โรคเอดส์ (Acquired Immune Deficiency Syndrome - AIDS)
เป็นกลุ่มอาการเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นเพราะร่างกายได้รับเชื้อไวรัสเอชไอวี (HIV) ซึ่งจะเข้าไปทำลายเม็ดเลือดขาว ที่เป็นแหล่งสร้างภูมิคุ้มกันโรค ทำให้ภูมิคุ้มกันโรคลดน้อยลง จึงทำให้ติดเชื้อโรคฉวยโอกาสแทรกซ้อนเข้าสู่ร่างกายได้ง่ายขึ้น เช่น วัณโรคในปอด หรือต่อมน้ำเหลือง เยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อรา โรคผิวหนังบางชนิด หรือเป็นมะเร็งบางชนิดได้ง่ายกว่าคนปกติ ซึ่งสาเหตุของการเสียชีวิตมักเกิดขึ้นจากโรคติดเชื้อฉวยโอกาสต่างๆ เหล่านี้ ให้อาการจะรุนแรง และเสียชีวิตอย่างรวดเร็ว จะรู้ว่าติดเชื้อเอชไอวีหรือไม่ ควรทำการตรวจเลือดหาเชื้อเอชไอวี (HIV test)
อาการของเอดส์ มี 2 ระยะ
1. ระยะไม่มีอาการ ผู้ติดเชื้อจะมีสุขภาพแข็งแรง ไม่มีอาการผิดปกติแต่อย่างใด ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่จะอยู่ในระยะนี้ และบางคนไม่ทราบว่า ตัวเองติดเชื้อ จึงอาจแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นได้
2. ระยะมีอาการ ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่จะเริ่มแสดงอาการ ภายหลังจากได้รับเชื้อประมาณ 7-8 ปี แบ่งเป็น 2 ระยะ คือ
- ระยะเริ่มปรากฏอาการ อาการที่พบคือ มีเชื้อราในปาก ต่อมน้ำเหลืองโต งูสวัด มีไข้ ท้องเสีย น้ำหนักลด มีตุ่มคันบริเวณผิวหนัง
- ระยะโรคเอดส์ เป็นระยะที่มีภูมิต้านทานลดลงมาก ทำให้ติดโรคติดเชื้อฉวยโอกาสได้ง่ายขึ้น เช่น วัณโรค ปอดบวม เยื่อหุ้มสมองอักเสบ เป็นต้น
เอดส์ติดต่อกันได้อย่างไร
1. การมีเพศสัมพันธ์
โดยไม่ใช้ถุงยางอนามัย ไม่ว่าชายกับชาย ชายกับหญิง หรือหญิงกับหญิง ทั้งช่องทางธรรมชาติ หรือไม่ธรรมชาติ มีโอกาสติดโรคได้ และปัจจัยที่ทำให้มีโอกาสติดเชื้อมากขึ้น ได้แก่ การมีแผลเปิด และจากข้อมูลของสำนักระบาดวิทยา ประมาณร้อยละ 84 ของผู้ป่วยเอดส์ ได้รับเชื้อจากการมีเพศสัมพันธ์
2. การรับเชื้อทางเลือด
- ใช้เข็มหรือกระบอกฉีดยาร่วมกับผู้ติดเชื้อเอดส์ มักพบในกลุ่มผู้ฉีดยาเสพติด และหากคนกลุ่มนี้ติดเชื้อ ก็สามารถถ่ายทอดเชื้อเอดส์ ทางเพศสัมพันธ์ได้อีกทางหนึ่ง
- รับเลือดในขณะผ่าตัด หรือเพื่อรักษาโรคเลือดบางชนิด ปัจจุบันเลือดที่ได้รับบริจาคต้องผ่านการตรวจหาการติดเชื้อเอดส์ และจะปลอดภัยเกือบ 100%
3. ทารกติดเชื้อจากแม่ที่ติดเชื้อเอดส์
การแพร่เชื้อจากแม่สู่ลูก ผู้หญิงที่ติดเชื้อเอดส์ หากตั้งครรภ์ และไม่ได้รับการดูแลอย่างดี เชื้อเอช ไอ วี จะแพร่ไปยังลูกได้ ในอัตราร้อยละ 30 จากกรณีเกิดจากแม่ติดเชื้อ จึงมีโอกาสที่จะรับเชื้อเอช ไอ วี จากแม่ได้
สถานการณ์ในปัจจุบัน
ปัจจุบันสถานการณ์โรคเอดส์ในประเทศไทย มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่เอดส์ก็ยังเป็นปัญหาสำคัญด้านสาธารณสุขของประเทศ ที่มีผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน และยังมีการรังเกียจ กีดกัน รวมถึงการเลือกปฏิบัติต่อผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ได้รับผลกระทบอื่นๆ ด้วย ข้อมูลในปี 2560 ที่ผ่านมา คาดว่าประเทศไทย มีผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ประมาณ 5,500 คน หรือเฉลี่ยวันละ 15 คน มีผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่มีชีวิตอยู่ประมาณ 440,000 คน ซึ่งได้รับการวินิจฉัยและรู้สถานะการติดเชื้อตนเองแล้วร้อยละ 98 แต่มีเพียงร้อยละ 75 ของผู้ที่รู้สถานะการติดเชื้อของตนเองได้รับการรักษาด้วยยาต้านไวรัส และในจำนวนของผู้ที่กำลังรับการรักษาด้วยยาต้านไวรัส มีเพียงร้อยละ 84 ที่กดไวรัสได้สำเร็จ
ปี 2560 ผลการคาดประมาณ
-ผู้อยู่ร่วมกับเชื้อฯ ที่มีชีวิตอยู่ (PLHIV) 439,610 คน
-ผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่(HIV New Infections) 5,529 คน
-ผู้เสียชีวิตจากเอดส์(AIDS Related Death) 14,731 คน
สถานการณ์โรคเอดส์ของเขตสุขภาพที่ 5 จังหวัดราชบุรีปี 2561
(ข้อมูลจาก NAP Program ณ วันที่ 7 ตุลาคม 2561)
ข้อมูลของผู้ที่ได้รับการตรวจเอชไอวีและรู้ผลการตรวจ 12 เดือนที่ผ่านมา 85,276 ราย ผลเลือดบวก 2,281 ราย คิดเป็นร้อยละ 2.67 มีผู้ติดเชื้อเอชไอวีทั้งหมด 49,559 ราย ได้รับการวินิจฉัยและรู้สถานะการติดเชื้อของตนเอง 37,627 ราย คิดเป็นร้อยละ 75.92 และผู้ที่รู้สถานะการติดเชื้อและรับยาต้านไวรัสจำนวน 28,116 ราย คิดเป็นร้อยละ 74.72 ผู้ติดเชื้อที่กินยาและสามารถกดไวรัสสำเร็จ 23,759 ราย คิดเป็นร้อยละ 84.50
การป้องกันตัวเอง ไม่ให้ติดเชื้อเอดส์ ได้อย่างไร
1. มีคู่นอนคนเดียว ไม่สำส่อนทางเพศ
2. ใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์
3. ขอรับบริการปรึกษา เรื่อง โรคเอดส์ ก่อนแต่งงาน และก่อนที่จะมีบุตรทุกท้อง
4. ไม่ดื่มเหล้า และงดใช้สารเสพติดทุกชนิด
5. ไม่ใช้สารเสพติดชนิดฉีดและใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน
ที่อยู่
:
88/21 ถนน ติวานนนท์ ตำบลตลาดขวัญ อำเภอเมือง จังหวัด นนทบุรี 11000
โทรศัพท์ 02-5903000
แฟกซ์
Email : [email protected]
© สงวนลิขสิทธิ์ 2561 : กรมควบคุมโรค