นายแพทย์ชยนันท์ สิทธิบุศย์ ผู้อำนวยการกองงานคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ เปิดเผยว่ากองงานฯ ได้ส่งทีมพนักงานเจ้าหน้าที่ฯ ลงพื้นที่เพื่อสนับสนุน ในการปฏิบัติงานตรวจสอบและบังคับใช้กฎหมาย สำหรับความผิดทางพินัย ภายใต้พระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560 โดยเน้นการบูรณาการร่วมกับสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 11 , 9 , 4 และสาธารณสุขจังหวัด รวม 3 ภาค โดยผลจากการลงพื้นที่พบว่า ยังมีผู้ประกอบการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามกฎหมายพนักงานเจ้าหน้าที่ในพื้นที่จึงได้รวบรวมพยานหลักฐานและดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
โดยเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2567 ที่จังหวัดกระบี่ พนักงานเจ้าหน้าที่ฯ และเจ้าหน้าที่ของรัฐ ร่วมลงพื้นที่ พบว่า มีร้านค้าบางแห่งฝ่าฝืนแสดงผลิตภัณฑ์ยาสูบ ณ สถานที่ขายปลีก ซึ่งผิดกฎหมายตามมาตรา 36 วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 40,000 บาท และมีการแสดงชื่อและราคาของผลิตภัณฑ์ยาสูบ และการแสดงการเป็นสถานที่ขายปลีกไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งมีความผิดตามมาตรา 36 วรรคสอง ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท และยังพบสถานีบริการน้ำมันบางแห่งที่ผู้ดำเนินการจัดให้มีเครื่องหมายเขตปลอดบุหรี่ไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งมีความผิดตามมาตรา 45 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท
ในขณะที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2567 พนักงานเจ้าหน้าที่ฯ และเจ้าหน้าที่ของรัฐ ร่วมลงพื้นที่ ฯ ได้ลงพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ พบ ร้านค้ามีการแบ่งขายผลิตภัณฑ์ยาสูบประเภทบุหรี่ซิกาแรต ซึ่งเป็นการฝ่าผืนกฎหมาย ตามมาตรา 39 วรรคสอง ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 40,000 บาท และมีการแสดงผลิตภัณฑ์ยาสูบ ณ สถานที่ขายปลีก ซึ่งมีความผิดตามมาตรา 36 วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 40,000 บาท ประกอบกับมีการแสดงชื่อและราคาของผลิตภัณฑ์ยาสูบ ไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งมีความผิดตามมาตรา 36 วรรคสอง ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท และยังพบสถานีบริการน้ำมันบางแห่งที่ผู้ดำเนินการไม่จัดเขตปลอดบุหรี่ให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งมีความผิดตามมาตรา 43 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท อีกทั้งยังพบผู้ฝ่าฝืนสูบบุหรี่ภายในสถานีบริการน้ำมันซึ่งเป็นเขตปลอดบุหรี่ตามกฎหมาย อันเป็นการกระทำความผิดตามมาตรา 42 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ของรัฐ ได้ชี้แจงข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย สิทธิของผู้ถูกกล่าวหา และรวบรวมพยานหลักฐาน พร้อมทั้งแจ้งข้อกล่าวหากับผู้กระทำความผิด เพื่อดำเนินการปรับเป็นพินัยต่อไป
และภาคกลาง พนักงานเจ้าหน้าที่ฯ และเจ้าหน้าที่ของรัฐ ได้ลงพื้นที่จังหวัดอ่างทอง พบ ร้านค้า มีการขายผลิตภัณฑ์ยาสูบ โดยแจก แถม ให้ หรือแลกเปลี่ยนผลิตภัณฑ์ยาสูบกับสินค้าอื่น ซึ่งเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายตามมาตรา 27(4) และมีการแสดงผลิตภัณฑ์ยาสูบ ณ สถานที่ ขายปลีก ซึ่งเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายตามมาตรา 36 วรรคหนึ่ง แสดงชื่อและราคาของผลิตภัณฑ์ยาสูบ และแสดงการเป็นสถานที่ขายปลีกไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด ตามมาตรา 36 วรรคสอง และพบผู้สูบบุหรี่บริเวณพื้นที่สถานีบริการน้ำมัน ซึ่งเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายตามมาตรา 42 สูบบุหรี่ในเขตปลอดบุหรี่ ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ของรัฐ สังกัดสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอ่างทอง ได้ดำเนินการแจ้งข้อกล่าวหาและได้รวบรวมพยานหลักฐานเพื่อออกคำสั่งปรับเป็นพินัยกับผู้ฝ่าฝืนตามพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560 ต่อไป
กคส. ขอประชาสัมพันธ์ว่า ปัจจุบัน สาธารณสุขจังหวัดทุกแห่งมีการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐแล้วทั่วประเทศ เพื่อให้สามารถดำเนินการบังคับใช้กฎหมายเพื่อปรับเป็นพินัยกับผู้ฝ่าฝืนกฎหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงขอเตือนไปยังผู้ประกอบการร้านค้าปลีก-ส่งที่มีการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ยาสูบรวมทั้งผู้ประกอบการทั้งร้านอาหารสถานีบริการน้ำมันให้ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด กรณีมีข้อสงสัยประเด็นกฎหมายตามพ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560 สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กองงานคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ กรมควบคุมโรค โทร. 0 2590 3852
*******************************
ข้อมูลจาก :กลุ่มบังคับใช้กฎหมาย
วันที่ 28 ธันวาคม2567