สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา
Responsive image

นักเรียนป่วยเป็นไข้เลือดออกเพิ่มขึ้น สคร.9 ขอความร่วมมือสถานศึกษา เร่งกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงทุกสัปดาห์

         สคร.9 นครราชสีมา เตือนเฝ้าระวังโรคไข้เลือดออก และในปีนี้คาดการณ์ว่าโรคไข้เลือดออกจะกลับมาระบาดอีกครั้งตามวงรอบของปีที่จะระบาด ซึ่งขณะนี้ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเด็กนักเรียน พร้อมขอความร่วมมือประชาชนและสถานศึกษาช่วยกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุง ปรับปรุงสิ่งแวดล้อมให้ปลอดโปร่ง ไม่ให้เป็นที่เกาะพักของยุง เมื่อป่วยเป็นไข้เลือดออก ไม่ควรซื้อยาลดไข้ในกลุ่มแอสไพริน ไอบูโพรเฟน และไดโคลฟีแนคมารับประทาน ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจรักษาอย่างถูกต้องและรวดเร็ว ช่วยลดโอกาสการเสียชีวิตได้

         นายแพทย์ทวีชัย วิษณุโยธิน ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา กล่าวว่า  กรมควบคุมโรค ได้คาดการณ์ว่าโรคไข้เลือดออกจะกลับมาระบาดอีกครั้งในปีนี้ตามวงรอบของปีที่จะระบาด ซึ่งในขณะนี้ผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเด็กวัยเรียน จึงขอความร่วมมือสถานศึกษาทั่วประเทศ ช่วยกันทำความสะอาดโรงเรียน จัดการขยะ เก็บกวาดเศษใบไม้ทำให้สิ่งแวดล้อมปลอดโปร่ง พร้อมทั้งสำรวจและกำจัดแหล่งวางไข่ยุงลายในโรงเรียนทุกสัปดาห์

         ลักษณะอาการของโรคไข้เลือดออก คือ มีไข้สูงเฉียบพลัน และสูงลอยประมาณ 2-7 วัน ร่วมกับปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว หน้าแดง อาจมีจุดแดงเล็กๆ ขึ้นตามลำตัว แขน ขา อาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง และเบื่ออาหาร ส่วนใหญ่ไม่ไอ ไม่มีน้ำมูก ต่อมาไข้จะลดลง ในระยะนี้ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะอาจเกิดภาวะช็อกและเสียชีวิตได้ จึงขอให้ประชาชนสังเกตอาการป่วยของคนในครอบครัว หากมีไข้สูงลอยเกิน 2 วัน และเช็ดตัวหรือกินยาลดไข้แล้วไข้ไม่ลดลง ขอให้คิดว่าอาจป่วยด้วยโรคไข้เลือดออก และไม่ควรซื้อยารับประทานเองโดยเฉพาะยาในกลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) เช่น ไอบูโพรเฟน ไดโครฟีแนก แอสไพริน รวมถึงยาชุด ซึ่งมีผลทำให้เลือดออกในทางเดินอาหารได้ง่ายและยากต่อการรักษา ทำให้เสี่ยงต่อการเสียชีวิต ให้รีบพาผู้ป่วยไปพบแพทย์หรือสถานบริการสาธารณสุขที่อยู่ใกล้บ้าน

         สถานการณ์โรคไข้เลือดออกในประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 31 พฤษภาคม 2566 พบผู้ป่วยสะสม จำนวน 18,173 ราย มีผู้เสียชีวิต 15 ราย

         สถานการณ์โรคไข้เลือดออกในเขตสุขภาพที่ 9 ในสัปดาห์ที่ 22 คือ ระหว่างวันที่ 28 พฤษภาคม – 3 มิถุนายน 2566 พบผู้ป่วยสะสมจำนวน 492 ราย มีผู้เสียชีวิต 1 ราย แยกเป็นรายจังหวัด ดังนี้ จังหวัดนครราชสีมา พบผู้ป่วย 182 ราย จังหวัดสุรินทร์ พบผู้ป่วย 167 ราย จังหวัดชัยภูมิ พบผู้ป่วย 83 ราย และจังหวัดบุรีรัมย์ พบผู้ป่วย 60 ราย กลุ่มอายุที่ป่วยมากที่สุดคือ กลุ่มอายุ 10-14 ปี รองลงมาคือ 5-9 ปี และกลุ่มอายุ 15-24 ปี ส่วนปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เสียชีวิต คือ อยู่ในวัยผู้ใหญ่ (45-54 ปี) มีโรคประจำตัว และมีประวัติดื่มสุรา

         นายแพทย์ทวีชัย วิษณุโยธิน กล่าวต่อไปว่า ขอแนะนำให้นักเรียนป้องกันตนเองไม่ให้ถูกยุงกัด โดยทายากันยุงก่อนไปโรงเรียน นอนในมุ้ง ช่วยกำจัดแหล่งวางไข่ยุงลายรอบบ้าน       ใส่ทรายกำจัดลูกน้ำในภาชนะที่มีน้ำขัง หรือใช้ทรายกำจัดลูกน้ำบริเวณน้ำขัง และที่สำคัญต้องไม่สร้างแหล่งวางไข่ยุงลายเพิ่มขึ้น โดยขอให้ยึดหลัก 3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค” คือ เก็บบ้านให้สะอาด ปรับปรุงสิ่งแวดล้อมในบ้านและรอบบ้าน ให้มีความเป็นระเบียบ ไม่ให้มีมุมอับทึบเป็นที่เกาะพักของยุง  เก็บขยะ บริเวณรอบบ้านไม่ให้เป็นแหล่งวางไข่ยุงลาย และ เก็บน้ำ โดยปิดฝาภาชนะที่ใส่น้ำให้มิดชิด เปลี่ยนน้ำในแจกันทุกสัปดาห์ พร้อมทั้งขัดขอบภาชนะ เพื่อกำจัดไข่ยุงลาย ทำให้สามารถป้องกันโรคติดต่อนำโดยยุงลายได้ทั้ง 3 โรค คือ โรคไข้เลือดออก โรคติดเชื้อไวรัสซิกา และโรคไข้ปวดข้อยุงลาย ทั้งนี้ขอให้ชุมชนรวมพลังจิตอาสาร่วมมือกันสำรวจและทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงไปพร้อมๆ กัน เพื่อกำจัดยุงลายให้หมดสิ้นไป สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422


ข่าวสารอื่นๆ