สำนักงานความร่วมมือระหว่างประเทศ
Responsive image

WHO เเถลงโรคโควิด 19 ... ขณะนี้ ไม่ถือว่าเป็นภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขระหว่างประเทศ (PHEIC) อีกต่อไป

ประกาศขององค์การอนามัยโลก จากผลการประชุมครั้งที่ 15 ของคณะกรรมการฉุกเฉินตามกฎอนามัยระหว่างประเทศ (2005) เรื่องการระบาดใหญ่ของโรคโควิด 19

 

ถอดความจาก https://www.who.int/news/item/05-05-2023-statement-on-the-fifteenth-meeting-of-the-international-health-regulations-(2005)-emergency-committee-regarding-the-coronavirus-disease-(covid-19)-pandemic

แปลโดย สำนักงานความร่วมมือระหว่างประเทศ กรมควบคุมโรค

 

ผู้อำนวยการ​องค์การ​อนามัยโลกมีความยินดีที่จะแจ้งรายงานการประชุมครั้งที่ 15 ของคณะกรรมการฉุกเฉินตามกฎอนามัยระหว่างประเทศ  (2005) เรื่องการระบาดใหญ่ของโรคโควิด 19 ที่เกิดจากไวรัสโคโรนา 2019 ซึ่งจัดขึ้นวันพฤหัสบดีที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2566 ตั้งแต่เวลา 12:00 ถึง 17:00 น. ของโซนเวลายุโรปกลาง

ในช่วงการประชุมเฉพาะคณะกรรมการฯ กรรมการส่วนใหญ่ได้ให้ข้อสังเกตถึงแนวโน้มการลดลงของการเสียชีวิตจากโรคโควิด 19 การลดลงของผู้ป่วยโควิด-19 ที่เข้ารักษาในโรงพยาบาล และในหอผู้ป่วยหนัก รวมถึงข้อสังเกตว่าประชากรของโลกที่มีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 มีสัดส่วนสูงมากขึ้น ในระยะหลายเดือนที่ผ่านมา คณะกรรมการได้มีการปรับเแนวความคิดต่อการจัดการโควิด-19 ให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์​  แม้ว่าเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 จะมีวิวัฒนาการอย่างต่อเนื่อง  และข้อมูลความรู้เกี่ยวกับโรคนี้จะยังมีความเปลี่ยนแปลงต่อไปได้อีก แต่คณะกรรมการได้ให้คำแนะนำว่า ช่วงเวลานี้เป็นเวลาที่สมควรจะปรับการจัดการการระบาดของโรคโควิด 19 ให้เปลี่ยนผ่านไปสู่การจัดการแบบระยะยาว

ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกเห็นพ้องกับคำแนะนำของคณะกรรมการฯ  และพิจารณาเห็นว่าในขณะนี้การระบาดของโรคโควิด 19 ได้เปลี่ยนสภาพเป็นปัญหาด้านสุขภาพที่จะดำเนินต่อเนื่องไปในระยะยาว ดังนั้น จึงไม่ถือว่าเป็นภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขระหว่างประเทศ (Public Health Emergency of International Concern: PHEIC) อีกต่อไป

ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกได้พิจารณาและเห็นด้วยกับข้อเสนอของคณะกรรมการฯ  เกี่ยวกับข้อแนะนำชั่วคราว (Temporary Recommendations) ขององค์การอนามัยโลก  จึงขอออกประกาศข้อแนะนำชั่วคราวดังกล่าว มาตามปรากฏด้านล่างนี้ และผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกจะจัดการประชุมคณะกรรมการทบทวน ตามกฎอนามัยระหว่างประเทศ (IHR Review Committee)  เพื่อให้คำเเนะนำเกี่ยวกับแนวทางจัดการกับการระบาดใหญ่ของเชื้อ SARS-CoV-2 ในระยะยาว โดยให้สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์เตรียมความพร้อมและการตอบโต้โรคโควิด-19 พ.ศ. 2566-2568 ในช่วงการเปลี่ยนผ่านนี้ องค์การอนามัยโลกขอแนะนำให้ประเทศสมาชิกปฏิบัติตามข้อแนะนำชั่วคราว โดยเคร่งครัด  นอกจากนี้ ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกยังได้กล่าวขอบคุณเป็นอย่างสูงต่อประธาน สมาชิก และที่ปรึกษาของคณะกรรมการฯ  สำหรับความมุ่งมั่นและการให้คำแนะนำต่อองค์การอนามัยโลก ตลอดระยะเวลาสามปีที่ผ่านมา

 

===

 

รายงานการประชุมทางวิชาการ

Dr Tedros Adhanom Ghebreyesus ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก กล่าวต้อนรับสมาชิกและที่ปรึกษาคณะกรรรมการฉุกเฉิน ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการจัดการประชุมในรูปแบบ VDO Conference  โดย Dr Tedros ได้รับทราบว่าจำนวนผู้เสียชีวิต และการเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลในแต่ละสัปดาห์มีจำนวนที่ลดน้อยลงอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ยังได้แสดงความห่วงใยต่อการรายงานด้านการเฝ้าระวังโรค ที่ส่งมายังองค์การอนามัยโลกมีจำนวนลดน้อยลงอย่างมีนัยยะสำคัญ ซึ่งอาจเป็นผลมากจากการเข้าถึงที่ไม่เท่าเทียมในมาตรการการช่วยชีวิตและบริการทางด้านสาธารณสุข รวมถึงความเหนื่อยล้าจากภาระการตอบโต้การระบาดของโรค ที่ยังคงเพิ่มมากขึ้น    Dr. Tedros แจ้งว่าองค์การอนามัยโลกเพิ่งตีพิมพ์แผนยุทธศาสตร์การเตรียมความพร้อมและการตอบสนองต่อโรคโควิด 19 พ.ศ. 2566-2568 ซึ่งแผนดังกล่าวนี้แนะนำแนวทางการดำเนินงานที่สำคัญสำหรับประเทศสมาชืก โดยมุ่งเน้นงานที่สำคัญ 5 ด้าน ประกอบด้วย การเฝ้าระวังด้วยความร่วมมือหลายภาคส่วน  การปกป้องชุมชน การรักษาดูแลอย่างปลอดภัย การเข้าถึง บริการทางด้านสาธารณสุข และการประสานงานในสถานการณ์ฉุกเฉิน ขณะเดียวกัน  Dr. Tedros  กล่าวขอบคุณ ศาสตราจารย์ Houssin ซึ่งเป็นประธานคณะกรรมการฉุกเฉินตามกฎอนามัยระหว่างประเทศ  ในความเป็นผู้นำของท่าน ซึ่งได้ช่วยขับเคลื่อนคณะกรรมการตลอดช่วง 3 ปีที่ผ่านมา และขอบคุณคณะกรรมการและที่ปรึกษาสำหรับความเชี่ยวชาญ ความมุ่งมั่น  และการอุทิศตนเพื่องานตลอดมา

ผู้แทนจากสำนักสภากฎหมาย สรุปสาระสำคัญเกี่ยวกับบทบาท หน้าที่ความรับผิดชอบ และข้อระเบียบของกฎอนามัยระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องแก่คณะกรรมการและที่ปรึกษา ขณะที่เจ้าหน้าที่จริยธรรมและเจ้าหน้าที่ด้านการจัดการความเสี่ยง และคณะกรรมการจริยธรรม ชี้แจงให้ข้อมูลแก่คณะกรรมการและที่ปรึกษาถึงบทบาทหน้าที่ในระหว่างการประชุมหารือและระหว่างการทำงานร่วมกับคณะกรรมการขององค์การอนามัยโลก โดยเจ้าหน้าที่ดังกล่าวนั้นจะดูแลกรณีที่อาจมีประเด็นผลประโยชน์ทับซ้อน (Conflict of Interest) ทั้งในแง่ของความเป็นส่วนตัว วิชาชีพ งบประมาน ทรัพย์สินทางปัญญาและการค้า ซึ่งในระยะที่ผ่านมายังไม่พบประเด็นดังกล่าวระหว่างกรรมการและที่ปรึกษา

ศาสตราจารย์ Houssin ประธานคณะกรรมการทางด้านภาวะฉุกเฉิน ชี้แจงวัตถุประสงค์ของการประชุม คือ เพื่อให้ข้อมูลและมุมมองแก่ผู้อำนวยการใหญ่ขององค์การอนามัยโลก  ว่าการแพร่ระบาดของโควิด 19 นั้นยังควรจะเป็นภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขระหว่างประเทศอยู่หรือไม่ พร้อมทั้ง ทบทวนข้อแนะนำชั่วคราว ที่ให้ไว้แก่ประเทศสมาชิกฯ

ขณะที่การประเมินความเสี่ยงระดับโลก  ว่าโควิด-19 ยังคงมีความเสี่ยงอยู่ในระดับสูง  แต่มีหลักฐานที่ชี้ว่าความเสี่ยงต่อสุขภาพมนุษย์มีแนวโน้มลดลง อันเป็นผลมาจากประชากรที่มีภูมิคุ้มกัน มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น
ทั้งจากการติดเชื้อ วัคซีน หรือทั้งสองอย่างร่วมกัน  ความรุนแรงที่น้อยลงของเชื้อโควิดสายพันธุ์ที่แพร่หลายในปัจจุบัน เมื่อเทียบกับสายพันธุ์ก่อน และการดูแลรักษาผู้ป่วยที่พัฒนามากขึ้น สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยที่ทำให้จำนวนผู้เสียชีวิต ผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล และผู้ป่วยหนักฉุกเฉินทั่วโลกรายสัปดาห์  ลดน้อยลง ประกอบกับเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 นั้นมีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง  ซึ่งสายพันธุ์ที่แพร่อยู่ในปัจจุบันไม่ก่อให้เกิดอาการรุนแรงที่เพิ่มมากขึ้น

องค์การอนามัยโลกทบทวนข้อมูลเกี่ยวกับสถานะการให้วัคซีนทั่วโลก และพิจารณาความเป็นไปได้ที่จะยกเลิกภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขระหว่างประเทศ คณะกรรมการฯ ได้รับการรายงานว่า ปัจจุบัน ทั่วโลกมีการให้วัคซีนโควิด-19 จำนวน 13.3 พันล้านโด๊ส โดยร้อยละ 89  ของบุคลากรสาธารณสุข และร้อยละ 82 ของผู้สูงวัยที่อายุมากกว่า 60 ปี ได้รับวัคซีนอย่างน้อยในขั้นพื้นฐาน (1-2 โดส ตามคำแนะนำของแต่ละประเทศ)  อย่างไรก็ตาม ความครอบคลุมของการได้รับวัคซีน ยังมีความแตกต่างกันอย่างมากระหว่างภูมิภาคของโลก

ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก ได้ให้ข้อมูลต่อคณะกรรมการฯ  เรื่องความคืบหน้าของการบูรณาการการเฝ้าระวังโควิดเข้ากับระบบเฝ้าระวังและตอบโต้ไข้หวัดใหญ่ระดับโลก (GISRS) พร้อมทั้งแนวทางการพัฒนาในระยะต่อไป  เรื่องแนวทางขององค์การอนามัยโลกที่จะออกข้อแนะต่อเนื่อง (Standing Recommendations) ภายใต้กฎอนามัยระหว่างประเทศ เพื่อจัดการปัญหาโควิด-19 ในระยะยาว  และเรื่องการขึ้นบัญชีเวชภัณฑ์ที่อนุญาตให้ใช้ในกรณีฉุกเฉิน (Emergency Use Listed: EUL) โดยองค์การอนามัยโลก ซึ่งอาจได้รับผลกระทบจากการยกเลิกภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขระหว่างประเทศ  ในกรณีนี้ ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลกแจ้งว่าจะยังมีอำนาจในการอนุมัติใช้ EUL ดังนั้นการยกเลิกภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขระหว่างประเทศจะไม่ส่งผลต่อการเข้าถึงวัคซีนและชุดตรวจวินัจฉัยโรค ซึ่งเคยได้รับอนุมัติภายใต้กระบวนการ EUL ไว้แล้ว  ดังนั้น ประเทศสมาชิกจะยังคงสามารถเข้าถึงวัคซีน และชุดตรวจวินิจฉัยต่างๆ (บริษัทผู้ผลิตยังสามารถผลิตต่อไป) ขณะที่ COVAX จะยังคงจัดหาและการกระจายวัคซีนที่ได้รับงบประมาณสนับสนุนไว้แล้ว ตามความต้องการตลอดปี พ.ศ. 2566  การดำเนินงานตามแนวดังกล่าว จะช่วยให้การขึ้นทะเบียนรับรองวัคซีนและชุดตรวจวินิจฉัยมีการเปลี่ยนผ่านที่ราบรื่นจากกระบวนการ EUL ไปสู่กระบวนการแบบปกติ (Prequalification) ขององค์การอนามัยโลกในระยะต่อไป    อนึ่ง ยาส่วนมากที่ใช้ในการรักษาโควิดในปัจจุบันนั้น โดยมากเป็นยาที่ได้รับการขึ้นทะเบียนไว้แล้วเพียงแต่มีการปรับเปลี่ยนวัตถุประสงค์การใช้ (ให้ใช้รักษาโควิด-19 ได้ด้วย)  ดังนั้น การยกเลิกภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขระหว่างประเทศ  จะไม่ส่งผลต่อการรับรองการใช้ยาเหล่านั้น

 

การประชุมเฉพาะคณะกรรมการฯ  เพื่อพิจารณาการประกาศเป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ

คณะกรรมการฯ พิจารณาเกณฑ์ทั้งสามของการประกาศเป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศว่าโรคโควิด 19 ได้แก่ 1) เป็นเหตุการณ์ผิดปกติ 2) มีความเสี่ยงด้านสาธารณสุขต่อประเทศอื่น ๆ ผ่านการเดินทางติดต่อระหว่างประเทศ และ 3) อาจจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อควบคุมการระบาด

 คณะกรรมการฯ ได้หารือเกี่ยวกับสถานการณ์ปัจจุบันของการระบาดใหญ่โควิด 19 และเห็นว่า ถึงแม้ว่าเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 จะมีการแพร่กระจายอย่างกว้างขวาง และยังมีการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นที่รับรู้และเข้าใจกันอยู่ทั่วไป ไม่ควรนับว่าเป็นเหตุการณ์ผิดปกติหรือเกินความคาดหมายต่อไป เเละคณะกรรมการตระหนักว่า ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลกอาจตัดสินใจ ให้มีการประชุมของคณะกรรมการฉุกเฉินตามกฎอนามัยระหว่างประเทศ  ขึ้นอีกได้ในอนาคต  หากเกิดสถานการณ์ที่เห็นว่ามีความจำเป็น 

การประกาศให้โรคโควิด-19 เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศได้กระตุ้นให้ประเทศต่าง ๆ เพิ่มขีดความสามารถในการทำงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการประสานงานในสถานการณ์ฉุกเฉิน การเฝ้าระวังร่วมกัน การดูแลรักษาผู้ป่วย การสื่อสารความเสี่ยงและการมีส่วนร่วมของชุมชน

โลกได้มีความก้าวหน้าอย่างมีนัยสำคัญและน่าประทับใจ นับตั้งแต่มีการประกาศภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศในเดือนมกราคม พ.ศ. 2563 การที่พวกเรามาถึงจุดที่โรคโควิด 19 จะถูกพิจารณาให้ไม่เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศอีกต่อไป นับเป็นอานิสสงส์ของความร่วมมือระหว่างประเทศ และความมุ่งมั่นต่อสุขภาพโลกที่มีร่วมกัน เช่นเดียวกันกับในการประชุมครั้งที่ผ่านมา คณะกรรมการได้พิจารณาอย่างรอบคอบถึงผลประโยชน์และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการคงไว้ซึ่งภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ   แม้การประกาศเป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศจะเป็นเครื่องมืออันสำคัญยิ่งต่อการสร้างความร่วมมือของโลกต่อการจัดการโรคโควิด 19 แต่คณะกรรมการฯเห็นพ้องกันว่าถึงเวลาที่เหมาะสมแล้วที่จะเปลี่ยนผ่านเข้าสู่การจัดการโควิด-19 แบบปัญหาทางสาธารณสุขที่ต่อเนื่องในระยะยาว

 

เพื่อการดำเนินงานระยะต่อไป คณะกรรมการฯ เสนอแนะให้ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก พิจารณาเรียกประชุมคณะกรรมการทบทวน ตามกฎอนามัยระหว่างประเทศ  เพื่อให้ข้อแนะนำสำหรับการจัดการในระยะยาวต่อความเสี่ยงและปัญหาโควิด-19 (จากไวรัส SARS-CoV-2)  โดยสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์การเตรียมความพร้อมและการตอบสนองต่อโรคโควิด 19 พ.ศ. 2566-2568 ในขณะเดียวกัน คณะกรรมการฯตระหนักว่า ขณะนี้ประเทศสมาชิกกำลังพิจารณาเรื่องต่างๆที่เกี่ยวข้อง เช่น ข้อตกลงความร่วมมือในการป้องกันการ การเตรียมพร้อม และการตอบโต้การระบาดใหญ่ (PPPR Accordss) หารือเกี่ยวกับการแก้ไขกฎอนามัยระหว่างประเทศ  และพิจารณาข้อเสนอสิบประการเพื่อสร้างโลกที่ปลอดภัยขึ้นร่วมกัน  โดยการเสริมสร้างสถาปัตยกรรมระดับโลกสำหรับการเตรียมพร้อมในภาวะฉุกเฉินด้านสุขภาพ การตอบสนอง และการกลับสู่สภาพเดิม (Health Emergency Preparedness, Response, and Resilience: HEPR)

 

คณะกรรมการฯ ขอบคุณทีมงานเลขานุการขององค์การอนามัยโลก และรัฐภาคีต่อการสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง และเน้นย้ำว่าไม่สมควรที่จะหยุดการทำงาน หรือยกเลิกระบบระบบงานที่ได้สร้างขึ้น คณะกรรมการฯชี้ว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่งยวดที่จะต้องปิดช่องว่างต่างๆที่พบในระหว่างการควบคุมการแพร่ระบาดที่ผ่านมา พร้อมเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการเสริมสร้างระบบสุขภาพ สื่อสารความเสี่ยงอย่างต่อเนื่องและส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชน ใช้แนวคิดการทำงานสุขภาพหนึ่งเดียว หรือ One Health เพื่อเตรียมความพร้อมและตอบโต้ ผนวกเเละควบรวมการเฝ้าระวังและการตอบสนองโรคโควิด 19 เข้ากับระบบปกติ คณะกรรมการฯ สนับสนุนให้องค์การอนามัยโลก หน่วยงานที่มีส่วนร่วม และรัฐภาคีที่เกี่ยวข้องให้ความสำคัญ เเละสนับสนุนทรัพยากรเพื่อเตรียมความพร้อมและการกลับคืนสู่สภาพเดิม ในการรับมือกับภัยคุกคามที่อาจเกิดขึ่นในอนาคต

 

ผู้อำนวยการใหญ่ขององค์การอนามัยโลกได้ประกาศข้อแนะนำชั่วคราวต่อรัฐภาคี ดังนี้

  1. รักษาขีดความสามารถของประเทศที่ได้สร้างขึ้นไว้  และเตรียมพร้อมสำหรับเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต  เพื่อหลีกเลี่ยงผลเสียจากการเกิดวงจรของภาวะความตื่นตระหนกสลับกับการละเลย  (Cycle of panic and neglect) ต่อภาวะฉุกเฉิน ประเทศควรหาช่องทางพัฒนาความพร้อมรับมมือการระบาดในอนาคต และเพื่อให้สอดคล้องกับคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก รัฐภาคีควรปรับปรุงแผนการเตรียมความพร้อมสำหรับการระบาดใหญ่ของเชื้อก่อโรคระบบทางเดินหายใจ โดยประยุกต์บทเรียนจากประสบการณ์ทำงาน ทั้งในระดับประเทศและระดับท้องถิ่น  และควรฟื้นฟูโครงสร้างและบริการสุขภาพที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 
  2. บูรณาการการให้วัคซีนโควิด 19 เข้าในแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคพื้นฐาน ประเทศควรเพิ่มความครอบคลุมของการฉีดวัคซีนโควิด 19 สำหรับทุกกลุ่มเป้าหมายหลัก (ตามที่แนะนำใน SAGE Roadmap เดือนเมษายน 2566) และพยายามแก้ไขปัญหาการยอมรับวัคซีนของประชาชน
  3. บูรณาการข้อมูลการเฝ้าระวังโรค คติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ จากแหล่งข้อมูลและฐานข้อมูลต่างๆ  เพื่อให้รู้สถานการณ์ในประเทศอย่างถูกต้องและรวดเร็ว ประเทศควรคงการรายงานข้อมูลการตายการป่วย รวมทั้งข้อมูลการเฝ้าระวังสายพันธุ์ของเชื้อไวรัส ต่อองค์การอนามัยโลก ควรพัฒนาการเฝ้าระวังโดยเชื่อมโยงการเฝ้าระวังหลากหลายระบบที่เหมาะสม เช่น การเฝ้าระวังประจำพื้นที่ (sentinel surveillance) การเฝ้าระวังเหตุการณ์ (Even-based surveillance)  การเฝ้าระวังเชื้อในน้ำทิ้ง (wastewater surveillance)  การเฝ้าระวังระดับภูมิคุ้มกันต่อการติดเชื้อ (Sero-surveiilance)  และการเฝ้าระวังในสัตว์ที่มีความเสี่ยงต่อเชื้อ SARS-COV-2  ประเทศควรใช้ประโยชน์จากข้อมูล Global Influenza Surveillance and Response System (GISRS) และให้ความร่วมมือในการเฝ้าระวังตามระบบ WHO Global Coronavirus Laboratory Network (CoViNet)
  4. เตรียมพร้อมสำหรับการขึ้นทะเบียน รับรองการใช้เวชภัณฑ์ที่จำเป็น ภายใต้ระบบการทำงาน กฎหมายและระเบียบของประเทศ เพื่อให้สามารถจัดหามาใช้ได้เพียงพอและทันเวลา เมื่อมีความจำเป็น ประเทศควรเสริมสร้างความเข้มแข็งแก่หน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ดังกล่าว   เพื่อให้กำกับดูแลการขึ้นทะเบียนรับรองการใช้วัคซีน ชุดตรวจวินิจฉัยโรค และยาที่จำเป็น ได้อย่างมีประสิทธิภาพในระยะยาว
  5. คงการส่งเสริมการทำงานร่วมกับชุมชนและผู้นำชุมชน เพื่อให้สามารถสื่อสารกับประชาชน และสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชน ได้อย่างเข้มแข็ง ครอบคลุม และคล่องตัว รวมถึงการเสริมสร้างแผนงานและ เครื่องมือการจัดการข่าวสาร ข่าวลือ ข่าวลวง (infodemic) ควรปรับใช้แนวทางการสื่อสารความเสี่ยงโดยมีชุมชนเป็นส่วนร่วมและกลยุทธ์การจัดการข้อมูลข่าวสาร เเละพัฒนายุทธศาสตร์และมาตรการโดยสอดคล้องกับบริบทของท้องถิ่น
  6. ยกเลิกมาตรการที่เป็นข้อจำกัดต่อการเดินทางระหว่างประเทศ ที่ได้ใช้ในช่วงการระบาดของโรคโควิด 19 โดยพิจารณาตามการประเมินความเสี่ยง และไม่ควรกำหนดให้แสดงหลักฐานการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 เป็นเงื่อนไขการอนุญาตเข้าประเทศ 
  7. คงการสนับสนุนการวิจัย  เพื่อพัฒนาวัคซีน สำหรับป้องกันลดการแพร่เชื้อ และสามารถใช้ในวงกว้าง เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเพิ่มเติมเกี่ยวกับโรคโควิด-19 ในมิติต่างๆ รวมทั้งอุบัติการณ์ สภาวะหลังการป่วยด้วยโรคโควิด 19 และวิวัฒนาการของเชื้อไวรัส SARS-COV-2 ในประชากรที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง  และเพื่อใช้ในการพัฒนาแนวทางการดูแลรักษาอย่างบูรณาการ

ข่าวสารอื่นๆ