สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา
Responsive image

นำเห็ดป่ามาปรุงอาหาร อาจเป็น “เห็ดพิษ” เสี่ยงเสียชีวิตได้

         ช่วงนี้เข้าสู่ฤดูฝน ทำให้มีเห็ดป่าหลายชนิดเกิดขึ้นตามธรรมชาติ เตือนประชาชนให้ระวังการเก็บเห็ดป่ามาปรุงอาหาร เนื่องจากเห็ดที่ขึ้นในป่ามีลักษณะคล้ายกันจนบางครั้งไม่สามารถแยกได้ว่าเป็นเห็ดที่กินได้หรือเห็ดพิษ และเมื่อกินเห็ดพิษเข้าไปจะมีอาการที่พบได้บ่อยๆ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ถ่ายเหลว เวียนศีรษะ หากไม่แน่ใจหรือสงสัยว่าเป็นเห็ดพิษไม่ควรนำมาปรุงอาหาร ควรเลือกเห็ดจากแหล่งที่มีการเพาะพันธุ์เพื่อความปลอดภัย และควรหลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ร่วมกับเห็ด

         นายแพทย์ทวีชัย วิษณุโยธิน ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา กล่าวว่า ช่วงนี้มีฝนตกลงมาหลายพื้นที่ ทำให้เห็ดหลายชนิดเจริญเติบโตได้ดี โดยเฉพาะเห็ดป่าในพื้นที่ธรรมชาติ ซึ่งมีทั้งเห็ดกินได้ และเห็ดพิษ เมื่อเห็ดอยู่ในระยะดอกตูม จะมีความคล้ายคลึงกันมาก อาจทำให้ประชาชนเข้าใจผิด และนำเห็ดพิษมาปรุงประกอบอาหารได้ สำหรับเห็ดพิษที่เป็นสาเหตุทำให้เสียชีวิตส่วนใหญ่ เช่น 1) เห็ดระโงกพิษ หรือบางที่เรียกว่าเห็ดระโงกหิน เห็ดระงาก เห็ดไข่ตายซาก ซึ่งเห็ดชนิดนี้คล้ายคลึงกับเห็ดระโงกขาว ที่กินได้ แต่มีลักษณะต่างกัน คือ เห็ดระโงกพิษ รอบขอบหมวกไม่มีรอยขีด ผิวก้านเรียบหรือมีขนเล็กน้อย ถุงหุ้มโคนรูปถ้วยแนบติดกับโคนก้าน เมื่อผ่าก้านดูจะมีลักษณะตัน 2) เห็ดถ่านเลือด มีลักษณะคล้ายกับเห็ดถ่านเล็กที่กินได้ ขนาดดอกจะเล็กกว่า และไม่มีน้ำยางสีแดงส้ม 3) เห็ดเมือกไครเหลือง ที่ประชาชนมักสับสนกับเห็ดขิง ซึ่งชนิดที่เป็นพิษจะมีเมือกปกคลุมและมีสีดอกเข้มกว่า 4) เห็ดหมวกจีน มีความคล้ายกับเห็ดโคนที่กินได้    เป็นต้น สำหรับวิธีทดสอบความเป็นพิษของเห็ดโดยภูมิปัญญาชาวบ้าน เช่น ต้มเห็ดพิษกับข้าวหรือหอมแดงแล้วจะทำให้ข้าวเปลี่ยนสี หรือจุ่มช้อนหรือตะเกียบเงินเครื่องเงินแล้วจะทำให้เงินเป็นสีดำนั้น ไม่เป็นความจริง โดยเฉพาะเห็ดระโงกพิษที่มีสารที่ทนต่อความร้อน แม้จะนำมาทำให้สุกแล้วก็ไม่สามารถทำลายพิษได้

         สถานการณ์โรคอาหารเป็นพิษจากเห็ด ในเขตสุขภาพที่ 9 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 13 พฤษภาคม 2566 พบผู้ป่วยโรคอาหารเป็นพิษจากเห็ด จำนวน 5 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต แยกเป็นรายจังหวัด ดังนี้ จังหวัดชัยภูมิ มีผู้ป่วย 3 ราย จังหวัดสุรินทร์ มีผู้ป่วย 2 ราย จังหวัดนครราชสีมา และจังหวัดบุรีรัมย์ ไม่มีรายงานผู้ป่วย กลุ่มอายุที่พบสูงสุดคือกลุ่มอายุ 5-9  ปี อัตราป่วย 0.24 ต่อประชากรแสนคน รองลงมาคือ กลุ่มอายุ  10 - 14  ปี อัตราป่วย 0.22 ต่อประชากรแสนคน กลุ่มอายุ 65  ปี ขึ้นไป อัตราป่วย 0.13 ต่อประชากรแสนคน และ กลุ่ม อายุ 55 -  64 ปี อัตราป่วย 0.13 ต่อประชากรแสนคน ตามลำดับ อาชีพที่พบผู้ป่วยสูงสุดคือคืออาชีพนักเรียน ร้อยละ 40 และอาชีพเกษตร ร้อยละ 40 รองลงมาคืออาชีพรับจ้าง ร้อยละ 20 ตามลำดับ        

         นายแพทย์ทวีชัย วิษณุโยธิน กล่าวต่อไปว่า ขอเน้นย้ำประชาชนว่า หากไม่แน่ใจ ไม่รู้จัก หรือสงสัยว่าจะเป็นเห็ดพิษ ไม่ควรเก็บหรือซื้อมาปรุงอาหาร ควรเลือกเห็ดจากแหล่งที่มีการเพาะพันธุ์เพื่อความปลอดภัย และควรหลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ร่วมกับเห็ด ไม่ควรล้วงคอ หรือกินไข่ขาวดิบเพื่อกระตุ้นให้อาเจียน เพราะอาจทำให้เกิดแผลในคอ และทำให้ผู้ป่วยท้องเสียเพิ่มขึ้นหรือติดเชื้อได้ ดังนั้น ให้รีบพาผู้ป่วยไปโรงพยาบาลทันที และแจ้งประวัติการกินเห็ดโดยละเอียด พร้อมนำตัวอย่างหรือภาพถ่ายเห็ดไปด้วย เพื่อรับการรักษาได้อย่างถูกวิธี สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422


ข่าวสารอื่นๆ