กองวัณโรค
Responsive image

องค์การอนามัยโลก (WHO) จับมือกระทรวงสาธารณสุข ทบทวนและเร่งรัดการควบคุมวัณโรค ตามแผนงานวัณโรคแห่งชาติ

องค์การอนามัยโลก (WHO) จับมือกระทรวงสาธารณสุข ทบทวนและเร่งรัดการควบคุมวัณโรค

ตามแผนงานวัณโรคแห่งชาติ

***************************************************************************

องค์การอนามัยโลก (WHO) ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข ทบทวนแผนงานวัณโรคแห่งชาติ และสรุปผลการทบทวนแผนงานวัณโรคแห่งชาติโดยผู้เชี่ยวชาญจากองค์การอนามัยโลกและองค์กรนานาชาติ พร้อมมุ่งเป้าดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์  Global End TB Strategy ลดอัตราป่วยวัณโรคเหลือ 10 ต่อประชากรแสนคน ในปี 2578

          วันนี้ (6 มิถุนายน 2565) ที่ โรงแรมรอยัล ออคิด เชอราตัน ถ.เจริญกรุง กรุงเทพมหานคร นายแพทย์ประพนธ์ ตั้งศรีเกียรติกุล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี  นายแพทย์ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์       รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข Dr. Pierre-Yves Norval หัวหน้าคณะผู้เชี่ยวชาญองค์การอนามัยโลก (WHO) และองค์กรนานาชาติ ร่วมการแถลงข่าว “สรุปผลการทบทวนแผนงานวัณโรคแห่งชาติ ครั้งที่ 6 โดยคณะผู้เชี่ยวชาญองค์การอนามัยโลกและองค์กรนานาชาติ”

นายแพทย์ประพนธ์ ตั้งศรีเกียรติกุล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เป็นโอกาสดีที่องค์การอนามัยโลกได้มีการทบทวนแผนงานวัณโรคแห่งชาติ โดยคณะผู้เชี่ยวชาญองค์การอนามัยโลกและองค์กรนานาชาติรวมกันลงพื้นที่ วิเคราะห์ ประเมิน ทบทวนแผนงานวัณโรค ซึ่งครั้งนี้เป็นครั้งที่ 6 วัณโรคยังเป็นโรคที่ระบาดในหลายประเทศทั่วโลก และเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตของประชาชนราว 1.5 ล้านคนต่อปี ในปี พ.ศ.2564 องค์การอนามัยโลกประกาศให้ประเทศไทยพ้นจาก 14 ประเทศที่มีปัญหาเรื่องวัณโรคดื้อยาสูงที่สุดของโลก  แต่ยังคงเป็นหนึ่งในสามสิบประเทศที่ยังมีอัตราของผู้ป่วยวัณโรคสูงที่สุดของโลกอยู่ ถึงแม้ว่า    ประเทศไทยจะมีการระบาดของ COVID-19 ซึ่งจำเป็นต้องระดมทรัพยากรจำนวนมาก แต่กระทรวงสาธารณสุขก็ยังคงให้ความสำคัญกับการเร่งรัดควบคุมป้องกันวัณโรค โดยเฉพาะวัณโรคดื้อยาหลายขนาน (MDR-TB) โดยกำหนดมาตรการและตัวชี้วัด เช่น เร่งรัดค้นหาผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยวัณโรคในกลุ่มเสี่ยง สนับสนุนงานวิจัยและนวัตกรรม รวมถึงพร้อมที่สรรหาแหล่งเงินทุนและจัดสรรสนับสนุนงบประมาณ ในการควบคุมป้องกันวัณโรค เพื่อ “ยุติการแพร่ระบาด” ให้ได้ตามเป้าหมาย         

 Pierre-Yves Norval Dr. หัวหน้าคณะผู้เชี่ยวชาญทบทวนแผนงานวัณโรคของไทยครั้งที่ 6 นี้ กล่าวสรุปผลการทบทวนโดยมีข้อเสนอแนะเพื่อพัฒนาแผนงานวัณโรคแห่งชาติ ได้แก่ 1) การประสานความร่วมมือกับกระทรวงที่เกี่ยวข้องเพื่อกำหนดมาตรการทางด้านสังคมในการดูแลผู้ป่วยวัณโรค 2) เพิ่มสิทธิประโยชน์จากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และประกันสังคม ให้ครอบคลุมตามมาตรฐานในการดูแลควบคุมป้องกันควบคุมวัณโรค 4) ประสานความร่วมมือกับกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ให้การสนับสนุนช่วยเหลือทางด้านเศษฐกิจในกลุ่มผู้ป่วยวัณโรคแรงงานข้ามชาติที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน และส่งเสริมให้แรงงานข้ามชาติเข้าถึงหลักประกันสุขภาพด้านการป้องกันและรักษาวัณโรค 5) ขยายความครอบคลุมในการคัดกรองวัณโรคในกลุ่มเสี่ยงโดยการมีส่วนร่วมของชุมชนเพิ่มขึ้น รวมทั้งการรักษาเพื่อการป้องกันวัณโรคระยะแฝงโดยใช้ระบบยาระยะสั้นในผู้สัมผัสร่วมบ้าน กลุ่มผู้ติดเชื้อ HIV และกลุ่มเสี่ยงอื่นๆ 6) ขยายการใช้การตราวจวินิจฉัยโดยวิธีนูชีวโมเลกุลตามแนวทางการวินิจฉัยอย่างรวดเร็วของ WHO  ให้สามารถเพิ่มกาตรวจค้นหาผู้ป่วยเพื่อขึ้นเบียนรักษาอย่างรวมเร็ว และ เพิ่มการทดสอบความไวของเชื้อยาได้อย่างครอบลุมมากยิ่งขึ้น

          นายแพทย์ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรค เป็นศูนย์กลางในการขับเคลื่อนการดำเนินงานยุทธศาสตร์สู่เป้าหมายยุติวัณโรคของประเทศไทย ให้ได้ตามเป้าหมายของการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ยุติวัณโรค (End TB Strategy) ในระดับนานาชาติ และยึดหลัก 5 ยุทธศาสตร์หลักที่สำคัญ ได้แก่   1) เร่งรัดการค้นหาและวินิจฉัยผู้ติดเชื้อวัณโรคและผู้ป่วยวัณโรค 2) ลดการเสียชีวิตของผู้ป่วยวัณโรค 3) พัฒนาศักยภาพของบุคลากร 4) สร้างกลไกการบริหารจัดการเชิงยุทธศาสตร์อย่างยั่งยืน 5) ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนานวัตกรรรมด้านวัณโรค

          นายแพทย์ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ กล่าวปิดท้าย การดำเนินงานตามแผนงานวัณโรคแห่งชาติของประเทศไทยยังคงต้องมีการพัฒนาจุดอ่อน เพิ่มศักยภาพจุดแข็ง และความท้าทายเพื่อยุติวัณโรค ในทุกๆด้านอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้เทียบเท่าหรือเป็นผู้นำของระดับนานาชาติ ทั้งนี้ข้อเสนอแนะที่ได้จากผู้เชี่ยวชาญในครั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข  กรมควบคุมโรค จะนำไปพัฒนา เพื่อขับเคลื่อนเชิงนโยบายในการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับแผนงานวัณโรคแห่งชาติ (National TB program) โดยสนับสนุนการเสริมสร้างระบสาธารณสุขให้เข้มแข็ง การเชื่อมต่อการดูแลรักษาผู้ป่วยจากโรงพยาบาลและชุมชน โดยมีผู้ป่วยวัณโรคเป็นศูนย์กลาง ตลอดจนสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีการตรวจวินิจฉัยที่ทันสมัย เพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุดและมีโอกาสเข้าถึงระบบบริการสาธารณสุขของประเทศ  ที่จะเอาชนะปัญหาวัณโรคที่เป็นภัยคุกคาม และประสบความสำเร็จในการยุติวัณโรคของประเทศ  ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ TB-Free Thailand For TB-Free World “เมืองไทยปลอดวัณโรค เพื่อโลกปลอดวัณโรค” ต่อไป

 


ข่าวสารอื่นๆ