ลักษณะโรค
- โรคแอนแทรกซ์ หรือชาวบ้านเรียกว่าโรคกาลี เป็นโรคที่รู้จักกันมาแต่โบราณกาล แอนแทรกซ์นับว่าเป็นโรคระบาดสำคัญโรคหนึ่งในพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2499 เป็นโรคติดต่ออันตรายร้ายแรงที่เกิดขึ้นได้ในสัตว์กินหญ้าแทบทุกชนิด ทั้งสัตว์ป่า เช่น ช้าง เก้ง กวาง และสัตว์เลี้ยง เช่น โค กระบือ แพะ แกะ แล้วติดต่อไปยังคนและสัตว์อื่น เช่น เสือ สุนัข แมว สุกร โรคมักจะเกิดในท้องที่ซึ่งมีประวัติว่าเคยมีโรคนี้ระบาดมาก่อน แต่ปัจจุบันเนื่องจากการคมนาคมสะดวกและรวดเร็ว พ่อค้าสัตว์มักจะนำสัตว์ป่วย หรือสัตว์ที่อยู่ในระยะฟักตัวของโรคไปขายในท้องถิ่นอื่น ทำให้เกิดการกระจายของโรคไปไกล ๆ ได้ เชื้อนี้ก่อให้เกิดโรคในคน 3 แบบ คือที่ผิวหนัง ที่ปอดจากการสูดดม ที่ทางเดินอาหารและ oro-pharynx จากการกินเชื้อนี้เข้าไป
สาเหตุ
- โรคนี้เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Bacillus anthracis เป็นเชื้อ aerobic, non-motile, spore-forming rod (1-1.25 ? 3-5 nm) จัดอยู่ในตระกูล Bacillaceae เมื่อนำตัวอย่างเชื้อจากผู้ป่วยมาย้อมสีแกรมจะพบ square-ended gram-positive rods ขนาดใหญ่อยู่เดี่ยวๆ หรือต่อกันเป็น short chains เมื่ออยู่ในที่แห้งและภาวะอากาศไม่เหมาะสมจะสร้างสปอร์หุ้มเซลล์ไว้ มีความทนทานมากทั้งความร้อนความเย็น และยาฆ่าเชื้ออยู่ในธรรมชาติได้นานเป็นสิบๆ ปี
วิธีการติดต่อ
- ในคน ส่วนใหญ่จะติดทางผิวหนังโดยการสัมผัสสัตว์ป่วย หรือสัมผัสกับผลิตภัณฑ์สัตว์ที่ได้มาจากสัตว์ป่วย บุคคลที่เป็นโรคนี้พบมากในกลุ่มที่มีอาชีพทางเกษตรกรรม นอกจากนี้ได้แก่ คนชำแหละเนื้อ สัตวแพทย์ หรือผู้ที่ใกล้ชิดกับสัตว์ป่วย โรคติดมาสู่คนเนื่องจากการรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือขาดความระมัดระวัง หรืออาจเป็นเพราะความยากจนเมื่อสัตว์ตายจึงชำแหละเนื้อมาบริโภค อย่างไรก็ตามอุบัติการณ์ของโรคที่เกิดขึ้นเกือบทุกครั้งมักจะเกิดขึ้นในสัตว์ก่อน แล้วคนจึงไปติดเชื้อเข้ามา แอนแทรกซ์ผิวหนังจะเกิดจากเชื้อเข้าสู่ผิวหนังบริเวณรอยถลอกหรือบาดแผล โรคแอนแทรกซ์ทางเดินหายใจเกิดจากการสูดหายใจเอาสปอร์ซึ่งติดมากับขนสัตว์ที่ส่งมาจากท้องถิ่นมีโรค (endemic area) การติดต่อทางระบบหายใจยังไม่เคยมีรายงานในประเทศไทย ส่วนแอนแทรกซ์ของระบบทางเดินอาหารและออโรฟาริงมีสาเหตุจากการกินเนื้อสัตว์ที่ป่วยตายด้วยโรคนี้ แล้วไม่ปรุงให้สุกเพียงพอ ส่วนมากสัตว์จะติดโรคจากการกินและหายใจโดยได้รับสปอร์ซึ่งอยู่ตามทุ่งหญ้าที่เคยมีสัตว์ตายด้วยโรคนี้มาก่อน แต่ในช่วงต้น ๆ ของการระบาดของโรค (ปลายฤดูร้อนต่อต้นฤดูฝน) สัตว์จะติดโรคจากการกินและจากการหายใจพร้อม ๆ กัน โดยเกิดจากขณะที่สัตว์แทะเล็มกินหญ้าก็จะดึงเอารากที่ติดดินขึ้นมาด้วย สปอร์ของแอนแทรกซ์ที่ติดอยู่ตามใบหญ้าและในดินก็จะเข้าทางปากและฝุ่นที่ปลิวฟุ้ง ขณะดึงหญ้าสปอร์ก็จะเข้าทางจมูกโดยการหายใจเข้าไป
ระยะฟักตัว
- ในคน ตั้งแต่รับเชื้อจนถึงขั้นแสดงอาการ อยู่ระหว่าง 12 ชั่วโมง ถึง 7 วัน แต่ถ้าเป็นกรณีสูดหายใจเอาสปอร์ของเชื้อจากการใช้เป็นอาวุธชีวภาพ ระยะฟักตัวอาจยาวนานถึง 60 วัน
- ในสัตว์ ส่วนมากระยะฟักตัวจะเร็ว โดยเฉพาะในรายที่รับเชื้อทั้งจากการกินและการหายใจเอาเชื้อเข้าไป
อาการในคน พบได้ 3 ลักษณะ คือ
- แอนแทรกซ์ที่ผิวหนัง (cutaneous anthrax) อาการที่พบคือ จะเริ่มเกิดเป็นตุ่มแดงๆตรงที่รับเชื้อ ซึ่งส่วนมากจะอยู่นอกร่มผ้า เช่น มือ แขน ขา แต่อาจพบที่ลำตัวหรือกลางหลังได้ กรณีถอดเสื้อตอนผ่าซากสัตว์ ตุ่มที่พบตอนแรกนี้จะเปลี่ยนเป็นตุ่มน้ำใส แล้วเข้มขึ้นเรื่อยๆ จนเป็นตุ่มหนองแล้วแตกออกเป็นแผลยกขอบตรงกลางบุ๋มมีสีดำ (black escalate) ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของโรคนี้ ในเวลาเดียวกันถ้ายังไม่ได้รับการรักษาก็จะมีตุ่มใหม่เกิดขึ้นรอบๆ แผลเดิมขยายวงกว้างไปเรื่อยๆ บางครั้งรอบๆแผลจะบวมแดง แต่ผู้ป่วยจะไม่รู้สึกเจ็บ ยกเว้นที่ต่อมน้ำเหลืองบริเวณข้างเคียง ปกติแผลที่เกิดจากเชื้อแอนแทรกซ์จะหายยาก ถ้าได้รับการรักษาช้า เพราะเป็นแผลเนื้อตายซึ่งเชื่อกันว่าน่าจะเกิดจากพิษ(toxin) ของตัวเชื้อ อัตราป่วยตายกรณีไม่ได้รับการรักษาไม่สูงนัก อยู่ระหว่างร้อยละ 5-20 เท่านั้น
- แอนแทรกซ์ที่ระบบทางเดินอาหาร (intestinal anthrax) ผู้ป่วยที่กินเนื้อหรือเครื่องในสัตว์ที่ป่วยตายด้วยโรคนี้ แล้วไม่ปรุงให้สุกเพียงพอ ภายใน 12-24 ชั่วโมง จะรู้สึกมีไข้ ไม่สบายท้อง คลื่นไส้ อาเจียน คล้ายกับอาการของอาหารเป็นพิษ ถ้าไม่ได้รับการรักษาโดยเร็ว จะทำให้เกิดการอักเสบเป็นแผลที่ต่อมน้ำเหลืองของขั้วไส้และลำไส้ส่วนต่างๆ มีน้ำในช่องท้อง และปวดท้องอย่างรุนแรง บางครั้งผู้ให้การรักษาอาจเข้าใจผิดคิดว่าเป็นไส้ติ่งอักเสบก็ได้ ดังนั้นแพทย์ผู้ทำการรักษาควรเน้นการซักประวัติการรับประทานอาหารจากผู้ป่วย เมื่อพบผู้ป่วยที่มีลักษณะดังกล่าว ในรายที่มีอาการอุจจาระร่วงมักจะพบว่ามีเลือดปนออกมาด้วย ถ้าผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษา เชื้อจะเข้าในกระแสเลือด เกิดอาการโลหิตเป็นพิษ ทำให้ถึงแก่ชีวิตได้ ในกรณีนี้จะมีอัตราการป่วยตายถึงร้อยละ 50-60
หมายเหตุ: มีผู้ป่วยบางรายกินเนื้อที่ติดเชื้อแล้วเคี้ยวอยู่ในช่องปากนาน ทำให้เกิดแผลในช่องปากและหลอดคอได้ (oropharyngcal anthrax) ต่อมน้ำเหลืองที่บริเวณลำคอจะบวม และลามไปถึงใบหน้า - แอนแทรกซ์ที่ระบบทางเดินหายใจ (pulmonary anthrax) โดยทั่วไปจะพบผู้ป่วยที่ทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมเกี่ยวกับขนสัตว์ กระดูกป่น ที่มีฝุ่นฟุ้งกระจาย แล้วหายใจเอาสปอร์ของแอนแทรกซ์เข้าไป อาการที่พบในช่วงแรกๆ จะคล้ายกับผู้ป่วยทางเดินหายใจตอนบน มีไข้ ปวดเมื่อยตามตัว จากนั้นจะหายใจขัด หายใจลำบาก หน้าเขียวคล้ำ และตายจากอาการของระบบหายใจล้มเหลวในช่วงเวลาเพียง 3-5 วันหลังรับเชื้อ อัตราการป่วยตายของผู้ป่วยระบบนี้จะสูงมากถึงร้อยละ 80-90
อาการในสัตว์
- ในสัตว์มักพบว่ามีไข้สูง (107 องศาฟาเรนไฮท์ หรือประมาณ 42 องศาเซลเซียส) ไม่กินหญ้า แต่ยืนเคี้ยวเอื้อง มีเลือดปนน้ำลายไหลออกมา ยืนโซเซ หายใจลำบาก กล้ามเนื้อกระตุก ชัก แล้วตายในที่สุด บางตัวอาจมีอาการบวมน้ำ ถ่ายอุจจาระเป็นเลือด หรือบางตัวอาจไม่แสดงอาการให้เห็น เพราะตายเร็วมาก เมื่อสัตว์ตายจะพบว่ามีเลือดออกทางปาก จมูก ทวารหนัก อวัยวะเพศ เป็นเลือดสีดำๆ ไม่แข็งตัว กลิ่นคาวจัด ซากนิ่ม และเน่าเร็ว ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของสัตว์ที่ตายด้วยโรคนี้
สำหรับมาตรการป้องกันเมื่อพบว่ามีสัตว์ตายโดยกะทันหัน และไม่ทราบสาเหตุการตาย โดยถ้ามีเลือดเป็นสีดำคล้ำไม่แข็งตัวไหลออกตามทวารต่างๆ
- ห้ามชำแหละซากเอาเนื้อไปใช้เป็นอาหาร และห้ามผ่าซากสัตว์ที่สงสัยว่าเป็นโรคแอนแทรกซ์ เพื่อเป็นการป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อจากบริเวณที่มีสัตว์ตาย หลายประเทศมีกฎหมายห้ามการผ่าซาก เนื่องจากเมื่อผ่าออก เชื้อ vegetative form ในร่างกายสัตว์จะได้รับออกซิเจนจากอากาศ ทำให้มีการสร้างสปอร์ซึ่งมีความคงทนต่อสิ่งแวดล้อม แต่หากไม่ผ่าซากเชื้อที่อยู่ภายในซากจะตายจนหมดหลังสัตว์ตาย 2-3 วัน โดยกระบวนการเน่าสลายตามธรรมชาติ
- ให้ขุดหลุมฝัง ลึกต่ำกว่าผิวดินประมาณ 1 เมตร หากมีปูนขาวหรือขี้เถ้าให้โรยบนซากหนาประมาณ 2-3 ซม. แล้วจึงกลบ เชื้อที่อยู่ในซากก็จะตายเองโดยความร้อนที่เกิดจากการสลายเน่าเปื่อยในธรรมชาติ และควรเลือกฝังในบริเวณที่ใกล้ที่สุดกับที่สัตว์ตาย ให้มีการเคลื่อนย้ายซากสัตว์ให้น้อยที่สุด
- อาจเผาซากให้ไหม้มากที่สุด แล้วจึงขุดหลุมฝังกลบอีกชั้นหนึ่งก็ได้
- การสุขศึกษาประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเข้าใจถึงอันตรายของโรคนี้ จะสามารถลดอัตราป่วยตายของโรค และลดการระบาดของโรคได้ด้วย
การป้องกันโรคนี้จะต้องประสานงานกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายปศุสัตว์ด้วย เพราะมีวัคซีนป้องกันโรคล่วงหน้าในสัตว์ได้ โดยปกติจะทำวัคซีนในโค กระบือ และ/หรือสุกร ปีละ 2 ครั้ง ในท้องที่ซึ่งมีการระบาดของโรคนี้
สำหรับมาตรการควบคุมผู้ป่วย ผู้สัมผัส และสิ่งแวดล้อม
- พยายามหลีกเลี่ยงมิให้คนสัมผัสกับสัตว์ป่วย หรือผลิตภัณฑ์สัตว์ป่วย
- การกำจัดหรือทำลายสัตว์ที่เป็นโรคแอนแทรกซ์เป็นวิธีการที่ดีที่สุดสำหรับการป้องกันมิให้โรคในสัตว์ติดต่อมาสู่คน โดยเฉพาะการให้วัคซีนสัตว์ในแหล่งที่มีโรคนี้ระบาด การวินิจฉัยโรคในสัตว์ที่กระทำโดยทันทีทันใดและการรักษาโรคในสัตว์ป่วย ตลอดจนการทำลายซากสัตว์ที่ตายโดยการฝังลึกๆ หรือโดยการเผา เป็นวิธีการควบคุมมิให้โรคแพร่กระจาย ซากสัตว์ที่ตายด้วยโรคนี้ไม่ควรผ่าซาก ควรให้ความรู้ด้านสุขศึกษาแก่เจ้าของฟาร์มสัตว์เกี่ยวกับโรคโดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับอันตรายของโรค
- การกำจัดซากสัตว์ป่วยอย่างปลอดภัยและการติดโรค ในพื้นที่ที่มีโรคแอนแทรกซ์ระบาดควรกักสัตว์ ที่อยู่ในบริเวณนั้นอย่างน้อย 2 สัปดาห์ โดยนับวันแรกหลังจากพบโรคในสัตว์ตัวสุดท้ายที่เป็น
- ในฝูงสัตว์ที่รีดนมควรมีการเฝ้าระวังโรคอย่างใกล้ชิด และถ้าสัตว์ตัวใดแสดงอาการไข้เกิดขึ้นควรจับแยก และน้ำนมที่รีดมาควรทำลายทันที
- ในแหล่งที่พบว่าโรคนี้ระบาดทั่วไปในสัตว์ มักจะพบว่าสภาพแวดล้อมแปดเปื้อนด้วยสปอร์ ดังนั้นในแหล่งที่สงสัยมีโรคควรใช้ ammonium quaternary compound ใส่ไปในโพรงน้ำ หรือแอ่งน้ำจะช่วยลดอัตราการเกิดโรค การควบคุมโรคในผลิตภัณฑ์สัตว์กระทำได้ยากมาก ทั้งนี้สปอร์ของเชื้อที่ทนทานต่อสารเคมีที่ฆ่าเชื้อต่าง ๆ
ข้อแนะนำและมาตรการควบคุมโรคเบื้องต้น
สำหรับมาตรการในระยะระบาด ระหว่างการสอบสวนโรค
- ค้นหาแหล่งโรค หรือแหล่งชำแหละซากสัตว์ และประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันทำลายเชื้อโดยการเผาหญ้าราดน้ำยาฆ่าเชื้อไลโซล โรยปูนขาวบริเวณที่ชำแหละสัตว์ คอกสัตว์ บริเวณที่สัตว์ตาย สำหรับซากสัตว์ หนังสัตว์ เศษกระดูกที่เหลืออยู่เก็บรวบรวมแล้วเผาทำลาย ให้หมด
- ให้สุขศึกษาแก่ผู้สัมผัสและประชาชนในพื้นที่ของทุกหมู่บ้าน ให้เฝ้าระวังโรคแอนแทรกซ์ในสัตว์ ถ้าพบอาการผิดปกติให้รีบรายงานเจ้าหน้าที่สาธารณสุข หรือเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ และให้สุขศึกษาเรื่องพฤติกรรมการบริโภคเนื้อสัตว์และการป้องกันโรคได้อย่างเหมาะสมเพื่อลดความตื่นตระหนกลง
- รวบรวมผลการสอบสวนโรคเสนอที่ประชุมผู้เกี่ยวข้อง เพื่อหาแนวทางการเฝ้าระวังโรคและการป้องกันการระบาดของโรคต่อไปในอนาคต
ในส่วนของจังหวัด :
- เฝ้าระวังโรคโดยเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจังหวัดเข้าไปเยี่ยมประชาชนในหมู่บ้านเกิดโรค 20 วัน เพื่อติดตามผู้ป่วยรายเก่า และค้นหาผู้ป่วยรายใหม่
- แจ้งหน่วยงานสาธารณสุขทุกระดับ เพื่อประชาสัมพันธ์ประชาชนในพื้นที่ให้ทราบ และเฝ้าระวังสัตว์ในพื้นที่
- แจ้งสถานพยาบาลทุกแห่งในเขต เพื่อเตรียมความพร้อมในการให้บริการด้านรักษาพยาบาลแก่ประชาชน
- ชี้แจงประชาสัมพันธ์ ทำความเข้าใจกับประชาชน พร้อมทั้งประกาศเตือนในการบริโภคเนื้อสัตว์ต่างๆ โดยหอกระจายข่าวสารประจำหมู่บ้าน รถประชาสัมพันธ์ของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด รายการวิทยุ และสถานีโทรทัศน์
ในส่วนของปศุสัตว์ :
- ประกาศเขตโรคระบาดชั่วคราว โดยควบคุมไม่ให้มีการเคลื่อนย้ายสัตว์เข้า-ออกบริเวณจุดเกิดโรคโดยเด็ดขาด และหากมีสัตว์ป่วยตาย ต้องรีบแจ้งเจ้าหน้าที่สัตว์แพทย์โดยทันที ห้ามมิให้กระทำการใดๆ ต่อสัตว์ป่วยหรือซากสัตว์ รวมทั้งไม่ให้มีการฆ่า หรือชำแหละสัตว์ในบริเวณนั้น จนกว่าโรคจะสงบ
- ดำเนินการฉีดวัคซีนป้องกันโรคแอนแทรกซ์ให้กับสัตว์รอบจุดเกิดโรค
- ฉีดยาปฏิชีวนะให้กับสัตว์ร่วมฝูงที่ยังมีชีวิตอยู่
- พ่นยาฆ่าเชื้อโรค และโรยปูนขาวในบริเวณที่เป็นแหล่งเกิดโรค
- ติดตามซากสัตว์ที่หลงเหลืออยู่มาทำลายโดยการฝังหรือเผา และทำลายเชื้อโรค
- ติดตามรถเร่ขายเนื้อสัตว์ในตลาดนัดค้าสัตว์ เพื่อการเฝ้าระวังโรค
- เฝ้าระวังโรคในพื้นที่เสี่ยงอย่างต่อเนื่อง จนกว่าโรคจะสงบ