ประเทศไทยมีการกำหนดเป้าหมายในการดำเนินงานอุบัติเหตุทางถนน คือ การลดอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนให้ได้ไม่เกิน 10 คนต่อประชากรแสนคน ภายใน พ.ศ.2563 โดยในส่วนของกระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดเป้าหมายการดำเนินงานอุบัติเหตุทางถนน ให้สอดคล้องกับเป้าหมายของประเทศ และสอดคล้องเป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals หรือ SDGs) โดยหนึ่งในเป้าหมายของ SDGs เป้าหมายที่ 3 คือ การสร้างหลักประกันว่า คนมีชีวิตที่มีสุขภาพดีและส่งเสริมสวัสดิภาพสำหรับทุกคนในทุกวัย และได้กำหนดเรื่องการลดอัตราการเสียชีวิตและการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุการจราจรทางถนนให้ได้ครึ่งหนึ่งภายในปี 2563 โดยเป้าหมายในระดับประเทศ ลดอัตราตายจากอุบัติเหตุทางถนนไม่เกิน 16.4 ต่อประชากรแสนคน ภายในปี 2565 (ตามร่างแผนแม่บทความปลอดภัยทางถนน 2561- 2565) และในปี 2562 ลดอัตราตายจากอุบัติเหตุทางถนนไม่เกิน 23.2 ต่อประชากรแสนคน
ปัญหาอุบัติเหตุทางถนนของประเทศไทยยังคงเป็นปัญหาที่สำคัญ ที่สร้างความสูญเสียและคุณภาพชีวิตของประชาชนไทยจากข้อมูลการบูรณาการ 3 ฐาน ปี 2554 - 2559 มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนเฉลี่ย 21,200 คน/ปี คิดเป็น 32.6 ต่อประชากรแสนคนหรือวันละ 60 คน/วัน มีผู้บาดเจ็บนอนรักษาใน รพ. ประมาณ 200,000 คน/ปี และผู้พิการอีกปีละ 9,000 คน ซึ่งแนวโน้มของปัญหายังอยู่ในอัตราที่สูงมาก เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้ว ซึ่งไม่เกิน 10 ต่อประชากรแสนคน
แนวโน้มการลดลงของปัญหาอุบัติเหตุทางถนนยังคงทรงตัวไม่ลดลง ประกอบกับจำนวนยานพาหนะและการสัญจรเพิ่มขึ้นตามการเจริญเติมโตทางเศรษฐกิจ การบังคับใช้กฎหมายยังมีข้อจำกัดทั้งด้านกำลังคนและการใช้เทคโนโลยี การดำเนินการในระดับพื้นที่ระดับชุมชน/บุคคล ยังมีน้อย ประชาชนและชุมชนยังไม่ตระหนัก โดยพิจารณาปัญหาในประเด็นต่างๆ ดังนี้
1. ด้านบุคคล พบว่า ประชาชนยังขาดความตระหนักในความปลอดภัย โดยพิจารณาได้จาก อัตราการสวมหมวกนิรภัยภัยที่ยังน้อย มีพฤติกรรมเสี่ยงที่ยังเพิ่มขึ้น การขับรถเร็ว การดื่มแล้วขับ รวมถึงค่านิยมต่างๆที่ไม่ปลอดภัย การให้เยาวชนน้อยกว่าอายุ 15 ปี ขับขี่รถจักรยานยนต์ การโดยสารท้ายกระบะรถบรรทุก เป็นต้น
2. ด้านการบังคับใช้กฎหมาย พบว่า การบังคับใช้กฎหมายยังมีข้อจำกัด ทั้งด้านกำลังคนและการใช้เทคโนโลยี โดยมีความจำเป็นในการแก้กฎหมายให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ได้แก่ การไม่ชำระค่าปรับเชื่อมโยงกับการต่อภาษีประจำปีหรือการต่ออายุใบอนุญาตขับรถ การตัดคะแนนใบอนุญาตขับรถ การใช้กล้อง CCTV สำหรับตรวจจับการฝ่าสัญญาณไฟจราจร ความเร็ว และการไม่สวมหมวกนิรภัย เป็นต้น ซึ่งกำลังอยู่ในขั้นตอนการแก้กฎหมายที่ต้องใช้ระยะเวลานาน
3. ด้านกลไกการดำเนินงานในระดับพื้นที่ การจัดการปัญหาในระดับอำเภอถือว่ามีความเหมาะสมในการดำเนินงานที่สามารถเข้าถึงระดับชุมชนและท้องถิ่น โดยใช้กลไกผ่านศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยทางถนนในระดับอำเภอ (ศปถ.อำเภอ) และเชื่อมโยงการทำงานกับศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยทางถนนท้องถิ่น (ศปถ.ท้องถิ่น) และคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) แต่การดำเนินงานยังไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร โดยเฉพาะอำเภอเสี่ยง มีข้อค้นพบสำคัญ ดังนี้
3.1 ในด้านบุคลากร ยังต้องเพิ่มทักษะการจัดการข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ สำหรับนำไปสู่การวิเคราะห์ถึงรากของปัญหา รวมทั้งการชี้เป้าในระดับท้องถิ่น/ชุมชน และการเชื่องโยงข้อมูลสู่การสร้างมาตรการที่หวังผล เป็นผลให้มาตรการแก้ปัญหาแบบเดิมๆ ไม่ Focus กลุ่มเป้าหมาย และเน้นรณรงค์ประชาสัมพันธ์ และส่วนใหญ่ไม่ประเมินผลมาตรการ
3.2 ด้านนโยบายและกลไกการทำงาน พบว่า คณะกรรมการ พชอ. มีข้อจำกัดการทำงานหากไม่เชื่อมโยงกับ ศปถ.อำเภอ โดยเฉพาะเครือข่ายในอำเภอที่มีหน้าที่โดยตรง และมีมุมมองว่าเป็นงานของฝ่ายสาธารณสุข และระดับนโยบายยังไม่ถูกกระตุ้นการทำงานในทิศทางเดียวกันจากหน่วยงานส่วนกลาง ทำให้เกิดการกำกับติดตามไม่ต่อเนื่อง
นโยบายการดำเนินงานป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน กรอบการดำเนินงานด้านความปลอดภัยทางถนน
ตามที่สหประชาชาติประกาศเจตนารมณ์ให้ปี 2554 – 2563 เป็นทศวรรษแห่งความปลอดภัยทางถนน ที่จะลดการอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนลงครึ่งหนึ่งภายใน ปี 2563 และได้เสนอให้แต่ละประเทศดำเนินการตามกรอบการทำงานของ 5 เสาหลัก เพื่อยกระดับความปลอดภัยทางถนน โดยมุ่งเน้นใน 5 ด้าน คือ
เสาหลักที่ 1 การบริหารจัดการความปลอดภัยทางถนน ในการกำหนดหน่วยงานหลักในการรับผิดชอบ ทิศทาง เป้าหมาย นโยบาย ยุทธศาสตร์ และงบประมาณในการจัดการความปลอดภัยทางถนน
เสาหลักที่ 2 โครงสร้างพื้นฐาน เพื่อยกระดับถนนให้เหมาะแก่ผู้ใช้ทางทุกกลุ่ม รวมทั้งการประเมินและ Rating วิจัยพัฒนาด้านถนนและการสัญจรปลอดภัย
เสาหลักที่ 3 พาหนะปลอดภัย พัฒนามาตรฐานยานยนต์ให้ได้ตามมาตรฐานความปลอดภัยของ UN World Forum for Harmonization of Vehicle regulations ประเมินความปลอดภัยของรถรุ่นใหม่มีการทดสอบการชน NCAP และรถใหม่ต้องติดตั้งเข็มขัดนิรภัยทุกที่นั่ง
เสาหลักที่ 4 พฤติกรรมของผู้ใช้ถนน พัฒนาการปรับปรุงพฤติกรรมการใช้ถนนอย่างรอบด้าน เพิ่มระดับการบังคับใช้กฎหมายควบคู่การรณรงค์สร้างความรู้ เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงต่างๆ
เสาหลักที่ 5 การตอบสนองหลังเกิดเหตุ พัฒนาและเตรียมความพร้อมการตอบสนองหลังเกิดเหตุ ตั้งแต่ก่อนถึงโรงพยาบาล ไปจนถึงการรักษา ฟื้นฟู บำบัด และเยียวยา ส่งเสริมการมีอาชีพของผู้พิการเนื่องจากอุบัติเหตุ และส่งเสริมงานวิจัยเพื่อปรับปรุงการตอบสนองหลังเกิดเหตุ
กำหนดแนวทางการดำเนินงานในภายใต้กรอบทศวรรษแห่งความปลอดภัยทางถนนใน 8 ประเด็น ดังนี้
1. ส่งเสริมการสวมหมวกนิรภัย โดยมีเป้าหมายให้ผู้ขับขี่และผู้ซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ทุกคนต้องสวมหมวกนิรภัย
2. ลดพฤติกรรมเสี่ยงจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แล้วขับขี่ยานพาหนะ โดยมีเป้าหมายให้พฤติกรรมเมาแล้วขับของผู้ขับขี่ยานพาหนะลดลง
3. แก้ไขปัญหาจุดเสี่ยง จุดอันตรายโดยมีเป้าหมายให้จุดเสี่ยงทุกจุดได้รับการแก้ไขภายในระยะเวลาที่กำหนด
4. ปรับพฤติกรรมของผู้ขับขี่ยานพาหนะให้ใช้ความเร็วตามที่กฎหมายกำหนดโดยเฉพาะความเร็วของรถจักรยานยนต์ รถโดยสารสารธารณะและรถบรรทุก
5. ยกระดับมาตรฐานยานพาหนะให้ปลอดภัยโดยเฉพาะมาตรฐานของรถจักรยานยนต์ รถกระบะรถโดยสารสาธารณะ และรถบรรทุก
6. พัฒนาสมรรถนะของผู้ใช้รถใช้ถนน (Road users) ให้มีความปลอดภัย
7. พัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉิน การรักษาและฟื้นฟูผู้บาดเจ็บ เพื่อให้การบริการระบบการแพทย์ฉุกเฉิน การรักษาและฟื้นฟูผู้บาดเจ็บได้อย่างทั่วถึงและรวดเร็ว
8. พัฒนาระบบการบริหารจัดการความปลอดภัยทางถนนของประเทศให้มีความเข้มแข็งเพื่อให้หน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบ มีความพร้อมในการปฏิบัติภารกิจที่ได้รับมอบหมายอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ประเทศไทยได้มีนำกรอบการดำเนินงานข้างต้นมาปรับใช้ในการป้องกันอุบัติเหตุทางถนนของประเทศไทย โดยผ่านโครงสร้างของคณะกรรมการ จึงออกคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีเมื่อปี พ.ศ.2554 เพื่อกำหนดให้มีการดำเนินงานแบบบูรณาการโดยเฉพาะหน่วยงาน 5 เสาหลักและภาคีที่เกี่ยวข้องเข้ามาร่วมดำเนินการ ซึ่งแบ่งเป็น 3 ระดับ ดังนี้
ระดับนโยบาย มีคณะกรรมการนโยบายป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนแห่งชาติ
ระดับอำนวยการ ส่วนกลาง มีศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน และ 6 อนุกรรมการ
ส่วนภูมิภาคและกทม. มีศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนจังหวัด และศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนกรุงเทพมหานคร
ระดับปฏิบัติการ ศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยทางถนนอำเภอ
ศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยทางถนนเขต
ศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยทางถนนองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น
นโยบายการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนของกระทรวงสาธารณสุข
กระทรวงสาธารณสุขเป็นหนึ่งในหน่วยงานที่รับผิดชอบในเสาหลักที่ 5 หรืออนุกรรมการด้านการสอบสนองหลังเกิดเหตุ และอนุกรรมการด้านการบริหารจัดการข้อมูลและการติดตามประเมินผล ซึ่งได้มีกำหนดกรอบการดำเนินงานตั้งแต่ปี 2559 ให้ภายในกระทรวงดำเนินการภายใต้กรอบการดำเนินงาน 4x4 ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
1. ด้านบริหารจัดการ
1.1. ให้จัดตั้ง SAT/EOC-RTI เพื่อให้มีการเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์การบาดเจ็บจากการจราจรทางถนนในพื้นที่ และตอบสนองได้อย่างทันเหตุการณ์ รวมถึงมีข้อมูลในการนำไปสื่อสารความเสี่ยงต่อเครือข่าย
1.2 ให้มีโครงสร้าง TEA Unit ในระดับรพ. A S M1 เพื่อให้เกิดการใช้ข้อมูลการบาดเจ็บในโรงพยาบาลในการพัฒนาคุณภาพการให้บริการ และนำไปสู่การป้องกันการบาดเจ็บทุกสาเหตุ
1.3 สสอ./รพช./คปสอ. เป็นเลขาร่วมฯ ใน ศปถ.อำเภอเพื่อให้การทำงานในระดับอำเภอเกิดการขับเคลื่อนการทำงาน สสอ. รพ. เป็นหน่วยงานเสนอข้อมูลตั้งต้นที่ดีในระดับอำเภอ
1.4 อำเภอเสี่ยงมีการบูรณการงาน RTI ใน พชอ.หรือ ศปถ. ปี 2562 ให้อำเภอที่มีการบาดเจ็บหรือเสียชีวิตสูงจำนวน 2562 ต้องขับเคลื่อนการป้องกันอุบัติเหตุทางถนน จำนวน 283 อำเภอ
2. ด้านข้อมูล
2.1 Integration Data 3 ฐาน คือให้หน่วยงานสาธารณสุขผลักดันให้เกิดการบูรณาการข้อมูลการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน จาก 3 หน่วยงาน เพื่อนำมาใช้เป็นข้อมูลในการเฝ้าระวังและแก้ไขปัญหา
2.2 ให้มีดำเนินการ IS online ในรพ.A S M1 เพื่อให้มีข้อมูลเชิงคุณภาพในการนำมาใช้วิเคราะห์ วางแผน และคืนข้อมูล จนนำไปสู่การแก้ไขได้อย่างมีประสิทธิภาพ
2.3 Information Black Spot ผ่าน ศปถ. อย่างน้อย 5 จุด/ไตรมาส คือการคืนข้อมูลจุดเสี่ยงที่มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันแก้ไขปัญหาจุดเสี่ยงไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำ
2.4 Investigation online ผลักดันให้เกิดฐานข้อมูลการสอบสวนที่สามารถนำไปใช้แก้ไขปัญหาในภาพจังหวัด เขต และประเทศ
3. ด้านการป้องกัน
3.1 D-RTI (อำเภอ) พชอ./ศปถ. เป็นกรอบการดำเนินงานป้องกันอุบัติเหตุทางถนนระดับอำเภอ โดยนำหลักการ 5ส. (1.สารสนเทศคือรวบรวม วิเคราะห์หาสาเหตุ 2.สหสาขา ที่เป็นแกนหลักร่วมกันวางแผนแก้ไขปัญหา 3.สุดเสี่ยง กำหนดปัจจัย พฤติกรรมเสี่ยงสำคัญ 4.ส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการปัญหา 5.สุดคุ้ม โดยเลือกมาตรการที่ได้ผลจริงและคุ้มค่า ) มาปรับใช้และกำหนดเป็นกิจกรรมทั้งหมด 8 กิจกรรมเพื่อให้เกิดการทำงานอย่างเป็นระบบ ได้แก่ 1.) การวิเคราะห์ข้อมูล แนวโน้มการบาดเจ็บหรือเสียชีวิต ตามหลักระบาดวิทยา 2.) สอบสวนการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากการจราจรทางถนนโดยใช้ Haddon’s matrix 3.) Problem identification โดยใช้แผนภูมิต้นไม้เพื่อวิเคราะห์หาปัญหา 4.) ขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาแบบมีส่วนร่วม ผ่านพชอ.หรือศปถ.อำเภอ สร้างบันไดผลลัพธ์ 5.) ดำเนินมาตรการให้สอดคล้องกับผลการวิเคราะห์ปัญหาของอำเภอ 6.) มีทีม (RTI Team) และผลการดำเนินป้องกันการบาดเจ็บทางถนนในระดับตำบล/หมู่บ้าน/ศปถ.อปท. 7.)มีการระบุจุดเสี่ยงและดำเนินการแก้ไข หรือมีการกำหนดเขตพื้นที่จราจรปลอดภัย (Safety Zone) 8.) มีการสรุปและประเมินผลการดำเนินมาตรการ ผลลัพธ์ การเกิดอุบัติเหตุ การบาดเจ็บและเสียชีวิต ปัจจัยแห่งความสำเร็จและปัญหาอุปสรรค
3.2 Community Road Safety การผลักดันให้เกิดความปลอดภัยในชุมชน ด้วยมาตรการของชุมชน/หมู่บ้าน/ท้องถิ่น/ตำบล เช่น ด่านชุมชน ด่านครอบครัว การแก้ไขจุดเสี่ยง
3.3 Ambulance Safety ผลักดันให้เกิดความปลอดภัยในรถพยาบาล เพื่อความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ และผู้ป่วยหรือญาติที่โดยสารบนรถพยาบาล
3.4 RTI Officer เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยทางถนน (จปถ.) กำหนดให้มีผู้รับผิดชอบหลักในการส่งเสริม ดูแล ให้เกิดความปลอดภัยในการเดินทางของเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทุกแห่ง
4. ด้านการรักษา (2EIR)
4.1 EMS คุณภาพ คือ พัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉิน สมรรถนะของบุคลากร และเตรียมความพร้อมรองรับเหตุฉุกเฉินให้มีประสิทธิภาพ
4.2 ER คุณภาพ คือ การพัฒนา ควบคุม กำกับคุณภาพของห้องฉุกเฉินให้เป็นไปตามมาตรฐาน
4.3 In-hos คุณภาพ คือ การพัฒนาการดูแลรักษาภายในโรงพยาบาลให้เป็นไปตามมาตรฐาน
4.4 Referral System พัฒนาระบบการส่งต่อผู้บาดเจ็บให้มีประสิทธิภาพเพื่อลดอัตราการเสียชีวิต หรือพิการจากระบบส่งต่อ
ที่อยู่
:
88/21 ถนน ติวานนนท์ ตำบลตลาดขวัญ อำเภอเมือง จังหวัด นนทบุรี 11000
โทรศัพท์ 02-5903000
แฟกซ์
Email : [email protected]
© สงวนลิขสิทธิ์ 2561 : กรมควบคุมโรค