ลักษณะโรค
โรคไข้ปวดข้อยุงลาย หรือ โรคชิคุนกุนยา (Chikungunya หรือ Chikungunya fever) เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสชิคุนกุนยา โดยมียุงลายเป็นพาหะนำโรคเช่นเดียวกับโรคไข้เลือดออกหรือโรคเดงกี่ และโรคติดเชื้อไวรัสซิกา อาจพบผู้ป่วยที่ป่วยทั้งโรคไข้เลือดออกและโรคไข้ปวดข้อยุงลายพร้อมกัน ซึ่งอาการของทั้ง 2 โรคนี้คล้ายคลึงกัน แต่โรคไข้เลือดออกจะมีอาการรุนแรงมากกว่า ทำให้หลายครั้งผู้ป่วยไม่ถูกวินิจฉัยว่าป่วยเป็นโรคไข้ปวดข้อยุงลาย แต่ถูกวินิจฉัยว่าป่วยเป็นโรคไข้เลือดออกเพียงโรคเดียว จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ความชุกที่แท้จริงของโรคไข้ปวดข้อยุงลายไม่แน่ชัด
คำว่า ชิคุนกุนยา มาจากภาษาถิ่นอาฟริกา หมายถึง อาการบิดเบี้ยวของข้อ เพราะอาการสำคัญของโรคนี้ คือ ข้อบวม และข้ออักเสบจนเกิดการผิดรูป โดยมีรายงานครั้งแรกในช่วง ค.ศ. 1952 - 1953 (พ.ศ. 2495 - 2496) จากประเทศทานซาเนีย
โรคไข้ปวดข้อยุงลาย เป็นโรคที่พบได้ในทุกทวีป ทั้ง อาฟริกา เอเชีย ยุโรป และอเมริกา ในทวีปเอเชียพบได้บ่อยในประเทศอินเดีย และประเทศต่าง ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งรวมทั้งประเทศไทย
ในประเทศไทย พบโรคไข้ปวดข้อยุงลายครั้งแรกที่กรุงเทพฯ ในปี ค.ศ. 1958 (พ.ศ. 2501) ซึ่งปัจจุบัน พบโรคนี้ได้ในทุกภาค และมีการระบาดหลายครั้งในประเทศไทย รวมทั้งในช่วง ค.ศ. 2008 - 2009 (พ.ศ. 2551 - 2552) ซึ่งพบว่ามีการระบาดในหลายจัวหวัดทางภาคใต้และแพร่กระจายไปยังจังหวัดอื่น ๆ ทั่วประเทศ
โรคไข้ปวดข้อยุงลาย พบได้ในทุกช่วงอายุ รวมทั้งทารกในครรภ์เมื่อมารดาติดเชื้อไวรัสนี้ (กรณีนี้พบได้น้อย) ไปจนถึงผู้สูงอายุ และโอกาสเกิดโรคใกล้เคียงกันทั้งในเพศหญิงและเพศชาย
สาเหตุ
โรคไข้ปวดข้อยุงลายเกิดจากเชื้อไวรัสชื่อ ชิคุนกุนยาไวรัส (Chikungunya virus หรือ ย่อว่า CHIK V) ซึ่งเป็น single-strand RNA จัดอยู่ใน family Togaviridae, genus Alphavirus จากการศึกษาลักษณะทางพันธุกรรมของไวรัสชนิดนี้พบว่าสามารถแบ่งออกได้เป็น 4 สายพันธุ์ ได้แก่ West Africa (WA), East-Central-South African (ECSA), Indian Ocean (IOL) และ Asian Urban (AUL) ซึ่งสายพันธุ์ไวรัสชิคุนกุนยาที่พบในประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551 เป็นต้นมา เป็นสายพันธุ์ ECSA – IOL ที่เป็นสายพันธุ์ที่มีศักยภาพในการแพร่ระบาดสูง
ชิคุนกุนยาไวรัส เป็นไวรัสชนิดที่มีแมลงเป็นพาหะโรค (Arbovirus) โดยแหล่งรังโรค คือ ลิง หนู นก และอาจเป็นสัตว์มีกระดูกสันหลังอื่น ๆ ซึ่งยังไม่ทราบแน่ชัดว่ามีสัตว์อะไรอีกบ้าง แต่ในช่วงมีการระบาดของโรคมี คน เป็นแหล่งรังโรค
วิธีการติดต่อ
โรคไข้ปวดข้อยุงลายเป็นโรคติดต่อ และก่อการระบาดได้เสมอ เป็นโรคที่มีวงจรติดต่อที่เรียกว่า “คน - ยุง - คน” โดยมียุงลายบ้าน (Aedes aegypti) และยุงลายสวน (Aedes albopictus) เป็นพาหะหลักเช่นเดียวกับโรคไข้เลือดออกหรือโรคเดงกี่ และโรคซิกา เมื่อยุงลายตัวเมียกัด และดูดเลือดผู้ป่วยในช่วงที่มีเชื้อชิคุนกุนยาไวรัสอยู่ในเลือด ไวรัสชนิดนี้จะเข้าไปแบ่งตัวเพิ่มจำนวนขึ้นในกระเพาะของยุง จากนั้นก็จะเคลื่อนที่เข้าสู่ต่อมน้ำลาย เมื่อยุงตัวนี้ไปกัดคน ไวรัสในต่อมน้ำลายจะเข้าสู่กระแสเลือดคนที่ถูกกัด ทำให้คนนั้นเกิดอาการของโรควนเวียนเป็นวงจรของการติดต่อ และการระบาดแต่ในช่วงที่ไม่มีการระบาดคาดว่ายุงอาจได้เชื้อจากคน หรือ จากสัตว์ที่เป็นพาหะโรค ต่อจากนั้น จึงเริ่มวงจรระบาดเมื่อยุงที่มีเชื้อกัดคน จนเกิดเป็นวงจร “คน-ยุง-คน” และจากการวิจัยพบว่ายุงลายสามารถถ่ายทอดเชื้อชิคุนกุนยาไวรัสจากแม่ยุงสู่ลูกยุงได้อีกหลายรุ่น ยุงลายทั้งสองสายพันธุ์ มักเป็นยุงที่พบได้ทั่วไปทั้งในเมือง และในต่างจังหวัด ออกหากินในเวลากลางวัน มีลายขาวดำตามลำตัว และตามขา ชอบวางไข่ในน้ำสะอาด (โดยเฉพาะน้ำฝน) ที่ขังอยู่ในภาชนะต่าง ๆ ทั้งที่มนุษย์สร้างขึ้น และเกิดตามธรรมชาติ เช่น กระถางต้นไม้ อ่างน้ำ โอ่งเก็บน้ำ รอยแตกตามซอกหิน กาบดอกมะพร้าว ใบไม้ที่ร่วงบนดิน แม้ว่าจะมีน้ำขังเพียงเล็กน้อยก็สามารถวางไข่ได้ โดยไข่จะเป็นตัวยุงภายใน 7 - 10 วัน ยุงลายบ้านมักพบภายในบ้านบริเวณที่มืด อับลม และมีความชื้น ส่วนยุงลายสวน มักพบบริเวณนอกบ้านโดยเฉพาะบริเวณที่เป็นร่มเงาหรือมีต้นไม้ และลมไม่แรง โรคไข้ปวดข้อยุงลายนอกจากติดต่อผ่านยุงลายที่เป็นพาหะนำโรคแล้วหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อชิคุนกุนยาก็สามารถถ่ายทอดเชื้อไปยังทารกในครรภ์ได้ และยังสามารถติดต่อกันได้ผ่านทางเลือดอีกด้วย
ระยะฟักตัว
ระยะฟักตัวของเชื้อชิคุนกุนยาในยุงประมาณ 7 – 10 วัน และระยะฟักตัวในคนหลังถูกยุงที่มีเชื้อกัดประมาณ 2 – 4 วัน (ระยะเวลาฟักตัวที่สั้นที่สุดคือ 1 วัน และนานที่สุด คือ 12 วัน)
ระยะติดต่อ
ระยะติดต่อของโรคไข้ปวดข้อยุงลาย คือ ระยะที่ผู้ป่วยมีไข้สูงประมาณ 4 วันแรกของโรค ซึ่งเป็นระยะที่มีไวรัสอยู่ในกระแสเลือดเป็นจำนวนมาก (Viremia)
อัพเดตข้อมูล 10 สิงหาคม 2565
อาการของโรคไข้ปวดข้อยุงลาย เป็นอาการเฉียบพลัน เกิดภายหลังได้รับเชื้อไวรัสชิคุนกุนยา (ถูกยุงลายมีเชื้อกัด) ประมาณ 1 - 12 วัน (ระยะฟักตัวของโรค) ส่วนใหญ่ประมาณ 2 - 4 วัน โดยมีอาการหลัก คือ
1) มีไข้ ผู้ป่วยมักมีไข้สูงลอย คือ รับประทานยาลดไข้แล้วไม่ดีขึ้น อุณหภูมิร่างกายสูงกว่า 39 องศาเซลเซียส ประมาณ 3 – 5 วัน หรืออาจนานเป็นสัปดาห์ แต่ในบางรายอาจพบว่ามีไข้ต่ำ บางรายอาจมีไข้ลงและมีไข้ใหม่อีกครั้งได้
2) ปวดข้อหรือมีอาการข้ออักเสบหลายข้อ โดยส่วนใหญ่จะพบอาการปวดข้อเป็นหลัก มักเริ่มจากข้อเล็ก ๆ เช่น ข้อนิ้ว ข้อมือ ข้อเท้า มักปวดได้หลายข้อและเกิดขึ้นได้ทั้งสองข้าง จากนั้นอาการปวดจะลามไปยังข้อที่ใหญ่ขึ้น เช่น ข้อเข่า ข้อสะโพก อาจพบอาการปวดที่ข้อกระดูกหน้าอกหรือกระดูกสันหลังได้ และอาการปวดข้อยังสามารถเปลี่ยนตำแหน่งได้ บางรายอาจปวดจนเดินไม่ได้ ระยะเวลาอาจนานเป็นสัปดาห์หรือเป็นเดือน และสามารถเกิดซ้ำได้อีกใน 2 – 3 สัปดาห์ถัดมา บางรายมีอาการปวดเรื้อรังนานถึง 3 – 5 ปีรวมทั้งมีอาการชา โดยในเด็กจะมีอาการปวดข้อไม่รุนแรงเท่าผู้ใหญ่ มักไม่ค่อยพบอาการข้ออักเสบ
3) ผื่น มักมีผื่นแดงคล้ายไข้เลือดออกขึ้นบริเวณลำตัว บางครั้งอาจพบที่แขน และขาได้อีกด้วย โดยผื่นนูนแดงมักเกิดภายใน 2 – 3 วัน หลังจากมีไข้ พบอาการผื่นนานประมาณ 2 – 5 วัน และหายได้เองภายใน 7 – 10 วัน และอาจมีอาการคัน
นอกจากนี้ยังพบอาการปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดตา ตาแดง ตากลัวแสง (เห็นแสงสว่างแล้วน้ำตาไหล) แต่ไม่มาก เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย การติดเชื้อในทารกแรกเกิดจากแม่สู่ลูก มักติดเชื้อระหว่างคลอด ทารกมักมีอาการ 3 – 7 วันหลังคลอด พบอาการ ไข้ ผื่น ปลายมือปลายเท้าบวม รวมถึงอาการทางระบบประสาท ผู้ติดเชื้อบางรายอาจมีอาการไม่จำเพาะทำให้ไม่ได้รับการวินิจฉัยว่าป่วยเป็นโรคไข้ปวดข้อยุงลาย ในผู้สูงอายุ ผู้ป่วยที่มีโรคเรื้อรัง และทารกที่ติดเชื้อระหว่างคลอดนั้นอาการอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้
การป้องกันโรค
ปัจจุบันยังไม่มียาหรือวัคซีนป้องกันโรคไข้ปวดข้อยุงลาย (แต่กำลังอยู่ในขั้นตอนการศึกษา) ดังนั้น วิธีป้องกันโรคนี้ที่ดีที่สุด คือ การป้องกันไม่ให้ยุงกัด และการกำจัดยุงที่เป็นพาหะนำโรค
การป้องกันยุงกัด เช่น ในถิ่นระบาด ควรสวมเสื้อแขนยาว กางเกงขายาว การทายากันยุงกัด ใช้ยาจุดไล่ยุง หรือเครื่องไล่ยุงไฟฟ้า นอนในมุ้งถึงแม้จะเป็นเวลากลางวัน
การกำจัดยุง ต้องร่วมมือกันทั้งในครอบครัว และในชุมชน โดยต้องปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ และเพิ่มความเข้มงวดในช่วงฤดูฝน และหลังฤดูฝน ซึ่งเป็นช่วงยุงวางไข่ ตามคำแนะนำของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และของกระทรวงสาธารณสุข เช่น กำจัด หรือคว่ำภาชนะทุกชนิดที่ก่อให้เกิดน้ำขัง ทั้งในบ้าน นอกบ้าน และในชุมชน เปลี่ยนน้ำในแจกันดอกไม้ หรือกระถาง ทุก ๆ 7 วันเพื่อกำจัดลูกน้ำ ไม่รดน้ำต้นไม้มากจนก่อให้เกิดน้ำขัง จัดสวน หรือปลูกต้นไม้ให้โปร่ง แสงแดดส่องถึง และปิดฝาแหล่งกักเก็บน้ำอุปโภคบริโภคให้มิดชิดป้องกันยุงวางไข่ หรือใส่ทรายกำจัดลูกน้ำยุงลายในภาชนะที่ไม่สามารถคว่ำทิ้ง หรือปิดให้มิดชิดได้ และขัดทำความสะอาดขอบผิวหรือภาชนะเหนือผิวน้ำที่อาจจะมีไข่ยุง เพราะไข่ยุงลายสามารถทนต่อสภาพแห้งแล้งได้หลายเดือน ถ้ายุงลายวางไข่แล้วต่อให้คว่ำภาชนะที่มีน้ำขังแต่เมื่อภาชนะนั้นมีน้ำท่วมไข่อีกครั้ง ไข่ยุงลายก็สามารถฟักต่อได้อีก
การดูแลรักษา
ในปัจจุบันยังไม่มียาฆ่าไวรัสชนิดนี้ ดังนั้นแนวทางการรักษาจึงเป็นการรักษาแบบประคับประคองตามอาการเป็นหลัก คือ ทานยาแก้ปวดลดไข้เป็นหลัก ดื่มน้ำมาก ๆ และพักผ่อนให้เต็มที่ และมีรายงานการใช้ยาบางชนิดที่รักษาโรคมาลาเรีย (โรคไข้จับสั่น) อาจช่วยรักษาอาการอักเสบของข้อจากโรคนี้ได้
อนึ่ง แพทย์ไม่แนะนำยาแก้ปวดในกลุ่มเอนเสดส์ (NSAIDs, Non - steroidal anti - inflam matory drugs) เช่น แอสไพรินหรือ ไอบูโปรเฟน (Ibruprofen) เพราะเพิ่มโอกาสเลือดออกตามเนื้อเยื่อและอวัยวะต่างๆ โดยแนะนำยาแก้ปวดพาราเซตามอลแทน (Paracetamol) หรับผู้ป่วยเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี ที่มีไข้สูงและมีความเสี่ยงต่อภาวะชักจากไข้สูง ให้เช็ดตัวลดไข้ร่วมด้วย
ถึงแม้ว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่ของโรคไข้ปวดข้อยุงลายจะมีอาการไม่รุนแรง แต่ต้องเฝ้าระวังและสังเกตผู้ป่วยที่มีภาวะช็อก ผู้ป่วยที่มีอาการทางระบบไหลเวียนโลหิตหรือระบบทางเดินหายใจล้มเหลว ผู้ป่วยที่มีอาการทางระบบประสาท ผู้ป่วยที่มีภาวะเลือดออกผิดปกติ ผู้ป่วยที่มีภาวะตับอักเสบเฉียบพลัน หรือภาวะไตวายเฉียบพลัน อาการรุนแรงเหล่านี้พบได้ไม่บ่อยแต่มีอัตราตายสูง โดยอาจพบได้ในผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยล่าช้า ผู้ป่วยที่มีโรคไข้เลือดออกหรือไข้เดงกี่ร่วม ผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป ผู้ที่มีโรคเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหอบหืดหรือโรคปอดเรื้อรัง โรคเลือด และโรคไต เป็นตัน รวมถึงผู้ป่วยทารกแรกเกิดที่ติดเชื้อระหว่างคลอด
ที่อยู่
:
88/21 ถนน ติวานนนท์ ตำบลตลาดขวัญ อำเภอเมือง จังหวัด นนทบุรี 11000
โทรศัพท์ 02-5903000
แฟกซ์
Email : [email protected]
© สงวนลิขสิทธิ์ 2561 : กรมควบคุมโรค