ดีเดย์ 1 ต.ค.65 นี้ สปสช.เพิ่ม “สิทธิประโยชน์คัดกรองวัณโรคใน 7 กลุ่มเสี่ยง “คนไทย ทุกคนทุกสิทธิ”
กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ผลักดันการดำเนินงานเพื่อยุติวัณโรคในประเทศไทย ด้วยการเพิ่มสิทธิประโยชน์ “ตรวจคัดกรองวัณโรค” ในทุกคนบนผืนแผ่นดินไทย ซึ่งเป็นสิทธิระโยชน์ของคนไทยทุกคน ไม่ได้จำกัดเฉพาะผู้ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) เท่านั้น แต่รวมถึงผู้ที่ใช้สิทธิประกันสังคม สวัสดิการข้าราชการ ตลอดจนสิทธิสุขภาพอื่นๆ ด้วย ทั้งนี้ให้เริ่มดำเนินการได้ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2565 เป็นตันไป โดยมีเป้าหมายลดอัตราป่วยวัณโรครายใหม่เหลือ 10 ราย ต่อประชากรแสนคน ในปี 2578 ด้วยกลยุทธ์ “ค้นให้พบ จบด้วยหาย” นำไปสู่เมืองไทยปลอดวัณโรค
วันที่ 4 กรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมา นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เผยมีมติอนุมัติและเห็นชอบข้อเสนองบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 โดยมีการขยายสิทธิประโยชน์การคัดกรองวัณโรคได้ทุกสิทธิสำหรับคนไทยทุกคน ซึ่งเป็นบริการภายใต้กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่ สปสช. ได้จัดสรรงบประมาณเพื่อสนับสนุนให้ประชาชนไทยทุกคนทุกสิทธิการรักษาพยาบาลได้เข้าถึงการรับบริการค้ดกรองวัณโรค เพื่อป้องกันวัณโรคโรคและประชาชนไทยมีสุขภาพที่ดี
ด้านแพทย์หญิงผลิน กมลวัทน์ ผู้อำนวยการกองวัณโรค กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ปัจจุบันวัณโรคยังเป็นโรคติดเชื้อที่เป็นสาเหตุการตายอันดับหนึ่งของประเทศไทย จากรายงานวัณโรคของโลกปี 2564 (Global Tuberculosis Report 2021) ขององค์การอนามัยโลก พบว่า ประเทศไทยมีอัตราป่วยวัณโรครายใหม่สูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลกกว่าหนึ่งเท่า และมีผู้ป่วยที่ถูกตรวจพบและรายงานร้อยละ 84 ของที่คาดประมาณเท่านั้น ซึ่งสะท้อนถึงการที่ผู้ป่วยส่วนหนึ่ง เข้าไม่ถึงการรักษาหรือเข้าถึงล่าช้า ทำให้เชื้อแพร่กระจายไปในชุมชน องค์การสหประชาชาติ จึงได้กำหนดให้การควบคุมและป้องกันวัณโรคเป็นเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ยุติวัณโรค (End TB Strategy) ตามองค์การอนามัยโลก(WHO) และแผนปฏิบัติการระดับชาติด้านการต่อต้านวัณโรค ให้บรรลุเป้าหมายลดอัตราป่วยวัณโรครายใหม่ให้เหลือ 10 ราย ต่อประชากรแสนคนในปี 2578
ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 นี้ กรมควบคุมโรค ร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เร่งผลักดันเพิ่มสิทธิประโยชน์ในการตรวจคัดกรองวัณโรคด้วยวิธีการถ่ายภาพรังสีทรวงอก (CXR) และตรวจวินิจฉัยวัณโรคด้วยวิธีอณูชีววิทยา (Molecular assay) ใน 7 กลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ในกลุ่มเสี่ยงสูง ได้แก่ 1. ผู้สัมผัสร่วมบ้านหรือผู้สัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยวัณโรคปอด 2. ผู้ต้องขังในเรือนจำ ผู้อาศัยในสถานคุ้มครองและพัฒนานาคนพิการหรือสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง 3. ผู้ติดเชื้อเอซไอวี 4. ผู้ป่วยโรคที่ทำให้ภูมิคุ้มกันลดลง อาทิ ผู้ป่วยเบาหวานที่ควบคุมระดับน้ำตาลไม่ได้ ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง หรือได้รับ ยากดภูมิคุ้มกัน 5. ผู้สูงอายุมากกว่า 65 ปี ที่สูบบุหรี่ หรือมีโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) หรือโรคเบาหวานร่วมด้วย 6. ผู้ใช้สารเสพติด ติดสุร่าเรื้อรัง และ 7. บุคลากรสาธารณสุข ให้กับประชาชนคนไทยทุกคน ในทุกๆสิทธิการรักษา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อค้นหาผู้ป่วยวัณโรคอย่างทั่วถึงและครอบคลุม รวมทั้งเพิ่มศักยภาพของการคัดกรองวัณโรคในกลุ่มเสี่ยงให้กับทุกโรงพยาบาลทั่วประเทศ ซึ่งจะช่วยผลักดันให้ลดปัญหาการแพร่ระบาดวัณโรค และสามารถเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยวัณโรคและประชาชนคนไทยทั่วประเทศ
แพทย์หญิงผลิน กล่าวเพิ่มเติมว่า อยากจะขอเน้นย้ำว่าคนไทยที่เข้าข่ายเป็นกลุ่มเสี่ยงดังกล่าวทุกคนสามารถเข้ารับการตรวจคัดกรองวัณโรคได้ ณ โรงพยาบาลตามสิทธิการรักษา และขอเชิญชวนให้ผู้ที่เข้าข่ายเป็นกลุ่มเสี่ยงนั้น รีบไปเข้ารับการตรวจคัดกรองวัณโรคโดยเร็วที่สุด ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยของตัวท่านเอง คนในครอบครัว คนใกล้ชิด และป้องกันการแพร่เชื้อไปสู่คนรอบข้าง หากตรวจคัดกรองแล้วพบว่าแพทย์วินิจฉัยว่าเป็นวัณโรคก็สามารถเข้ารับการรักษาตามขั้นตอนมาตรฐานโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ทุกคนในทุกๆ สิทธิการรักษา ทั้งผู้มีสิทธิบัตรทอง สิทธิประกันสังคม สิทธิสวัสดิการข้าราชการ และสิทธิรักษาพยาบาลอื่นๆ
แพทย์หญิงผลิน กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันขอขอบคุณทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งภารัฐและเอกชนโดยเฉพาะแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่ที่ดูแลผู้ป่วยและประชาชนโดยตรง ได้ร่วมมือกันดำเนินการจนทำให้อัตราอุบัติการณ์วัณโรคของประเทศไทยลดลงมาอย่างต่อเนื่อง โดยใช้กลยุทธ์ “ค้นให้พบ จบด้วยหาย” ในการค้นหาผู้ป่วยวัณโรคให้เข้าสู่ระบบให้เร็วที่สุด ตลอดจนดูแลรักษาให้หายจากวัณโรค เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อไปสู่คนรอบข้าง ซึ่งจะนำไปสู่การยุติวัณโรคเพื่อให้เมืองไทยปลอดวัณโรค ต่อไป