เอดส์ ตรวจเร็ว รักษาเร็ว สุขภาพดีได้
โรคเอดส์ เป็นกลุ่มอาการของโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเอชไอวี ซึ่งจะเข้าไปทำลายเม็ดเลือดขาวที่เป็นแหล่งสร้างภูมิคุ้มกันโรค ทำให้ติดเชื้อโรคอื่นๆ ได้ง่ายขึ้น เช่น วัณโรค ปอดบวม เยื่อหุ้มสมองอักเสบ หรือเป็นมะเร็งบางชนิดได้ง่ายกว่าคนปกติ ผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ที่ติดโรคติดเชื้อฉวยโอกาสจะมีอาการของโรครุนแรง และเป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิต
เอดส์ ติดต่อกันได้อย่างไร
การติดต่อที่สำคัญ มี 3 ทาง คือ ทางเพศสัมพันธ์ การรับเชื้อทางเลือด และแม่สู่ลูก
อาการของโรคเอดส์ มี 2 ระยะ คือ
1. ระยะไม่มีอาการ
ผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ จะมีสุขภาพแข็งแรง ไม่มีอาการผิดปกติแต่อย่างใด ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่จะอยู่ในระยะนี้ และบางคนไม่ทราบว่าตัวเองติดเชื้อ จึงอาจแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นได้
2. ระยะมีอาการ
ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ จะเริ่มแสดงอาการภายหลังจากได้รับเชื้อ ประมาณ 7 – 8 ปี แบ่งเป็น 2 ระยะ คือ
2.1 ระยะเริ่มปรากฏอาการ อาการที่พบ คือ มีเชื้อราในปาก ต่อมน้ำเหลืองโต เป็นงูสวัด มีไข้ ท้องเสีย น้ำหนักลด มีตุ่มคันบริเวณผิวหนัง
2.2 ระยะโรคเอดส์ เป็นระยะที่ภูมิต้านทานลดลงมาก ทำให้ติดเชื้อโรคฉวยโอกาสได้ง่ายขึ้น เช่น วัณโรค ปอดบวม เยื่อหุ้มสมองอักเสบ เป็นต้น
การแพร่ระบาดของเชื้อเอชไอวี
1. การแพร่ระบาดของเชื้อเอชไอวี ผ่านช่องทางการมีเพศสัมพันธ์เป็นช่องทางหลักของการแพร่ระบาดของโรคเอดส์ขณะนี้ และเป็นเรื่องที่ตัวเองคิดว่าตนเองไม่มีโอกาส
2. เมื่อมีเพศสัมพันธ์ก็มักจะไม่เคยคิดว่าคนที่เรามีเพศสัมพันธ์ด้วยนั้นเคยมีเพศสัมพันธ์กับใครมาก่อนหรือไม่ และไม่กล้าที่จะถามให้แน่ใจว่า (หากเคยมี) เพศสัมพันธ์ที่เคยมีมา มีการป้องกัน การติดเชื้อเอชไอวีหรือไม่
3. โอกาสการติดเชื้อเอชไอวีจากการมีเพศสัมพันธ์ จึงเกิดได้กับทุกคน ถ้าหากไม่รู้จัก ประวัติทางเพศของคู่นอนของตนและไม่ได้มีการป้องกัน การรักเดียวใจเดียว หรือการรักนวลสงวนตัวก็ติดเชื้อได้ ถ้าอีกฝ่ายเคยมีเพศสัมพันธ์มาก่อนโดยไม่ป้องกัน (เหมือนในกรณีอาสาสมัครแลกน้ำ ที่แลกเพียงครั้งเดียว)
4. เราไม่สามารถดูจากรูปลักษณ์ภายนอกได้ว่าใครติดเชื้อเอชไอวีหรือไม่ มักมีความเข้าใจผิดในเรื่องนี้ นำไปสู่การมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย
5. การตรวจสอบการติดเชื้อเอชไอวีในชีวิตจริงแตกต่างจากการทดสอบน้ำ โดยเฉพาะเมื่อคิดถึงผลกระทบที่ตามมาหลังพบว่าติดเชื้อ การตรวจเลือดจึงควรมีการเตรียมตัว ให้พร้อมที่จะรับกับสภาพต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้น ซึ่งหน่วยงานให้บริการเรื่องนี้จะให้คำปรึกษาร่วมด้วย
6. สามารถหลีกเลี่ยงและป้องกันการตั้งครรภ์และการติดเชื้อเอชไอวีได้ วิธีที่ได้ผลดีที่สุด คือ“การไม่มีเพศสัมพันธ์”หรือ“การมีเพศสัมพันธ์โดยใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่เพศสัมพันธ์แบบสอดใส่”และปัจจุบันก็มีถุงอนามัยสำหรับผู้หญิงแล้วด้วย แต่ค่าใช้จ่ายและ วิธีใช้อาจยุ่งยากกว่าถุงยางอนามัยชายอยู่บ้าง แต่ก็ถือว่าเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของการป้องกันการติดเชื้อจากการมีเพศสัมพันธ์ได้
7. ใครก็ตามที่มีคู่นอนมากกว่า 1 หรือคนรักของตนมีคู่นอนมากกว่า 1 ก็เสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวี หรือโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ทั้งนั้น (ไม่ใช่เรื่องของการเที่ยวพนักงานบริการเท่านั้น)
8. นอกจากนั้น ขณะนี้ก็มีหลายคนที่ติดเชื้อเอชไอวีแล้ว แต่ก็ไม่เกิดความท้อแท้ใจ เพราะสามารถมีชีวิตต่อไปได้ จากการรีบเข้าสู่ระบบบริการสุขภาพ ได้แก่ การรับคำปรึกษา การรับยาต้านไวรัส อย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งมีกำลังใจในการใช้ชีวิต ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีได้เหมือนคนทั่วไป
การปฏิบัติตัวเมื่อติดเชื้อเอชไอวี
- รีบเข้าสู่ระบบบริการรักษาโดยเร็ว
- กินยาต่อเนื่อง ตรงเวลา สม่ำเสมอ
- พบแพทย์ตามนัดพาคู่ไปตรวจ
- ใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์
- รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ พักผ่อนให้เพียงพอ และออกกำลังกายสม่ำเสมอ
การตรวจเอชไอวี
- ตรวจฟรีปีละ 2 ครั้ง
- คนไทยใช้ได้ทุกสิทธิการรักษา เพียงใช้บัตรประชาชน ที่โรงพยาบาลรัฐทุกแห่ง
- มีทั้งการตรวจแบบนิรนาม(ไม่ต้องแจ้งชื่อ-ที่อยู่) และการตรวจแบบรู้ผลวันเดียว
- ยิ่งตรวจเร็วยิ่งดีเพื่อรู้ว่าตนเองติดเชื้อหรือไม่ หากติดเชื้อ จะได้รับการรักษาได้ทันทีทุกระดับ CD4 หากไม่ติดเชื้อ จะได้รับการปรึกษา เพื่อป้องกันไม่ให้ติดเชื้อตลอดไป
- การเริ่มรักษาเร็วมีผลดี เชื้อเอชไอวีจะลดลงอย่างมาก ภูมิคุ้มกันจะสูงขึ้น ลดการเจ็บป่วยจากโรคติดเชื้อฉวยโอกาส ลดการถ่ายทอดเชื้อไปยังคู่ได้
ยาต้านไวรัส
1. การกินยาต้านไวรัสเพื่อป้องกันก่อนการสัมผัสเชื้อเอชไอวี (Pre-Exposure Prophylaxis; PrEP) ใช้ป้องกันสำหรับผู้มีพฤติกรรมเสี่ยงสูงต่อการรับเชื้อเอชไอวี เช่น คู่นอนของผู้มีเชื้อเอชไอวี ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้ง ชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย พนักงานบริการชายและหญิง ผู้ที่คู่นอนหรือตนเองใช้สารเสพติด ผู้ติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ภายใน 6 เดือนที่ผ่านมา
เพร็พ กินเพื่อป้องกันก่อนการติดเชื้อ ต้องกินเป็นประจำทุกวันหลักการคล้ายการกินยาคุมเพื่อป้องกันไม่ให้ท้อง ต้องกินก่อนมีพฤติกรรมเสี่ยง 1 สัปดาห์ จึงจะมีประสิทธิผลสูงสุด และกินทุกวันในช่วงมีพฤติกรรมเสี่ยง และต้องใช้เพร็พร่วมกับถุงยางอนามัย
2. การกินยาต้านไวรัสเพื่อป้องกันหลังการสัมผัสเชื้อเอชไอวี (Post-Exposure Prophylaxis; PEP) ใช้ป้องกันสำหรับกรณีบุคลากรทางการแพทย์ถูกเข็มที่สงสัยมีเชื้อเอชไอวีตำ หรือผู้ที่สัมผัสเชื้อจากอุบัติเหตุ ถุงยางแตก ถูกล่วงละเมิดทางเพศ ฯลฯ สามารถปรึกษาแพทย์และรับยาโดยเร็วภายใน 72 ชั่วโมงภายหลังการสัมผัสเชื้อ เพื่อป้องกันการติดเชื้อ
3. การกินยาต้านไวรัสเพื่อการรักษา (Antiretroviral Drug; ARV) หลังจากติดเชื้อเอชไอวีแล้ว เพื่อควบคุมปริมาณเชื้อเอชไอวี และลดการถ่ายทอดเชื้อไปยังผู้อื่น ใช้รักษาหลังจากรู้ผลการตรวจว่าติดเชื้อเอชไอวีกินได้ทันทีเมื่อมีความพร้อม และกินอย่างตรงเวลา สม่ำเสมอ ต่อเนื่อง
การละเมิดสิทธิส่วนบุคคล ในเรื่องเอชไอวี/เอดส์
1. การบังคับตรวจเอชไอวีทุกรูปแบบ ที่เป็นเงื่อนไขในการรับเข้าทำงาน รับเข้าเรียน เข้ารับบริการด้านสุขภาพ เข้าร่วมกลุ่มออมทรัพย์ ประกันชีวิต หรืออุปสมบท
2. การเปิดเผยผลเลือกต่อสาธารณชน หรือความประมาทเลินเล่อในการเก็บบันทึกเอกสารข้อมูล
3. การเลือกปฏิบัติ
- การเลือกปฏิบัติจากสถานการณ์ติดเชื้อเอชไอวีในสถานที่ทำงาน สถานศึกษา เลื่อนตำแหน่งให้ออกจากงาน ให้ออกจากสถานศึกษาหรือเปลี่ยนสาขาวิชา
- เลือกปฏิบัติโดยปฏิเสธผู้มีเชื้อเอชไอวีหรือถูกตั้งข้อสงสัยว่าอาจเป็นผู้มีเชื้อเอชไอวีในการเข้าถึงบริการสาธารณะ เช่น ประกันชีวิต เข้าร่วมกลุ่มออมทรัพย์ ใช้บริการร้านอาหารหรือโรงแรม
- การเลือกปฏิบัติต่อผู้มีเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ การเข้าถึงบริการการป้องกันและรักษาด้านสุขภาพ เช่น ปฏิเสธการผ่าตัด
- การเลือกปฏิบัติต่อกลุ่มบุคคลแบบเหมารวมว่าเป็นกลุ่มผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวี เช่น ไม่รับบริจาคเลือด
เอดส์ เราอยู่ร่วมกันได้
คนที่ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ สามารถอยู่ร่วมกับคนในสังคม และคนในครอบครัวได้ และสามารถทำงานได้เหมือนคนปกติทั่วไป เพราะเชื้อเอชไอวี /เอดส์ ไม่ได้ติดต่อกันโดยการสัมผัส การหายใจ การทำงานห้องเดียวกัน การกอด การรับประทานอาหารร่วมกัน การขับถ่าย การใช้ของร่วมกัน การอยู่ใกล้กัน การสนทนาพูดคุยกัน หรือถูกยุงกัด ดังนั้น จึงไม่ต้องแยกวงรับประทานอาหาร ไม่ต้องแยกห้องนอน-ห้องน้ำ อุปกรณ์ของใช้ต่างๆ หรือห้องทำงาน สิ่งที่ต้องระวัง คือ การมีเพศสัมพันธ์ การสัมผัสบริเวณที่มีแผลและมีเลือดที่ออกจากตัวผู้ป่วย
การประเมินความเสี่ยง: ปัจจัยที่มีผลต่อคุณภาพของเชื้อเอชไอวี
เชื้อเอชไอวีอยู่ได้เฉพาะในร่างกายมนุษย์เท่านั้นและต้องอยู่กับของเหลวหรือสารคัดหลั่งของมนุษย์ ที่พบมากที่สุด คือ เลือดและน้ำเหลือง รองลงมาได้แก่ น้ำอสุจิและน้ำในช่องคลอด ส่วนน้ำอื่นๆ เช่น น้ำตา เหงื่อ ปัสสาวะ น้ำลาย อาจจะมีเชื้อเอชไอวีปะปนได้แต่มีปริมาณไม่มากพอที่จะทำให้ติดเชื้อเอชไอวีได้ เชื้อเอชไอวีจะอยู่ได้นานเป็นวันหรือเป็นชั่วโมง เชื้อจะตายเร็วหรือช้าขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมภายนอก เช่น ถ้าถูกอากาศร้อน ความเป็นกรด-ด่าง แสงแดด เชื้ออาจจะตายเร็วขึ้น แต่ถ้ามีอุณหภูมิและความชื้นพอเหมาะหรือถ้าอยู่ในห้องที่มีอุณหภูมิ 20 องศาเซลเซียส ก็อาจจะอยู่ได้เป็นระยะเวลานานแต่ไม่ถึงสัปดาห์ โดยต้องอยู่ในสภาพที่ยังเป็นของเหลวเท่านั้น เช่น อยู่ในเลือดหรือในน้ำอสุจิเท่านั้น ถ้าของเหลวแห้งไปแล้วเชื้อก็จะตาย ถ้าถูกความร้อนตั้งแต่ 56 องศาเซลเซียส นาน 10-15 นาที เชื้อก็จะตายหมด และเชื้อไวรัสเอชไอวีสามารถถูกทำลายได้ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อหรือน้ำยาซักผ้าขาว
เชื้อเอชไอวีที่สามารถติดต่อกันได้ คือ เชื้อที่อยู่ในร่างกายของมนุษย์เท่านั้น เชื้อที่อยู่นอกร่างกาย บนพื้น หรืออยู่ในสัตว์อื่น ไม่สามารถติดต่อไปยังผู้อื่นได้ ดังนั้น การจะติดเชื้อเอชไอวีได้ จะต้องเกิดจากการได้รับหรือสัมผัสของเหลวที่มีเชื้อเอชไอวี เช่น เลือด น้ำเหลือง น้ำอสุจิ น้ำในช่องคลอด และต้องมีองค์ประกอบทั้ง 4 ปัจจัย
ทางออก (Exit) ได้แก่ บาดแผล อวัยวะเพศชาย-หญิง
ทางเข้า (Enter) ช่องทางเปิดรับเชื้อเข้าสู่ร่างกาย ช่องทางเดียวกับทางออก
เก่าหรือใหม่ (Survival) เชื้อเอชไอวีเมื่อออกมาอยู่นอกร่างกายมนุษย์จะมีชีวิตอยู่ได้ไม่นาน เมื่อถูกอากาศก็จะตายในเวลาอันรวดเร็ว ดังนั้น เชื้อเอชไอวีจึงไม่สามารถแพร่เชื้อจากการใช้ชีวิตประจำวันได้ง่ายๆ
ยกเว้นเป็นการกระทำที่มีบาดแผลเลือดออกและเกิดขึ้นทันที ทันใดต่อเนื่องจากคนๆ หนึ่งไปสู่อีกคนทันที เช่น การใช้แปรงสีฟันร่วมกัน การใช้มีดโกนหนวดที่มีเลือดสดติดอยู่ต่อจากคนที่ติดเชื้อเอชไอวี
มากหรือไม่ (Sufficient) ปริมาณของเชื้อเอชไอวีที่อยู่ในของเหลวแต่ละชนิดมีจำนวนไม่เท่ากัน โดยจะมีมากที่สุดในเลือดและน้ำเหลือง รองลงมา ได้แก่ น้ำอสุจิ และน้ำในช่องคลอด ดังนั้น การสัมผัสกับของเหลวดังกล่าวนี้จึงมีความเสี่ยงมากที่สุด แม้ว่าจะสัมผัสจำนวนเล็กน้อยก็ตาม แต่หากสัมผัสกับน้ำลายต้องมีปริมาณ มากถึง 2 ลิตร
เอชไอวี และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
ม 1 ไม่เอา ละเว้นการมีเพศสัมพันธ์
เป็นวิธีที่ช่วยลดความเสี่ยงได้ดีที่สุด เพราะไม่มีโอกาสได้รับเชื้อเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ แต่การมีความรู้สึกทางเพศเป็นสัญชาตญาณทางธรรมชาติของมนุษย์ เมื่อเกิดความต้องการทางเพศขึ้นมา ต้องการระบายหรือทำให้หายเครียดจากความรู้สึกนั้น คนที่ยึดถือการละเว้นทางเพศในข้อนี้หมายถึงไม่มีเพศสัมพันธ์กับผู้อื่น จึงต้องหาทางออกด้วยการสำเร็จความใคร่ด้วยตนเอง หรือ การช่วยตัวเอง (Masturbation) การช่วยตัวเองทำได้ทั้งชายและหญิง ไม่มีผลกระทบหรืออันตรายใดๆ เพียงแต่อย่าหมกมุ่นจนเกินไป (กรณีผู้หญิงไม่ควรใช้อวัยวะเพศเทียมหรืออุปกรณ์ร่วมกับผู้อื่น) มีประโยชน์หลายอย่าง เช่น ป้องกันปัญหาครอบครัว ปัญหาทางสังคม ปัญหาการฉุดคร่าข่มขืน การตั้งครรภ์ไม่พร้อม และยังมีประโยชน์ด้านสุขภาพมากมาย เช่น ลดความเครียด ไม่มีปัญหาการติดเชื้อเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ลดปัญหาการเป็นมะเร็งที่ต่อมลูกหมาก เป็นต้น
ม 2 ไม่มีคู่นอนหลายคน รักเดียวใจเดียว
หากตัดสินใจมีเพศสัมพันธ์ ขอให้ไตร่ตรองพิจารณาให้รอบคอบ มีเพศสัมพันธ์แบบพร้อมที่จะรับผิดชอบต่อผลที่จะเกิดขึ้น เช่น การดูแลกันทั้งทางร่างกายและจิตใจ โอกาสที่จะติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ หากตัดสินใจมีเพศสัมพันธ์ จึงควรมีความซื่อสัตย์ โดยมีรักเดียวใจเดียว เพื่อลดโอกาสเสี่ยงต่อปัญหาที่จะเกิดขึ้นดังที่กล่าวมาแล้ว เพราะการมีคู่นอนหลายคนจะเพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ อีกทั้งเราอาจจะไม่รู้ข้อเท็จจริงหรือข้อมูลในอดีตเกี่ยวกับคู่นอนเราทั้งหมด เช่น การมีคู่นอนหลายคน การติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ การติดเชื้อเอชไอวี
ม 3 ไม่มีถุง ไม่เอา
คือการใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้ง เมื่อมีเพศสัมพันธ์ หากมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่มิใช่คู่ครอง สามี-ภรรยา ต้องใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้ง โดยไม่มีข้อยกเว้น ไม่ว่าเขาจะดูดีเพียงใด มีการศึกษาสูงเพียงใด เพราะเราดูไม่ออก บอกไม่ได้ว่าใครติดเชื้อเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์แล้ว
ม 4 ไม่ตรวจ ไม่เอา ไม่แต่ง ไม่ท้อง
ต้องตรวจเลือดก่อนเมื่อตัดสินใจจะมีครอบครัว/มีลูก มีคู่ครองที่ถาวร ควรตรวจสุขภาพเพื่อดูว่าทั้งสองฝ่ายมีปัญหาสุขภาพที่อาจจะส่งผลต่อคู่ครองและบุตรหรือไม่ เช่น โรคติดต่อทางกรรมพันธุ์ โรคเลือด โรคตับอักเสบ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และการติดเชื้อเอชไอวี หากตัดสินใจมีลูก ต้องตรวจเลือดทุกครั้ง เพื่อป้องกันไม่ให้ลูกติดโรคที่ไม่พึงประสงค์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการติดเชื้อเอชไอวี และซิฟิลิส เพื่อทราบแนวทางปฏิบัติในการป้องกันการติดเชื้อไปสู่ลูก
ที่อยู่
:
88/21 ถนน ติวานนนท์ ตำบลตลาดขวัญ อำเภอเมือง จังหวัด นนทบุรี 11000
โทรศัพท์ 02-5903000
แฟกซ์
Email : [email protected]
© สงวนลิขสิทธิ์ 2561 : กรมควบคุมโรค