สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา
Responsive image

24 มีนาคม วันวัณโรคสากล YES! WE CAN END TB “ยุติวัณโรค เราทำได้”

24 มีนาคม วันวัณโรคสากล YES! WE CAN END TB “ยุติวัณโรค เราทำได้”

         องค์การอนามัยโลก กำหนดให้วันที่ 24 มีนาคม ของทุกปี เป็นวันวัณโรคสากล กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรค ขอความร่วมมือหน่วยงานภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน ร่วมมือดำเนินงานเพื่อยุติวัณโรค โดยการเร่งรัด ค้นหา รักษา ป้องกัน ภายใต้แนวคิดในการรณรงค์ คือ “YES! WE CAN END TB” “ยุติวัณโรค เราทำได้” และ “รู้เร็ว รักษาหาย ไม่แพร่กระจาย” และเสริมสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพให้ประชาชนมีพฤติกรรมที่เหมาะสม ลดการรังเกียจตีตราและเลือกปฏิบัติ โดยมีเป้าหมายเพื่อช่วยเหลือชีวิต ลดอัตราการป่วย และลดอัตราการตายจากวัณโรคให้เหลือน้อยที่สุด เพื่อยุติปัญหาวัณโรคของประเทศ

         นายแพทย์ทวีชัย วิษณุโยธิน ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา กล่าวถึงวัณโรคว่า โรคนี้สามารถแพร่กระจายผ่านละอองฝอยที่ลอยฟุ้งอยู่ในอากาศ เมื่อผู้ป่วยวัณโรคไอ หรือจาม หากร่างกายได้รับเชื้อวัณโรค เชื้อจะเข้าไปเกาะตามอวัยวะส่วนต่างๆ ของร่างกาย โดยเฉพาะปอด ซึ่งพบเชื้อวัณโรคได้บ่อยที่สุด เนื่องจากผู้ป่วยมักได้รับเชื้อผ่านการสูดลมหายใจเอาเชื้อเข้าสู่ปอดโดยตรง วัณโรคสามารถรักษาหายขาดได้ แต่ก็สามารถกลับมาเป็นซ้ำได้อีก หากรับประทานยาไม่ครบตามที่แพทย์สั่ง เนื่องจากมีเชื้อบางส่วนที่อาจหลบซ่อนอยู่ในเซลล์ ซึ่งต้องใช้ยารักษาร่วมกันหลายขนานในช่วง 2-3 เดือนแรก และต้องรักษานานอย่างน้อย 6 เดือน เพื่อลดโอกาสดื้อยาและกลับมาเป็นซ้ำ

         สถานการณ์วัณโรคในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 9 ปี พ.ศ.2566 พบผู้ป่วยวัณโรครายใหม่ทุกประเภทขึ้นทะเบียนรักษา จำนวน 3,168 คน โดยคิดเป็นความครอบคลุมของการขึ้นทะเบียนรักษาวัณโรค (TB Treatment Coverage) ร้อยละ 32.98 แยกรายจังหวัด ดังนี้

         จังหวัดนครราชสีมา พบผู้ป่วยวัณโรครายใหม่ทุกประเภทขึ้นทะเบียนรักษา 1,012 คน คิดเป็นร้อยละ 26.88 จังหวัดสุรินทร์ 939 คน ร้อยละ 47.64 จังหวัดบุรีรัมย์ 789 คน ร้อยละ 34.89 และจังหวัดชัยภูมิ 428 คน เป็นร้อยละ 26.61

         ด้านวัณโรคดื้อยา เขตสุขภาพที่ 9 พบผู้ป่วยวัณโรคดื้อยาที่ได้รับการตรวจยืนยัน วินิจฉัย และขึ้นทะเบียนรักษาในปี 2566 แบ่งเป็น ประเภท วัณโรคดื้อยา (RR-TB) จำนวน 11 คน วัณโรคดื้อยาหลายขนาน (MDR-TB) จำนวน 18 คน และ วัณโรคดื้อยาหลายขนานชนิดรุนแรง (Pre XDR TB) จำนวน 7 คน

          นายแพทย์ทวีชัย วิษณุโยธิน กล่าวต่อไปว่า กลุ่มเสี่ยงที่พบว่าป่วยวัณโรค ได้แก่ ผู้ที่อยู่บ้านเดียวกับผู้ป่วย ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง โดยเฉพาะโรคเบาหวาน ผู้ที่อาศัยในชุมชนแออัด ผู้ต้องขังในเรือนจำ ขอให้ตรวจหาเชื้อวัณโรคทันทีเมื่อรู้ว่าเป็นผู้สัมผัส หรือเมื่อมีอาการ เช่น ไอติดต่อกันนานเกิน 2 สัปดาห์ ไอมีเสมหะปนเลือด ไอแห้งๆ หรือมีเสมหะ เจ็บหน้าอก เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย น้ำหนักลด มีไข้ต่ำๆ ขอให้รีบไปปรึกษาแพทย์ทันทีเพื่อเข้าสู่กระบวนการรักษา เพราะวัณโรคสามารถรักษาให้หายได้ โดยรีบมาตรวจคัดกรองวัณโรคที่โรงพยาบาล หากกินยาต่อเนื่องอย่างน้อย 6-8 เดือน จะรักษาให้หายขาดได้ ซึ่งต้องกินยาครบทุกเม็ด ครบทุกมื้อ และควรมีพี่เลี้ยงดูแลการกินยาจนครบการรักษา ไม่ควรหยุดยาเอง หากมีข้อสงสัย สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422              


ข่าวสารอื่นๆ