำโดยแมลง และสังเกตอาการหากมีไข้สูงลอยมากกว่า 2 วัน ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ มีจุดแดงเล็กๆ ขึ้นตามตัว ปวดข้อ ปวดกระดูก ให้สงสัยว่าอาจป่วยจากโรคติดต่อนำโดยแมลง ได้แก่ โรคไข้เลือดออก โรคไข้ปวดข้อยุงลาย โรคติดเชื้อไวรัสซิกา ไม่ควรซื้อยากลุ่ม NSAIDs เช่น ไอบูโพรเฟน แอสไพรอน มากินเอง และไปพบแพทย์โดยเร็ว

         นายแพทย์ทวีชัย วิษณุโยธิน ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา กล่าวว่าเนื่องจากขณะนี้มีการผ่อนคลายมาตรการของโรคโควิด 19 ทำให้ประเทศต่างๆ ได้ทยอยเปิดประเทศ จึงทำให้มีนักท่องเที่ยวสามารถเดินทาง และไปทำกิจกรรมในสถานที่ต่างๆ ได้มากขึ้น เช่น แหล่งท่องเที่ยว วัดวาอาราม โรงแรม รีสอร์ทต่าง ซึ่งสถานที่ดังกล่าว อาจมีภาชนะที่มีน้ำขังและมีลูกน้ำยุงลาย ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออก และโรคอื่นๆ

         ประเทศไทยพบการระบาดของโรคไข้เลือดออก โรคไข้ปวดข้อยุงลาย และโรคติดเชื้อไวรัสซิกาในหลายพื้นที่ โดยข้อมูลจากระบบรายงานการเฝ้าระวังโรค กองระบาดวิทยา วันที่ 1 มกราคม – 31 ธันวาคม 2565 พบผู้ป่วยสะสมโรคไข้เลือดออก 45,145 ราย โรคไข้ปวดข้อยุงลาย 1,370 ราย และโรคติดเชื้อไวรัสซิกา 66 ราย    ส่วนสถานการณ์ของเขตสุขภาพที่ 9 วันที่ 1 มกราคม – 31 ธันวาคม 2565 พบผู้ป่วยสะสมโรคไข้เลือดออก 1,814 ราย โรคไข้ปวดข้อยุงลาย 134 ราย และโรคติดเชื้อไวรัสซิกา 2 ราย ซึ่งทั้ง 3 โรค เป็นโรคติดต่อนำโดยยุงลายที่มีแนวโน้มในการระบาดอย่างต่อเนื่อง

          นายแพทย์ทวีชัย วิษณุโยธิน กล่าวต่อไปว่า เพื่อเป็นการป้องกันควบคุมโรคติดต่อนำโดยยุงลายทั้ง 3 โรค ไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดเป็นวงกว้าง และลดอัตราการเสียชีวิต สคร.9 นครราชสีมา จึงขอเตือนนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติให้ป้องกันตนเองอย่าให้ถูกยุงกัด หากมีอาการไข้สูงลอยมากกว่า 2 วัน ปวดศีรษะ หรือปวดกระบอกตา คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย มีผื่นแดงตามตัว ในบางรายอาจมีอาการปวดข้อ ปวดกระดูก ไม่ควรซื้อยากลุ่ม NSAIDs เช่น ไอบูโพรเฟน แอสไพรอน มากินเอง โดยเฉพาะหญิงตั้งครรภ์ควร หากมีอาการดังกล่าวให้รีบปรึกษาแพทย์และเข้ารับการรักษาทันที หากมีข้อสงสัย สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422


ข่าวสารอื่นๆ