ลักษณะโรค
เป็นโรคติดเชื้อระบบทางเดินอาหารจากแบคทีเรียชนิดเฉียบพลัน เริ่มด้วยอาการถ่ายอุจจาระเป็นน้ำอย่างมากโดยไม่มีอาการปวดท้อง บางรายอุจจาระขาวขุ่นเหมือนน้ำซาวข้าว บางครั้งมีคลื่นไส้ อาเจียน สูญเสียน้ำอย่างรวดเร็วจนเกิดภาวะเป็นกรดในเลือด และการไหลเวียนโลหิตล้มเหลว สำหรับเชื้อโรคอุจจาระร่วงอย่างแรง(อหิวาตกโรค) ชนิด El Tor biotype ผู้ป่วยอาจไม่มีอาการเลยก็ได้ ในรายรุนแรงน้อยอาจพบแต่อาการถ่ายเป็นน้ำ พบได้บ่อยในเด็ก ในรายที่มีอาการรุนแรงและไม่ได้รับการรักษาผู้ป่วยอาจตายในเวลา 2-3 ชั่วโมง และอัตราป่วยตายสูงมากกว่าร้อยละ 50 แต่ถ้าได้รับการรักษาถูกต้องและทันท่วงที อัตราป่วยตายจะลดลงเหลือต่ำกว่าร้อยละ 1
การวินิจฉัยโรค
ใช้วิธีการเพาะเชื้อจากอุจจาระหรือดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ชนิด darkfield หรือ phase contrast จะเห็นลักษณะการเคลื่อนที่แบบเฉพาะของเชื้อ Vibrio ซึ่งจะถูกยับยั้งด้วย antiserum จำเพาะ ในพื้นที่ที่เกิดการติดเชื้อใหม่ๆ การแยกเชื้อต้องยืนยันด้วยการทดสอบทางชีวเคมีเบื้องต้น ถ้าเป็นไปได้ควรทดสอบดูด้วยว่าเชื้อโรคผลิตสารพิษด้วยหรือไม่ ในพื้นที่ที่ไม่ใช่เขตโรคประจำถิ่น เชื้อที่แยกได้จากผู้ป่วยที่ต้องสงสัยรายแรกๆ ต้องยืนยันโดยการทดสอบทางชีวเคมีและซีโรโลยี่ที่เหมาะสมและสารพิษที่เชื้อสร้างขึ้นด้วย
สาเหตุ
เกิดจากการติดเชื้อ Vibrio cholerae serogroup O(โอ)1 ซึ่งมี 2 biotypes คือ classical และ El Tor แต่ละ biotype แบ่งออกได้เป็น 3 serotypes คือ Inaba, Ogawa และ Hikojima เชื้อเหล่านี้จะสร้างสารพิษเรียกว่า Cholera toxin ทำให้เกิดอาการป่วยคล้ายกัน ปัจจุบันพบว่าการระบาดส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อ biotype El Tor เป็นหลักแทบไม่พบ biotype classical เลย ในปี พ.ศ. 2535-2536 เกิดการระบาดครั้งใหญ่ในอินเดียและบังคลาเทศสาเหตุเกิดจากเชื้อสายพันธุ์ใหม่คือ Vibrio cholerae O139 โดยที่ครั้งแรกตรวจพบสาเหตุการระบาดจากเชื้อ V. cholerae non O1 ที่ไม่ทำปฏิกิริยากับ V. cholerae antiserun O2-O138 ซึ่งปรกติกลไกก่อโรคจากเชื้อกลุ่มนี้มิได้เกิดจาก Cholera toxin สายพันธุ์ใหม่ที่พบสามารถสร้าง Cholera toxin ได้เหมือน Vibrio cholerae O1 ต่างกันที่โครงสร้าง Lipopolysaccharides (LPS) ที่เป็นส่วนประกอบของผนังเซลล์ของเชื้อ อาการทางคลินิกและลักษณะทางระบาดวิทยาเหมือนกับโรคอุจจาระร่วงอย่างแรงทุกประการ ดังนั้นองค์การอนามัยโลกแนะนำให้รายงานว่าเป็นโรคอุจจาระร่วงอย่างแรงด้วย สำหรับเชื้อ V. cholerae ในปัจจุบันมีถึง 194 serogroups การรายงานเชื้อที่ไม่ใช่ทั้ง O1 และ O139 ให้เรียกว่าเป็น V. cholerae non O1/non O139 ซึ่งเป็นกลุ่มที่ก่อให้เกิดอาการกระเพาะและลำไส้อักเสบ เชื้อ V. cholerae non O1/non O139 บาง serotypes อาจผลิต cholera toxin ก่อให้เกิดอาการคล้ายโรคอุจจาระร่วงอย่างแรงได้ จึงจำเป็นต้องตรวจการสร้างสารพิษชนิดนี้ด้วยเพื่อป้องกันการระบาดใหญ่
วิธีติดต่อ
ติดต่อโดยการกินอาหารหรือน้ำที่มีเชื้อที่มีชีวิตปนอยู่ เชื้อ El Tor สามารถมีชีวิตอยู่ในน้ำได้เป็นเวลานาน การรับประทานอาหารทะเลดิบ หรืออาหารดิบๆสุกๆ เป็นสาเหตุของการระบาดทั่วไป การติดต่อระหว่างบุคคลสู่บุคคลโดยตรง พบได้น้อยมาก
ระยะฟักตัว
ตั้งแต่ 2-3 ชั่วโมง ไปจนถึง 5 วัน เฉลี่ยประมาณ 2-3 วัน
ระยะติดต่อ
ตลอดระยะเวลาที่ตรวจพบเชื้อในอุจจาระ ซึ่งปกติจะพบเชื้อได้อีก 2-3 วัน หลังจากผู้ป่วยอาการดีขึ้นแล้ว แต่บางรายอาจกลายเป็นพาหะต่อไปได้อีกหลายเดือน การให้ยาปฏิชีวนะ เช่น tetracycline จะช่วยลดระยะเวลาการแพร่เชื้อ ในผู้ใหญ่พบว่าการติดเชื้อเรื้อรังที่ทางเดินน้ำดี อาจเป็นได้นานเป็นปี และร่วมกับมีการปล่อยเชื้อ Vibrio ออกมากับอุจจาระเป็น ระยะได้
อาการและอาการแสดง
ถ่ายเป็นน้ำจำนวนมาก มีเนื้ออุจจาระน้อย เกิดขึ้นอย่างเฉียบพลันร่วมกับมีอาการและอาการแสดงของการขาดน้ำอย่างรวดเร็วและรุนแรง อาจมีคลื่นไส้ อาเจียน ส่วนใหญ่ไม่มีไข้ ไม่ปวดท้อง
การรักษาจำเพาะ
จำเป็นต้องรีบให้การรักษาอย่างทันท่วงทีด้วยสารน้ำที่ประกอบด้วยสารละลายเกลือแร่ในปริมาณที่พอเพียงเพื่อแก้ไขภาวะเลือดเป็นกรดและภาวะโปแตสเซียมในเลือดต่ำ ในผู้ป่วยส่วนใหญ่สามารถให้การรักษาโดยให้สารละลายดังกล่าวทางปาก ในปริมาณที่เทียบเท่ากับปริมาณน้ำที่สูญเสียไปโดยประมาณคือ ร้อยละ 5 ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมในรายที่เป็นน้อยร้อยละ 7 ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมในรายที่มีอาการปานกลาง และร้อยละ 10 ในผู้ป่วยมีอาการช็อค ควรให้น้ำเกลือ isotonic ทางหลอดเลือดทันที น้ำเกลือควรประกอบด้วยไบคาร์บอเนต (อะซิเตรต หรือแล็กเตตไอออน) 24-48 มิลลิอิควิวาเลนต์ต่อลิตร และ 10-15 มิลลิอิควิวาเลนต์ต่อลิตรของโปแตสเซียม เช่น Dacca solution หรือ Ringer’s lactate ภายหลังการให้สารน้ำทางหลอดเลือดจนกระแสไหลเวียนโลหิตดีขึ้นแล้ว จึงเปลี่ยนมาให้ทางปากได้เพื่อรักษาความคงตัวของสมดุลสารน้ำและเกลือแร่ในร่างกาย
การพิจารณาเลือกชนิดของยาปฏิชีวนะในการรักษา ควรใช้ข้อมูลการเฝ้าระวังการดื้อยาของเชื้อทางห้องปฏิบัติการเพื่อทราบแนวโน้มการดื้อยาประกอบการพิจารณา เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อดื้อยา ในปัจจุบันสามารถเลือกใช้ยาที่เหมาะสม (First drug of choice) ในรายที่อาการรุนแรงให้พิจารณาในการรักษาโดยให้ยาปฏิชีวนะ tetracycline หรือยาปฏิชีวนะตัวอื่นๆ จะช่วยลดระยะของโรคให้สั้นลง ลดการสูญเสียน้ำ ตลอดจนลดระยะของการแพร่เชื้อลง
ยาปฏิชีวนะองค์การอนามัยโลกให้คำแนะนำการรักษาคือ
วิธีการควบคุมและป้องกันโรค
1 มาตรการป้องกัน:
2. การควบคุมผู้ป่วย ผู้สัมผัส และสิ่งแวดล้อม:
การรายงาน:- ระบบเฝ้าระวังโรคของสำนักระบาดวิทยา กระทรวงสาธารณสุข หากมีผู้ป่วยอุจจาระร่วงเกิดขึ้นพร้อมกันมากกว่า 2 ราย ในสถานเลี้ยงเด็ก ซึ่งต้องให้การรักษา แสดงว่ามีการระบาดต้องทำการสอบสวนโรค
การแยกผู้ป่วย:- สำหรับผู้ที่ต้องรับตัวไว้รักษาในโรงพยาบาล มาตรการแยกผู้ป่วยอย่างเด็ดขาดถือว่าไม่จำเป็น ถ้าหากมีการจัดการด้านสุขอานามัยอย่างดี ควรระมัดระวังการปนเปื้อนเชื้อจากอุจจาระผู้ป่วยหรือผู้สงสัยว่าอาจจะป่วย ไม่ควรประกอบอาหารหรือดูแลเด็ก หรือผู้ป่วยจนกว่าผลการตรวจอุจจาระหรอ rectal swabให้ผลลบ 2 ครั้งเก็บตัวอย่างอุจจาระห่างกัน 24 ชั่วโมงขึ้นไปและไม่เร็วกว่า 48 ชั่วโมงภายหลังได้รับยาปฏิชีวนะ
การทำลายเชื้อ:- มีการกำจัดอุจจาระและอาเจียนของผู้ป่วยอย่างดีโดยใช้ความร้อน กรดคาร์บอริกหรือสารทำลายเชื้อตัวอื่นๆ และฆ่าเชื้อในข้าวของเครื่องใช้
การแยกผู้ต้องสงสัย:- ระมัดระวังการปนเปื้อนเชื้อจากอุจจาระผู้ป่วย
การให้ภูมิคุ้มกันแก่ผู้สัมผัส:- ในกรณีผู้สัมผัสผู้ป่วยโรคอุจจาระร่วงอย่างแรงควรมีการติดตาม เฝ้าระวังอีกเป็นเวลาอย่างน้อย 5 วันหลังจากการสัมผัส การให้ยาป้องกันกลุ่มคนจำนวนมากไม่นิยมทำแต่แนะนำให้บุคคลผู้อาศัยร่วมอยู่ในบ้านเดียวกันกับผู้ป่วย
การสอบสวนผู้สัมผัส:- โดยการสอบสวนโรคดูตามบุคคล เวลา และสถานที่ และพยายามสอบสวนหาปัจจัยเสี่ยงและแหล่งแพร่กระจายของเชื้อ เช่น น้ำ หรืออาหาร เป็นต้น การเพาะเชื้อจากอุจจาระผู้ป่วย แนะนำให้ทำในผู้สัมผัสโรคในพื้นที่ที่ไม่เคยมีการติดเชื้อมาก่อนเพื่อดำเนินการควบคุม
3. มาตรการในระยะระบาด:
3.1 เมื่อมีการระบาดในสถานเลี้ยงเด็กควรทำ ดังนี้
3.2 จัดมาตรการการรักษาให้ได้ผล
3.3 จัดหาน้ำสะอาดเพื่อการอุปโภคและบริโภค
3.4 จัดหามาตรการการกำจัดขยะและสิ่งปฏิกูลที่ถูกต้อง
3.5 มีการสอบสวนโรคอย่างละเอียดโดยเฉพาะด้านบุคคล เวลา และสถานที่ เพื่อหามาตรการควบคุมต่อไป
3.6 แนะนำให้ใช้ภาชนะปกปิดอาหารและน้ำเพื่อป้องกันการปนเปื้อนของเชื้อจากแมลงวัน
3.7 มีการควบคุมและกำจัดแมลงวันและแหล่งแพร่พันธุ์ของแมลงวัน
3.8 วัคซีนไม่เหมาะที่ใช้ในสถานการณ์ที่กำลังมีการระบาด
4. โอกาสที่จะเกิดการระบาดใหญ่:
ในพื้นที่ที่มีอหิวาตกโรคชุกชุม และมีประชากรแออัด โดยที่การจัดการสุขาภิบาลไม่เพียงพอ ย่อมมีโอกาสเสี่ยงต่อการระบาดของโรคสูง
ที่อยู่
:
88/21 ถนน ติวานนนท์ ตำบลตลาดขวัญ อำเภอเมือง จังหวัด นนทบุรี 11000
โทรศัพท์ 02-5903000
แฟกซ์
Email : [email protected]
© สงวนลิขสิทธิ์ 2561 : กรมควบคุมโรค