สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา
Responsive image

สคร.9 เตือน 10 เมนูเสี่ยงหน้าร้อน เน้นย้ำ “สุก ร้อน สะอาด”

สคร.9 เตือน 10 เมนูเสี่ยงหน้าร้อน  เน้นย้ำ “สุก ร้อน สะอาด”

         ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูร้อนอย่างเป็นทางการ ทำให้ช่วงกลางวันแดดร้อนจัด หากร่างกายปรับตัว   ไม่ทัน อาจทำให้ป่วยได้ อีกทั้งอาหารที่นำมารับประทานก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เจ็บป่วย เนื่องจากหน้าร้อนทำให้อาหารปนเปื้อนเชื้อโรค ก่อให้เกิดโรคอาหารเป็นพิษ โดยเฉพาะ 10 เมนูที่ต้องระวังในช่วงหน้าร้อน ได้แก่ 1.กุ้งจ่อม ก้อย ลาบดิบ 2.อาหารประเภทยำ 3.อาหารทะเล 4.ข้าวผัด และข้าวผัดโรยเนื้อปู 5.ขนมจีน 6.สลัดผัก 7.อาหารหรือขนมที่มีส่วนประกอบของกะทิ 8.ส้มตำ 9.ข้าวมันไก่ และ 10.น้ำแข็งที่ไม่สะอาด แนะยึดหลัก “สุก ร้อน สะอาด” รับประทานอาหารปรุงสุกใหม่ด้วยความร้อน หลีกเลี่ยงอาหารสุกๆ ดิบๆ หากอาหารมี รูป รส กลิ่น สีผิดปกติไม่ควรรับประทาน

         นายแพทย์ทวีชัย วิษณุโยธิน ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา กล่าวว่า ในช่วงนี้สภาพอากาศร้อนจัด ขอให้ประชาชนระมัดระวังการรับประทานอาหารและน้ำดื่มเป็นพิเศษ เนื่องจากอุณหภูมิที่สูงขึ้นส่งผลให้เชื้อโรคหลายชนิดเจริญเติบโตได้ดี อาจทำให้อาหารบูดเสียได้ง่าย เสี่ยงต่อการเจ็บป่วยด้วยโรคติดต่อทางอาหารและน้ำ โดยเฉพาะ    โรคอาหารเป็นพิษ

         อาหารเสี่ยงที่ประชาชนควรระมัดระวังเป็นพิเศษ 10 เมนู ได้แก่ 1) จ่อม/ก้อย/ลาบดิบ 2) อาหารประเภทยำ 3) อาหารทะเล 4) ข้าวผัด/ข้าวผัดโรยเนื้อปู 5) ขนมจีน 6) สลัดผัก 7) อาหารหรือขนมที่มีส่วนประกอบของกะทิ 8) ส้มตำ 9) ข้าวมันไก่ และ 10) น้ำแข็งที่ไม่สะอาด 

         สถานการณ์โรคอาหารเป็นพิษในประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 20 มีนาคม 2566 มีผู้ป่วยโรคอาหารเป็นพิษ 21,847 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต กลุ่มอายุที่พบมากที่สุด คือ 0-4 ปี    กลุ่มอายุ 15-24 ปี และ กลุ่มอายุ 25-34 ปี

         ส่วนสถานการณ์โรคอาหารเป็นพิษในเขตสุขภาพที่ 9 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 18 มีนาคม 2566 พบผู้ป่วยโรคอาหารเป็นพิษ จำนวน 3,326 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต แยกเป็นรายจังหวัด ดังนี้ 1) จ.สุรินทร์ มีผู้ป่วย 1,379 ราย 2) จ.บุรีรัมย์ มีผู้ป่วย 821 ราย 3) จ.นครราชสีมา มีผู้ป่วย 776 ราย 4) จ.ชัยภูมิ มีผู้ป่วย 350 ราย

         กลุ่มอายุที่พบสูงสุดคือกลุ่มอายุ 5-9 ปี รองลงมาคือ กลุ่มอายุ 0-4  ปี และกลุ่มอายุ 10-14 ปีตามลำดับ อาชีพที่พบผู้ป่วยสูงสุดคือ นักเรียน รองลงมาคือ เด็ก ร้อยละ 25.98  และเกษตร ตามลำดับ

         นายแพทย์ทวีชัย วิษณุโยธิน กล่าวต่อไปว่า กล่าวต่อไปว่า ในการป้องกันโรคอาหารเป็นพิษ ขอแนะนำให้ประชาชนเลือกรับประทานอาหารที่ถูกสุขลักษณะ โดยขอให้ยึดหลัก       “สุก ร้อน สะอาด” คือ รับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ ส่วนอาหารที่เก็บไว้นานเกิน 2 ชั่วโมง ต้องนำมาอุ่นร้อนให้ทั่วถึงก่อนรับประทานทุกครั้ง เลือกบริโภคอาหาร น้ำดื่ม และน้ำแข็งที่สะอาดได้มาตรฐาน เลือกซื้อวัตถุดิบที่สด สะอาดและมีคุณภาพ ควรใช้ช้อนกลางส่วนตัวเมื่อรับประทานอาหารร่วมกัน ก่อนหยิบจับหรือรับประทานอาหารควร ล้างมือให้สะอาดทุกครั้ง หากผู้ป่วยมีอาการถ่ายบ่อย ควรให้จิบน้ำผสมสารละลายเกลือแร่ (ORS) เพื่อป้องกันการขาดน้ำ และควรรับประทานอาหารอ่อนย่อยง่าย หากอาการไม่ดีขึ้น ให้รีบไปพบแพทย์ หากมีข้อสงสัย สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422

 


ข่าวสารอื่นๆ