Responsive image

สคร.12 สงขลา ชวนนำสัตว์เลี้ยงฉีดวัคซีน ในวันป้องกัน โรคพิษสุนัขบ้าโลก ย้ำ โรคพิษสุนัขบ้า ติดเชื้อถึงตาย ป้องกันได้ด้วยวัคซีน

      สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา เชิญชวนประชาชนนำสัตว์เลี้ยงไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า เนื่องในวันป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าโลก 28 กันยายน ของทุกปี ย้ำ โรคพิษสุนัขบ้า เมื่อแสดงอาการแล้ว ตาย 100% ไม่มียารักษาแต่ป้องกันได้ ด้วยการฉีดวัคซีน เมื่อถูกกัดแล้ว อย่าชะล่าใจ ให้ไปพบแพทย์ทันที

      โรคพิษสุนัขบ้า หรือ “โรคเรบีส์ (Rabies)” ไม่ได้เกิดเพียงแค่ในสุนัขเท่านั้น แต่เกิดได้ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิด เช่น สุนัข แมว หนู กระรอก กระต่าย โค ลิง เป็นต้น รวมถึงมนุษย์ด้วย โดยชนิดสัตว์ที่พบมากที่สุด คือ สุนัข โรคพิษสุนัขบ้า พบได้เกือบทุกจังหวัดของประเทศ และพบได้ทุกฤดู ไม่ใช่แค่หน้าร้อน เป็นโรคที่ติดต่อจากการถูกสัตว์ที่ติดเชื้อ กัด เลีย ข่วน หรือโดนบาดแผล / เยื่อเมือก เช่น เยื่อบุตา ช่องปาก หรือสัมผัสกับน้ำลายของสัตว์ที่มีเชื้อพิษสุนัขบ้า ซึ่งส่วนใหญ่เมื่อได้รับเชื้อแล้วจะมีอาการหลังจากรับเชื้อ 15 – 60 วัน บางรายอาจน้อยกว่า 10 วัน หรือนานเป็นปี อาการเริ่มแรกของผู้ป่วย คือปวดศีรษะ   มีไข้ต่ำๆ เจ็บคอ เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย ต่อมามีอาการคัน มักเริ่มจากบริเวณแผลที่ถูกกัด แสบๆ ร้อนๆ แล้วลามไปส่วนอื่น  นอกจากนี้จะมีอาการกระสับกระส่าย กลัวแสงกลัวลม ไม่ชอบเสียงดัง มีอาการกลืนลำบาก ทำให้ไม่อยากดื่มน้ำ มีอาการกลัวน้ำ แน่นหน้าอก หายใจไม่ออกหรืออาจชักเกร็ง อัมพาต หมดสติ และเสียชีวิตภายใน 2 – 7 วันนับจากวันเริ่มแสดงอาการ

      นายแพทย์เฉลิมพล  โอสถพรมมา รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา กล่าวถึงอาการในสัตว์ที่ติดเชื้อ ว่ามี 2 แบบ คือ แบบเซื่องซึม จะมีไข้ ซึม นอนซม ไม่กินอาหาร น้ำ ชอบอยู่ในที่มืด/เงียบ อาจมีอาการไอ ใช้ขาตะกุยคอ ต่อมาจะเดินโงนเงน เป็นอัมพาตทั้งตัว และมักตายภายใน 10 วัน ส่วนแบบดุร้าย จะมีอาการกระวนกระวาย วิ่งพล่าน ดุร้าย กัดทุกสิ่งที่ขวางหน้า ลิ้นห้อย น้ำลายยืด ต่อมาจะขาอ่อนเปลี้ย สุดท้ายอาจมีอาการชัก หรืออัมพาต และตายในที่สุด แต่ทั้ง 2 กลุ่มอาการสุนัขจะกลืนน้ำและอาหารไม่ได้ (แม้ว่าอยากกินก็ตาม) และจะตายภายใน 10 วัน

      เนื่องในวันป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าโลก ปี 2562 ภายใต้ประเด็นสื่อสาร “Vaccinate to Eliminate โรคพิษสุนัขบ้า ติดเชื้อถึงตาย ป้องกันได้ด้วยวัคซีน” สคร.12 สงขลา จึงขอเชิญชวนให้พี่น้องประชาชนนำสุนัข แมว ไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าครั้งแรกเมื่ออายุ 2-4 เดือน หลังจากนั้น 1 เดือน กระตุ้นซ้ำอีก 1 ครั้ง (ฉีดวัคซีน 2 เข็มแรกในปีแรก) จากนั้นฉีดกระตุ้น 1 เข็มซ้ำทุก ๆ ปีตลอดชีวิต นายแพทย์เฉลิมพล กล่าวเพิ่มเติม

      สำหรับเจ้าของสัตว์เลี้ยงนั้น ไม่ควรปล่อยสัตว์เลี้ยงออกนอกบ้านตามลำพัง โดยไม่ใส่สายจูง ควบคุมจำนวนสัตว์เลี้ยงโดยการทำหมันแบบถาวร และที่สำคัญ คือ ป้องกันตัวเองจากการถูกสัตว์กัดหรือข่วนด้วย คำแนะนำ 5 ย. คือ อย่าแหย่ ให้สุนัขโมโห โกรธ อย่าเหยียบ หาง หัว ตัว ขา หรือทำให้สุนัขหรือสัตว์ต่างๆ ตกใจ อย่าแยก สุนัขที่กำลังกัดกันด้วยมือเปล่า อย่าหยิบ ชามข้าวหรือเคลื่อนย้ายอาหารขณะที่สุนัขกำลังกินอาหาร และ อย่ายุ่ง หรือเข้าใกล้กับสุนัขหรือสัตว์ต่างๆ นอกบ้านที่ไม่มีเจ้าของ หรือไม่ทราบประวัติ หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับโรคพิษสุนัขบ้า สอบถามเพิ่มเติมได้ที่เบอร์ 1422 สายด่วนกรมควบคุมโรค

 

ดาวน์โหลดเอกสารเพิ่มเติม : เอกสาร

ข่าวสารอื่นๆ