“โรคเรื้อน” (Leprosy หรือ Hansen's Disease) เป็นโรคติดต่อเรื้อรังที่เกิดจากเชื้อ Mycobacterium leprae (M.leprae) เชื้อนี้ชอบอาศัยอยู่ในเส้นประสาทและผิวหนัง เมื่อร่างกายพยายามกำจัดเชื้อนเส้นประสาทจึงถูกทำลายและทำให้เกิดอาการทางผิวหนังตามไปด้วย หากไม่รีบรักษาจะทำให้เกิดความพิการของมือ เท้า และตา
การติดต่อ โรคเรื้อนสามารถติดต่อได้โดยทางเดินหายใจแต่ติดต่อได้ยาก ผู้ที่มีโอกาสเสี่ยงสูงในการติดเชื้อโรคเรื้อน คือ ผู้ที่สัมผัสคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่ยังไม่ได้รับการรักษา แต่หากผู้ป่วยได้รับการรักษาอย่างถูกต้องภายใน 7 วัน จะไม่สามารถแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นได้อีก
อาการของโรค
อาการเริ่มแรกของโรคนี้จะเป็นรอยโรคทางผิวหนังสีจางหรือเข้มข้นกว่าผิวหนังปกติ อาจพบขนร่วง เหงื่อไม่ออก ที่สำคัญคือ ในรอยโรคผิวหนังเหล่านี้จะมีอาการชา หยิกไม่เจ็บ ไม่คัน
โรคเรื้อนชนิดที่เป็นมาก จะมีผื่นนูนแดงหนา หรือมีตุ่มแดงไม่คัน โดยเฉพาะที่ใบหูจะนูนหนา อาจมีขนคิ้วร่วง ไม่ว่าผู้ป่วยในระยะเริ่มต้น หรือระยะที่เป็นมากแล้วก็ตาม ผู้ป่วยเหล่านี้จะไม่มีอาการคัน หรือเจ็บปวดเลย ซึ่งเป็นสาเหตุให้ผู้ป่วยชะล่าใจ คิดว่าไม่ใช่โรคร้ายแรงจึงไม่รีบมารับการรักษา
ลักษณะอาการทางผิวหนัง ที่สังเกตได้ง่ายคือ
- เป็นวงซีดจาง หรือเข้มกว่าผิวหนังปกติ มีอาการชา ผิวหนังแห้ง ขนร่วง เหงื่อไม่ออก
- เป็นผื่นรูปวงแหวนหรือแผ่นนูนแดง ขอบเขตผื่นชัดเจน มีอาการชา บางผื่นมีสีเข้มเป็นมัน บริเวณที่พบมากคือ แขน ขา หลัง และสะโพก
- เป็นตุ่ม และผื่นนูน แดง หนา ผิวหนังอิ่มฉ่ำ เป็นมัน ไม่คัน ผื่นมีจำนวนมาก รูปร่างและขนาดแตกต่างกัน กระจายไปทั่วตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น ใบหน้า ลำตัว แขน และขา
การดำเนินของโรคจะเป็นไปอย่างช้า ๆ ใช้เวลาเป็นปี หากไม่รักษาตั้งแต่เริ่มเป็น เมื่อเส้นประสาทถูกทำลายจะทำให้เกิดความพิการที่ตา มือ และเท้า
การรักษาโรค
โรคเรื้อนสามารถรักษาให้หายขาดได้โดยกินยาติดต่อกันเป็นเวลา 6 เดือน หรือ 2 ปี แล้วแต่ชนิดของโรค หากพบว่าทีรอยโรคที่ผิวหนัง มีอาการชา หรือเป็นโรคผิวหนังเรื้อรังใช้ยากิน ยาทา 3 เดือนแล้วไม่หายให้สงสัยว่าอาจเป็นโรคเรื้อน ควรรีบไปพบแพทย์
การป้องกันโรค
ประชาชนทุกคนควรหมั่นดูแลผิวหนัง ถ้าเป็นโรคผิวหนังที่ไม่คัน ไม่เจ็บและรักษาไม่หายภายในเวลา 3 เดือน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โรคผิวหนังที่มีอาการชาร่วมด้วยให้รีบไปพบแพทย์ที่สถานบริการใกล้บ้านเพื่อรับการตรวจรักษาหรือพบผู้สงสัยว่าจะเป็นโรคเรื้อน เช่น
- ผิวหนังเป็นวงด่าง สีจางหรือเข้มกว่าสีผิวปกติ มีอาการชาในรอยโรค ซึ่งจะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดความพิการและไม่แพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นด้วย
- ผู้ป่วยโรคเรื้อนที่มีความพิการเกิดขึ้นแล้ว เมื่อได้รับการรักษาก็จะสามารถป้องกันไม่ให้เกิดความพิการเพิ่มมากไปกว่าเดิมได้
- สำหรับผู้ที่อยู่ร่วมบ้านเดียวกับผู้ป่วยก่อนได้รับการรักษา 6 เดือน เป็นกลุ่มผู้สัมผัสโรคที่จำเป็นต้องตรวจร่างกายปีละครั้งเป็นเวลา 10 ปี
ความจริงเกี่ยวกับโรคเรื้อนที่ควรทราบ
- ผิวหนังเป็นวงด่าง มีอาการชา ผื่น ตุ่ม ไม่คัน ควรรีบไปรับการตรวจ
- ผู้สัมผัสโรคร่วมบ้านกับผู้ป่วย ควรไปรับการตรวจร่างกายปีละครั้ง
- ผู้ป่วยที่รับประทานยาสม่ำเสมอ จะหายจากโรคและไม่แพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่น ถึงแม้จะมีความพิการ
- ความพิการจากโรคเรื้อนบางอย่าง ถึงแม้จะรักษาโรคเรื้อนหายแล้ว ก็ไม่สามารถแก้ไขได้