ลักษณะโรค
- โรคลีเจียนเนลโลสิส (Legionellosis) เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียชื่อ Legionella pneumophila ลักษณะโรคมี 2 แบบ คือ ชนิดรุนแรงเรียกโรคปอดอักเสบลีเจียนแนร์ (Legionnaires' disease) และชนิดไม่รุนแรงเรียกโรคไข้ปอนเตียก (Pontiac fever)
สาเหตุ
- เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Legionella ที่ตรวจพบแล้วประมาณ 43 species 65 serogroups ที่พบก่อให้เกิดโรคในคนบ่อยที่สุดคือ Legionella pneumophila ซึ่งตรวจพบแล้ว 18 serogroups เชื้อ Legionlla พบได้ทั่วไปในแหล่งน้ำที่มีอุณหภูมิ 32-45 ซ สามารถมีชีวิตอยู่ได้นานหลายเดือนในสิ่งแวดล้อมที่มีความชื้นสูง และแบ่งตัวในที่ที่มีสาหร่ายและอินทรีย์วัตถุ
วิธีการติดต่อ
- โดยการสูดหายใจเอาเชื้อที่ปนเปื้อนอยู่ในละอองฝอยของน้ำ เช่น น้ำจากหอผึ่งเย็นความร้อน(cooling towers) ของระบบปรับอากาศ ฝักบัวอาบน้ำ อ่างน้ำวน เครื่องมือช่วยหายใจ น้ำพุสำหรับตกแต่งอาคารสถานที่ต่างๆ การแพร่เชื้อจากคนไปสู่คนยังไม่มีปรากฎ
ระยะฟักตัว
- โรคลีเจียนแนร์ส่วนใหญ่จะปรากฎอาการภายใน 5-6 วันหลังได้รับเชื้อ แต่อาจอยู่ในช่วง 2-10 วัน
- โรคไข้ปอนเตียกมักจะมีอาการภายใน 24-48 ชั่วโมงหลังได้รับเชื้อ แต่อาจอยู่ในช่วง 5-66 ชั่วโมง
ระยะติดต่อ
- ยังไม่พบการแพร่เชื้อระหว่างคนสู่คนดังนั้นคนจึงไม่เป็นพาหะของโรค มีการตรวจเลือดของผู้ป่วยภายหลังป่วยหลายปีพบแอนติบอดีต่อ Legionella ซึ่งบ่งชี้ว่าเคยป่วยมาแล้วไม่ใช่กำลังป่วย
อาการและอาการแสดง
- มีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ (flu-like illness) เริ่มด้วย ปวดศรีษะ ปวดกล้ามเนื้อ ตามด้วยมีไข้สูง (39-40o ซ) หนาวสั่น เบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน อาจมีอุจจาระร่วง ไอแห้งๆ ในกรณีที่เป็นไข้ปอนเตียกมักจะหายภายใน 2-5 วัน แม้จะไม่ได้รับการรักษา ส่วนโรคลีเจียนแนร์มักจะมีปอดอักเสบและลามไปที่ปอดทั้งสองข้าง ทำให้การหายใจล้มเหลว มีอัตราตายสูง
การวินิจฉัยแยกโรค
- ถ้าต้องการวินิจฉัยแยกจากโรคปอดอักเสบจากเชื้ออื่นๆต้องตรวจยืนยันทางห้องปฏิบัติการโดยการเพาะแยกเชื้อจากเสมหะ น้ำจากโพรงเยื่อหุ้มปอด หลอดลม หลอดคอ หรือ ตรวจหาแอนติบอดีในเลือด การเพาะแยกเชื้อเป็นการตรวจที่สำคัญถือเป็น gold standard
ระบาดวิทยา
- มีบันทึกการพบผู้ป่วยรายแรกใน พ.ศ. 2490 และการระบาดครั้งแรกใน พ.ศ. 2500 ที่รัฐมินนิโซตา มีการระบาดครั้งใหญ่ของโรคปอดอักเสบในหมู่ผู้ร่วมประชุมสมาคม "สหายสงคราม" (American Legion Convention) ที่เมืองฟิลาเดลเฟีย สหรัฐอเมริกาใน พ.ศ. 2519 มีผู้ป่วย 182 ราย เสียชีวิต 29 ราย อีก 6 เดือนต่อมา McDade JE และคณะ จึงได้พบเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุจากปอดของผู้เสียชีวิต จึงเป็นที่มาของชื่อ "โรค Legionella pneumophila"
- โรคลีเจียนแนร์เป็นโรคที่ต่างประเทศให้ความสนใจเนื่องจากมีอัตราป่วยตายสูงโดยเฉพาะประเทศ ในแถบยุโรปมีระบบเฝ้าระวังและมีคณะทำงานสำหรับโรคนี้โดยเฉพาะเรียกว่า European working group for Legionella infections (EWGLI) อัตราป่วยของโรคนี้โดยเฉลี่ยในยุโรปเท่ากับ 4.45/ล้านประชากร ในปี 2539
- สำหรับประเทศไทยยังพบโรคนี้น้อย โดยมีรายงานผู้ป่วย 5 ราย รายแรกเป็นหญิงไทยอายุ 19 ปี รายงานโดย ศรีไสวและคณะใน พ.ศ. 2527 ในปีเดียวกัน ตันไพจิตรและคณะรายงานผู้ป่วยอีก 3 ราย พ.ศ. 2529 ชุณหสวัสดิกุลและคณะ รายงานผู้ป่วย 1 รายเป็นชายจีนอายุ 78 ปี และในปี 2532 ชูโชติถาวรและคณะรายงานผู้ป่วยอีก 1 ราย เป็นหญิงจีนอายุ 39 ปี นอกจากนี้ยังได้รับแจ้งเกี่ยวกับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ป่วยด้วยโรค Legionnaires หลังกลับจากเดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 ต่อเนื่องจนถึง พ.ศ.2542 จำนวน 12 ราย
- มักพบในวัยกลางคน ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง ได้แก่ มะเร็ง ผู้ติดเชื้อเอดส์ที่มีอาการ ผู้ป่วยเอดส์ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ได้แก่ เบาหวาน โรคปอดเรื้อรัง โรคพิษสุราเรื้อรัง สูบบุหรี่จัด
มาตรการในระยะระบาด
- ค้นหาแหล่งแพร่เชื้อร่วมในกลุ่มผู้ป่วย และแหล่งแพร่เชื้อจากสิ่งแวดล้อม ทำลายเชื้อในแหล่งที่สงสัยด้วยคลอรีนหรือน้ำร้อนจัด
โอกาสการระบาดใหญ่
- มีความเป็นไปได้ โดยเฉพาะในที่ที่คนจำนวนมากมาอยู่รวมกันในอาคารที่มีเครื่องปรับอากาศระบบเปิด
การรักษา
- ยาปฏิชีวนะที่ใช้รักษาคือ erythromycin ยาที่ใหม่กว่าคือ azithromycin และ clarithromycin ก็ใช้ได้ผลเช่นกัน ในรายที่มีอาการรุนแรงยาที่ใช้เพิ่มคือ rifampin
การป้องกันและควบคุมโรค
มาตรการป้องกัน
- โรค Legionnaires มีสาเหตุจากเชื้อ L. pneumophila spp. ที่อาศัยอยู่ในน้ำเป็นแหล่งแพร่กระจายโรค ดังนั้นการป้องกันและควบคุมโรคจึงใช้มาตรการดูแลความสะอาดของแหล่งน้ำต่าง ๆ ภายในอาคาร เช่น โรงแรม โรงพยาบาล ดังนี้
- ระบบประปา
- กรณีใช้น้ำประปา ควรมีการตรวจสอบปริมาณคลอรีนตกค้างของน้ำในบ่อพักทุกวัน ถ้าพบว่ามีน้อยกว่า 0.2 ppm. ให้รีบแจ้งการประปาเพื่อเติมคลอรีน หรือมีการเติมคลอรีนเอง ให้มีคลอรีนตกค้างไม่น้อยกว่า 0.2 ppm.
- กรณีเก็บน้ำสำรองไว้ในบ่อพัก ควรตรวจสอบปริมาณคลอรีนตกค้างและรักษาระดับไม่ให้น้อยกว่า 0.2 ppm เสมอ
- ระบบน้ำร้อนรวม
- ต้องผลิตน้ำให้มีอุณหภูมิสูงกว่า 60oซ ตลอดเวลา และส่งน้ำออกไปให้มีอุณหภูมิสูงกว่า 50 o ซ ในทุกที่ที่น้ำร้อนไปถึง และพยายามไม่ให้มีท่อน้ำร้อนที่ไม่มีการไหลเวียน (dead space) ในกรณีที่เกิดการระบาดควรปรับอุณหภูมิของน้ำที่ผลิตให้สูงกว่าปกติ
- ระบบปรับอากาศและระบายความร้อน
- ควรทำความสะอาด 1-2 ครั้งต่อเดือน ไม่ให้มีตะไคร่เกาะ โดยเฉพาะส่วน Basin
- ทำลายเชื้อโดยใส่คลอรีนให้มีความเข้มข้น 10 ppm. เข้าท่อที่ไปหอผึ่งเย็นให้ทั่วถึงทั้งระบบไม่น้อยกว่า 3-6 ชั่วโมง หลังจากนั้นรักษาระดับคลอรีนให้มีความเข้มข้นไม่น้อยกว่า 0.2 ppm.
- เครื่องปรับอากาศในห้องพัก กรณีมี Fan coil unit ในห้องพัก ต้องทำความสะอาดถาดรองน้ำที่หยดจากท่อคอยล์เย็น ทุก 1-2 สัปดาห์ ไม่ให้มีตะไคร่เกาะ หรือใส่สาร biocides ที่ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของคน
- อุปกรณ์ห้องน้ำในห้องพัก
- ควรถอดหัวก๊อกน้ำและฝักบัว ออกมาแช่น้ำร้อน 65oซ นาน 5 นาที หรือแช่สารละลายคลอรีนที่มีความเข้มข้น 10 ppm. นาน 5 นาที (ระวังคลอรีนกัดกร่อนโลหะ)
- อุปกรณ์ที่ถอดไม่ได้ให้ฉีดด้วยน้ำร้อน 65oซ นาน 5 นาที นอกจากนี้โรงพยาบาลที่เคยมีผู้ป่วยโรคลีเจียนแนร์ ควรเฝ้าระวังเชื้อ Legionella spp. ในระบบน้ำเป็นระยะๆ รวมทั้งน้ำในเครื่องช่วยหายใจ
การควบคุมผู้ป่วย ผู้สัมผัส และสิ่งแวดล้อม
- รายงานการระบาด : เมื่อพบผู้ป่วยที่สงสัย (suspected case) หรือพบการป่วยเป็นกลุ่มก้อนให้รายงานสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทันทีทางโทรศัพท์หรือโทรสาร แล้วส่ง รง.506 ไปตามลำดับขั้นของเครือข่ายระบาดวิทยา
- การแยกผู้ป่วย : ไม่จำเป็น
- การทำลายเชื้อ : ทำลายเชื้อในแหล่งที่สงสัยด้วยคลอรีนหรือน้ำร้อนจัด
- การกักกัน : ไม่จำเป็น
- การให้ภูมิคุ้มกันแก่ผู้สัมผัส : ไม่มี
- การสอบสวนผู้สัมผัสและแหล่งโรค : ค้นหาผู้ป่วยเพิ่มเติมจากสิ่งแวดล้อมหรือแหล่งโรคเดียวกัน