ระบาดวิทยา
โรคไข้เลือดออกเดงกี เป็นโรคติดเชื้อไวรัสเดงกีที่มียุงลายเป็นแมลงนำโรค โรคนี้ได้กลายเป็นปัญหาสาธารณสุขในหลายประเทศทั่วโลก เนื่องจากโรคได้แพร่กระจายอย่างกว้างขวางและจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างมากใน 30 ปีที่ผ่านมา มากกว่า 100 ประเทศที่โรคนี้กลายเป็นโรคประจำถิ่น และโรคนี้ยังคุกคามต่อสุขภาพของประชากรโลกมากกว่าร้อยละ 40 (2,500 ล้านคน) โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะพบมากในประเทศเขตร้อนและเขตอบอุ่น ซึ่งร้อยละ 70 ของผู้ป่วยทั้งหมดมาจากประเทศในภูมิภาคเอเชีย
สำหรับประเทศไทยเริ่มมีรายงานพบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกครั้งแรกในปี พ.ศ. 2492 และพบการระบาดครั้งแรกในปี พ.ศ. 2501 พบการระบาดใหญ่ที่สุดในปีพ.ศ. 2530 มีรายงานผู้ป่วยสูงถึง 170,000 กว่าราย เสียชีวิต 1,000 กว่าราย หลังจากนั้นประเทศไทยมีแนวโน้มของการพบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกเพิ่มขึ้น โดยในปีที่มีการระบาดใหญ่จะพบผู้ป่วยมากกว่า 100,000 ราย และเสียชีวิต 100 รายขึ้นไป
โรคไข้เลือดออกมีลักษณะที่แปรผันตามฤดูกาล (Seasonal variation) โดยจะเริ่มมีแนวโน้มผู้ป่วยสูงขึ้นในเดือนเมษายนและสูงสุดในเดือนมิถุนายน - สิงหาคม ซึ่งเป็นฤดูฝน เดือนกันยายนจะเริ่มมีแนวโน้มผู้ป่วยลดลง แตถ้าหากช่วงปลายปีจำนวนผู้ป่วยไม่ลดลงและยังคงสูงลอย อาจทำให้เกิดการระบาดต่อเนื่องในปีถัดไปได้
สาเหตุ
โรคไข้เลือดออกเกิดจากเชื้อไวรัสเดงกี (Dengue virus: DENV) เป็นไวรัสชนิดอาร์เอ็นเอสายเดี่ยวบวก (single – stranded RNA) อยู่ใน genus Flavivirus และ family Flaviviridae โดยโครงสร้างของไวรัสมีไขมันเป็นเปลือกหุ้ม (lipid envelope) และโครงสร้างภายในประกอบด้วย โปรตีนโครงสร้าง (Structural proteins) และ โปรตีนไม่ใช่โครงสร้าง (Non - structural proteins) ได้แก่ NS1, NS2A, NS2B, NS3, NS4A, NS4B และ NS5 โดยเซลล์ที่ติดเชื้อไวรัสจะมีการปล่อยโปรตีน NS1 ออกมาในระยะมีไข้เฉียบพลัน จึงทำให้ในปัจจุบันมีการใช้ชุดดตรวจชนิดรวดเร็วในการตรวจหาโปรตีน NS1 เพื่อการวินิจฉัยการติดเชื้อไวรัสเดงกี
ไวรัสเดงกีมี 4 ซีโรทัยป์ (Serotype) ได้แก่ DENV – 1, DENV – 2, DENV – 3 และ DENV – 4 โดยผู้ที่เคยติดเชื้อแล้วจะมีภูมิคุ้มกันต่อซีโรทัยป์ที่เคยได้รับไปตลอดชีวิต และจะมีภูมิคุ้มกันต่อซีโรทัยป์อื่น ในระยะสั้น ประมาณ 3 – 12 เดือน
วิธีการติดต่อ
การแพร่กระจายของไวรัสเดงกีอาศัยยุงลายบ้าน (Aedes aegypti) และยุงลายสวน (Aedes albopictus) เป็นพาหะนำโรคจากคนหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่ง โดยยุงลายเพศเมียดูดเลือดของผู้ที่ติดเชื้อไวรัสเดงกีที่อยู่ในระยะที่มีไวรัสในกระแสเลือด (Viremia) โดยทั่วไประยะ viremia จะอยู่ในช่วง 2 วันก่อนถึง 6 วันหลังวันที่เริ่มแสดงอาการ เมื่อยุงลายได้รับเชื้อไวรัสเดงกีจะใช้ระยะเวลาฟักตัว (Extrinsic incubation period; EIP) ประมาณ 8 – 12 วัน ถึงสามารถแพร่เชื้อไวรัสไปสู่คนได้ และเมื่ออีกคนได้รับเชื้อไวรัสเดงกีจะใช้เวลาประมาณ 3 – 14 วัน (เฉลี่ย 4 – 7 วัน) (Intrinsic incubation period; IIP) ถึงจะแสดงอาการของโรค ซึ่งบางรายอาจจะไม่แสดงอาการแต่สามารถแพร่เชื้อได้
ระยะฟักตัว
ระยะเวลาฟักตัวในยุง (Extrinsic incubation ; EIP) ประมาณ 8 – 12 วัน ถึงสามารถแพร่เชื้อไวรัสไปสู่คนได้
ระยะฟักตัวในคน (Intrinsic incubation period; IIP) ใช้เวลาประมาณ 3 – 14 วัน (เฉลี่ย 4 – 7 วัน) ถึงจะแสดงอาการของโรค ซึ่งบางรายอาจจะไม่แสดงอาการแต่สามารถแพร่เชื้อได้
ระยะติดต่อ
โรคไข้เลือดออกไม่สามารถติดต่อจากคนสู่คนได้โดยตรง ต้องอาศัยยุงลายเป็นพาหะนำโรค การติดต่อจึงต้องใช้เวลาในผู้ป่วยและในยุง ระยะที่ผู้ป่วยสามารถแพร่เชื้อได้คือ 2 วันก่อนถึง 6 วันหลังวันที่เริ่มแสดงอาการ และเมื่อยุงได้รับเชื้อไวรัสเดงกีจากผู้ป่วยจะใช้เวลาประมาณ 8 - 12 วันในการเพิ่มจำนวนเชื้อไวรัสจนมากพอ จึงจะเป็นระยะติดต่อจากยุงสู่คนได้
อัดเดตข้อมูล 10 สิงหาคม 2565
กลุ่มอาการทางคลินิก
องค์การอนามัยโลกได้จำแนกกลุ่มอาการโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเดงกี ตามลักษณะอาการทางคลินิก ดังต่อไปนี้
1. Undifferntiate fever; UF หรือกลุ่มอาการไวรัส มักพบในทารกหรือเด็กเล็ก มีเพียงอาการไข้ 2 - 3 วัน อาจมีผื่นแบบ Muculopapular rash มีอาการคล้ายกับโรคติดเชื้อไวรัสอื่น ซึ่งไม่สามารถวินิจฉัยได้จากอาการทางคลินิก
2. ไข้เดงกี (Dengue fever; DF) อาจมีอาการไม่รุนแรง มีเพียงไข้ร่วมกับปวดศีรษะ เมื่อยตัว หรือมีอาการแบบ classical DF คือ มีไข้สูงกะทันหัน ปวดศีรษะ ปวดกระบอกตา ปวดกล้ามเนื้อ ปวดกระดูก และมีผื่น อาจมีจุดเลือดออกที่ผิวหนัง สามารถตรวจได้ด้วย tourniquet test ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีเม็ดเลือดขาวต่ำ และอาจมีเกล็ดเลือดต่ำได้ ในผู้ใหญ่เมื่อหายแล้วจะมีอาการอ่อนเพลียอยู่นาน โดยทั่วไปไม่สามารถวินิจฉัยจากอาการทางคลินิกได้แน่นอน ต้องอาศัยการตรวจทางน้ำเหลืองหรือตรวจหาเชื้อไวรัส
3. ไข้เลือดออกเดงกี (Dengue heamorrhagic fever; DHF) มีอาการทางคลินิกที่ชัดเจน คือ มีไข้สูงลอย ร่วมกับอาการเลือดออก ตับโต และมีภาวะช็อกในรายที่รุนแรง ในระยะมีไข้มีอาการคล้าย DF และมีลักษณะเฉพาะของโรค คือ เกล็ดเลือดต่ำและมีการรั่วของพลาสมา ซึ่งถ้าพลาสมารั่วออกไปมาก จะเกิดภาวะช็อกที่เรียกว่า Dengue shock syndrome; DSS ซึ่งการรั่วของพลาสมาเป็นลักษณะเด่นของ DHF โดยสามารถตรวจพบได้จากระดับความเข้มข้นของเลือด (Hematocrit) สูงขึ้น และมีน้ำในเยื่อหุ้มปอดและช่องท้อง
4. ไข้เดงกีที่มีอาการแปลกออกไป (Expanded dengue syndrome; EDS) ที่พบส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะมีอาการทางสมอง ตับวาย ไตวาย ผู้ป่วยที่มีอาการทางสมองส่วนใหญ่เกิดจากภาวะช็อกนานและมีตับวายร่วมด้วย (Hepatic encephalophathy) ส่วนหนึ่งเกิดจากการติดเชื้อ 2 อย่างร่วมกัน หรือมีโรคประจำตัวอยู่เดิม
อ้างอิงจาก แนวทางการวินิจฉัยและรักษาโรคไข้เลือดออกเดงกี ฉบับเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษามหาราชินี; สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข
อัพเดตข้อมูล 10 สิงหาคม 2565
การป้องกันไม่ให้ป่วยเป็นโรคไข้เลือดออก
โรคไข้เลือดออกมีสาเหตุมาจากการถูกยุงลายที่มีเชื้อไวรัสเดงกีมากัด ดังนั้น วิธีการป้องกันที่ดีที่สุด คือ การป้องกันการถูกยุงกัด และการป้องกันไม่ให้ยุงเกิด โดยมีวิธีดังต่อไปนี้
1. การป้องกันยุงกัด ได้แก่ ทายากันยุง นอนในมุ้ง ให้เสื้อแขนยาวและกางเกงขายาว
2. การจัดการภาชนะหรือสภาพแวดล้อมไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย เช่น หมั่นเปลี่ยนน้ำในแจกันทุกสัปดาห์ ใช้ทรายกำจัดลูกน้ำในภาชนะน้ำใช้ ปิดฝาภาชนะน้ำกิน/น้ำใช้ให้มิดชิด คว่ำภาชนะที่ไม่ใช้ไม่ให้น้ำขังได้ ปล่อยปลากินลูกน้ำ เช่น ปลาหางนกยูงในอ่างบัว/ไม้น้ำ
3. เก็บบ้านให้ปลอดโปร่ง ไม่ให้มีมุมอับ เพื่อป้องกันยุงลายมาเกาะพัก
4. ใช้สเปรย์กระป๋องฉีดพ่นกำจัดยุงลายในบ้าน
การดูแลรักษา
ในปัจจุบันยังไม่มียาฆ่าเชื้อไวรัสเดงกี เป็นการรักษาตามอาการ แพทย์ผู้รักษาจะต้องเข้าใจธรรมชาติของโรค และให้การดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด โดยผู้ป่วยในระยะแรกอาจยังไม่ต้องรับไว้ในโรงพยาบาล โดยแพทย์จะนัดตรวจตามอาการตั้งแต่วันที่ 3 ของอาการไข้เป็นต้นไป โดยติดตามทุกวันจนผู้ป่วยไม่มีไข้อย่างน้อย 24 ชั่วโมง โดยไม่ใช้ยาลดไข้ สำหรับหลักการดูแลรักษาเมื่อเป็นไข้เลือดออกเบื้องต้น ได้แก่
1. พักผ่อนให้เพียงพอ
2. หากมีไข้ให้รับประทานยาพาราเซตามอลหรือเช็ดตัวเพื่อลดไข้ ห้ามรับประทานยาประเภท NSAIDs และ Steroids เช่น แอสไพริน ไอบูโพรเฟ่น โดยเด็ดขาด เนื่องจากยาเหล่านี้อาจะทำให้เกิดภาวะเลือดออกผิดปกติในทางเดินอาหาร เกิดภาวะตับ/ไตวานเฉียบพลัน
3. ควรรับประทานอาหารอ่อน ย่อยง่าย และหลีกเลี่ยงอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีสีดำ แดง น้ำตาล รวมทั้งการรับประทานยาที่ไม่จำเป็น
4. การให้สารน้ำทดแทนในปริมาณที่เพียงพอและเหมาะสม โดยการดื่มน้ำเกลือแร่หรือน้ำผลไม้แทนน้ำเปล่า เนื่องจากผู้ป่วยส่วนใหญ่มีไข้สูง เบื่ออาหาร และอาเจียน ทำให้ขาดน้ำและเกลือแร่
5. หากมีอาการที่เป็นสัญญาณเตือน (Warning sign) ว่าเข้าสู่ระยะวิกฤติ ให้รีบกลับมาพบแพทย์ทันที ได้แก่
- ไข้ลดลงแต่อาการไม่ดีขึ้น อ่อนเพลีย ไม่มีแรง กระสับกระส่าย
- ปวดท้องหรืออาเจียนมากกว่า 3 ครั้ง/วัน
- หน้ามืด จะเป็นลม เวียนศีรษะ หรือมือและเท้าเย็น ซึมลง
- ปัสสาวะลดลงหรือไม่มีปัสสาวะใน 4 - 6 ชั่วโมงที่ผ่านมา
- เลือดออกผิดปกติ เช่น เลือดกำเดาไหล อุจจาระสีดำ อาเจียนเป็นเลือด ประจำเดือนมานอกรอบหรือมามากผิดปกติ ปัสสาวะสีน้ำตาลเข้มหรือดำ
อ้างอิงจาก
1. แนวทางการวินิจฉัยและการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกเดงกีในผู้ใหญ่ พ.ศ. 2563 กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข
2. แนวทางการดูแลผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก สำหรับครอบครัว ศูนย์ไข้เลือดออก สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข
3. แนวทางการวินิจฉัยและรักษาโรคไข้เลือดออกเดงกี ฉบับเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษามหาราชินี; สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข
อัดเดตข้อมูล 10 สิงหาคม 2565
ที่อยู่
:
88/21 ถนน ติวานนนท์ ตำบลตลาดขวัญ อำเภอเมือง จังหวัด นนทบุรี 11000
โทรศัพท์ 02-5903000
แฟกซ์
Email : [email protected]
© สงวนลิขสิทธิ์ 2561 : กรมควบคุมโรค