สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา
Responsive image

เตือน !!โรคไข้ปวดข้อยุงลาย โรคร้ายที่มากับหน้าฝน

         โรคไข้ปวดข้อยุงลาย หรือโรคชิคุนกุนยา เป็นโรคติดเชื้อที่มียุงลายเป็นพาหะนำโรค มีอาการคล้ายโรคไข้เลือดออก แต่ต่างกันที่อาการของผู้ป่วยจะไม่รุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิต โรคนี้มาจากภาษาสวาฮิลี ซึ่งเป็นภาษาท้องถิ่นของทวีปแอฟริกา หมายถึง เจ็บจนตัวงอ สะท้อนให้เห็นถึงอาการของผู้ป่วยที่เจ็บปวดตามข้อ ปวดข้อต่อ (ข้อนิ้ว ข้อเท้า เข่า) ปวดกระดูก โรคนี้ยังไม่มียารักษา แต่เป็นการรักษาตามอาการ ไม่ควรซื้อยาลดไข้ในกลุ่มแอสไพริน ไอบูโพรเฟน และไดโคลฟีแนคมารับประทาน ในการป้องกันโรคไข้ปวดข้อยุงลาย ใช้หลักการเดียวกันกับโรคไข้เลือดออก คือ เก็บบ้าน เก็บขยะ และเก็บน้ำ จะช่วยป้องกัน 3 โรคได้ในคราวเดียวกัน ได้แก่ โรคไข้เลือดออก โรคไข้ปวดข้อยุงลาย และโรคติดเชื้อไวรัสซิกา ทั้งนี้ขอให้ชุมชนรวมพลังจิตอาสาร่วมมือกันสำรวจและทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงไปพร้อมๆ กัน เพื่อกำจัดยุงลายให้หมดสิ้นไป

         นายแพทย์ทวีชัย วิษณุโยธิน ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา กล่าวถึงโรคไข้ปวดข้อยุงลาย หรือโรคชิคุนกุนยา โรคนี้มีอาการคล้ายกับโรคไข้เลือดออก แต่ต่างกันที่ไม่มีการรั่วของพลาสมาออกนอกเส้นเลือด จึงไม่พบผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงมากจนถึงมีการช็อก เมื่อผู้ป่วยถูกยุงลายที่มีเชื้อกัด ทำให้มีไข้สูงเฉียบพลัน ปวดศีรษะ หรือปวดกระบอกตา คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย มีผื่นแดงตามตัวแต่ไม่คัน และอาการที่สำคัญคือ ปวดข้อ ปวดกระดูก เมื่อมีอาการเหล่านี้ให้รีบไปพบแพทย์ ไม่ควรซื้อยากินเอง และขอแจ้งเตือนร้านยา คลินิกห้ามใช้ยากลุ่ม NSAIDS ได้แก่​ ยาไดโคลฟีแนค หรือยาที่คนทั่วไปรู้จักในชื่อทางการค้าว่า บูฟีแนค (Bufenac), ไดฟีลีน (Difelene), โดซาแนค (Dosanac) หรือโวลทาเรน อีมัลเจล (Voltaren emulgel) เป็นยาในกลุ่มยาแก้ปวดจำพวกเอ็นเสด (NSAIDs) ,ยาแอสไพลิน​ เป็นต้นเช่น แอสไพริน หรือไอบูโปรเฟน เพราะจะเพิ่มโอกาสให้เลือดออกตามเนื้อเยื่อต่างๆ ได้

         สถานการณ์โรคไข้ปวดข้อยุงลาย ในเขตสุขภาพที่ 9 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 31 พฤษภาคม 2566 พบผู้ป่วย 12 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต แยกเป็นรายจังหวัด ดังนี้ จังหวัดชัยภูมิ พบผู้ป่วย 5 ราย จังหวัดสุรินทร์ พบผู้ป่วย 5 ราย จังหวัดบุรีรัมย์ พบผู้ป่วย 2 ราย ส่วนจังหวัดนครราชสีมา ไม่มีรายงานผู้ป่วย กลุ่มอายุที่พบผู้ป่วยสะสมสูงที่สุด คือ 15-24 ปี รองลงมาคือ 25-34 ปี อาชีพที่พบผู้ป่วยมากที่สุด คือ นักเรียน รองลงมาคือ อาชีพรับจ้าง ค้าขาย เกษตรกร และข้าราชการ

         นายแพทย์ทวีชัย วิษณุโยธิน กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันยังไม่มียารักษาโรคไข้ปวดข้อยุงลาย แต่เป็นการรักษาตามอาการ ดังนั้น จึงต้องช่วยกันทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุง และป้องกันตนเองไม่ให้ถูกยุงกัด โดย สวมเสื้อผ้าสีอ่อน แขนยาว ขายาว ป้องกันยุงกัดเมื่อออกจากบ้านหรือทายากันยุง นอนกางมุ้งแม้ในเวลากลางวัน หรือใช้มุ้งชุบสารเคมี ให้ผู้ป่วยทายาป้องกันยุง เพื่อป้องกันไม่ให้ยุงกัดแล้วไปแพร่เชื้อต่อไป ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุง เช่น แก้ว พลาสติก ขวดน้ำ ยางรถยนต์ กะลามะพร้าว เป็นต้น เปลี่ยนและทำความสะอาดที่ขอบผิวภาชนะเหนือผิวน้ำที่อาจจะมีไข่ยุง ใส่ทรายกำจัดลูกน้ำลงในภาชนะที่มีน้ำขังที่ไม่สามารถเปลี่ยนน้ำได้ โดยยึดหลัก “3 เก็บป้องกัน 3 โรค” คือ 1.เก็บบ้าน ให้สะอาด เพื่อไม่ให้มีมุมอับทึบเป็นที่เกาะพักของยุง  2.เก็บขยะ บริเวณรอบบ้าน เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง 3.เก็บน้ำ ภาชนะที่ใส่น้ำเพื่ออุปโภค บริโภคต้องปิดฝาให้มิดชิด ล้างคว่ำภาชนะใส่น้ำ และเปลี่ยนน้ำในกระถางหรือแจกันทุกสัปดาห์ เพื่อช่วยป้องกัน 3 โรค คือโรคไข้เลือดออก โรคไข้ปวดข้อยุงลาย และโรคติดเชื้อไวรัสซิกา ขอให้ชุมชนรวมพลังจิตอาสาร่วมมือร่วมใจกันสำรวจและทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงไปพร้อมๆ กันเพื่อกำจัดยุงลายให้หมดสิ้นไปจากชุมชน หากมีข้อสงสัย สอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422


ข่าวสารอื่นๆ