สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 3 นครสวรรค์
Responsive image

สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 3 จังหวัดนครสวรรค์ เตือนประชาชนในเขตสุขภาพที่ 3 ช่วงวันลอยกระทง ระวังอุบัติเหตุการจุดพลุ ประทัด ดอกไม้ไฟ และการจมน้ำ

นายแพทย์ดิเรก ขำแป้น ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 3 จังหวัดนครสวรรค์ กล่าวว่า วันลอยกระทงในปีนี้ ตรงกับวันอังคารที่ 8 พฤศจิกายน 2565 ในเทศกาลวันลอยกระทง มีประชาชนได้รับอุบัติเหตุจากการจุดพลุ ประทัด ดอกไม้ไฟ ทำให้บาดเจ็บ สูญเสียอวัยวะสำคัญหรือเสียชีวิต และจมน้ำเสียชีวิต จากข้อมูลระบบเฝ้าระวังการบาดเจ็บของกรมควบคุมโรค ช่วงวันลอยกระทง 3 วัน (ก่อน ระหว่าง และหลังวันลอยกระทง) ในปี 2561-2563 พบว่ามีผู้ได้รับบาดเจ็บรุนแรงจากพลุ ประทัด และดอกไม้ไฟ จำนวน 112 ราย กลุ่มอายุที่พบมากสุด คือ 15-29 ปี (ร้อยละ 32.1) รองลงมาเป็นกลุ่มเด็กอายุ 1-14 ปี (ร้อยละ 25.9) โดยอวัยวะที่ได้รับบาดเจ็บรุนแรงมากที่สุด คือ ข้อมือและมือ ร้อยละ 36.6 รองลงมา คือ ศีรษะ ร้อยละ 17 ส่วนใหญ่มีแผลเปิดที่ศีรษะ ร้อยละ 42.1 และได้รับบาดเจ็บที่ตา ร้อยละ 26.3 และสถานการณ์การจมน้ำในช่วงวันลอยกระทง 5 ปีที่ผ่านมา (ปี 2559-2563) จากข้อมูลมรณบัตร กองยุทธศาสตร์และแผนงาน สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข พบว่า วันลอยกระทงวันเดียว มีคนจมน้ำเสียชีวิต 55 คน กลุ่มอายุที่พบมากที่สุด คือ 45-59 ปี (ร้อยละ 34.5) และเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ถึง 1 ใน 5 สำหรับสถานการณ์ในเขตสุขภาพที่ 3 (เฉพาะช่วงลอยกระทง) พบว่าเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2562 จังหวัดกำแพงเพชร พบผู้เสียชีวิตจากการจมน้ำจำนวน 1 ราย เนื่องจากล่องเรือลงแม่น้ำปิง เพื่อทดสอบกระทงสาย แม่น้ำไหลเชี่ยว จึงทำให้เกิดเรือล่ม

คำแนะนำในการป้องกันการบาดเจ็บจากพลุ ประทัด ดอกไม้ไฟ มีดังนี้ 1.ไม่ควรให้เด็กจุดพลุ ประทัด ดอกไม้ไฟด้วยตนเอง และไม่ควรอยู่ใกล้บริเวณดังกล่าว 2.สอนให้เด็กรู้ว่าพลุ ประทัด ดอกไม้ไฟ ไม่ใช่ของเล่น แต่เป็นสิ่งที่อันตราย อาจก่อให้เกิดอันตรายได้ 3.ไม่ควรเก็บพลุ ประทัด ดอกไม้ไฟ ที่จุดแล้วไม่ติดมาเล่น หรือจุดซ้ำเด็ดขาด เพราะอาจเกิดการระเบิดได้ 4.หากจำเป็นต้องจุดพลุ ประทัด ดอกไม้ไฟ ในงานพิธีต่างๆ ควรอ่านคำแนะนำ อย่างละเอียด และอยู่ห่างอย่างน้อย 1 ช่วงแขน ทั้งนี้ หากพบเห็นหรือเกิดอุบัติเหตุ การปฐมพยาบาลเบื้องต้นเมื่อนิ้ว หรืออวัยวะใดอวัยวะหนึ่งขาดจากแรงระเบิด ให้รีบห้ามเลือดบริเวณที่อวัยวะขาด โดยใช้ผ้าสะอาดปิดบาดแผลและพันบาดแผลให้แน่นเพื่อป้องกันเลือดออก ไม่ควรใช้เชือกหรือสายรัดเหนือแผลเพราะจะทำให้เส้นประสาทหรือหลอดเลือดเสียหายได้ และรีบโทรแจ้งขอความช่วยเหลือจากทีมแพทย์กู้ชีพ โทร.1669 อย่างไรก็ตามการเล่นดอกไม้ไฟจนเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายหรือทำให้เกิดเพลิงไหม้จะถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย

คำแนะนำป้องกันการจมน้ำช่วงลอยกระทง สำหรับประชาชน มีดังนี้ 1.ลอยกระทงอย่างปลอดภัย ให้ยึดหลัก 4 อ. “อย่ายืนใกล้ขอบบ่อ อย่าลงไปเก็บกระทง/เงินในกระทง อย่าก้มไปลอยกระทง อย่าดื่มสุรา” 2.อย่าปล่อยให้เด็กลอยกระทงเพียงลำพัง แม้แต่ในกะละมัง ถัง โอ่ง เพราะอาจพลัดตกน้ำเสียชีวิตได้ และสำหรับหน่วยงาน คือ 1.กำหนดพื้นที่สำหรับจัดงานลอยกระทงอย่างชัดเจน มีแสงสว่างเพียงพอ มีรั้วหรือสิ่งกั้นขวาง ป้องกันการพลัดตกน้ำ 2.จัดเตรียมอุปกรณ์สำหรับช่วยคนตกน้ำ จมน้ำ ไว้บริเวณแหล่งน้ำเป็นระยะ เช่น ห่วงชูชีพ ถังแกลลอน เชือก ไม้ 3.สำหรับการเดินทางทางน้ำ ต้องจัดเตรียมเสื้อชูชีพให้เพียงพอต่อ ผู้โดยสาร และให้มีการสวมใส่ทุกครั้งก่อนออกเดินทาง 4.จัดให้มีเจ้าหน้าที่คอยดูแลสอดส่อง และช่วยเหลือเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินตลอดระยะเวลาการจัดงาน

 

จัดทำโดย : กลุ่มสื่อสารความเสี่ยงโรคและภัยสุขภาพ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 3 จังหวัดนครสวรรค์

ข้อมูล : วันที่ 2 พฤศจิกายน 2565


ข่าวสารอื่นๆ