สำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ
Responsive image

กรมควบคุมโรค จับมือกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ร่วมบูรณาการป้องกันควบคุมโรคในกลุ่มเด็กปฐมวัย

            กรมควบคุมโรค จับมือกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ร่วมบูรณาการป้องกันควบคุมโรคในกลุ่มเด็กปฐมวัย โดยเฉพาะในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กและโรงเรียนอนุบาล เน้นดำเนินการเพื่อให้เด็กปลอดโรค มีคุณภาพชีวิตที่ดีเหมาะสมตามวัย เป็นพลเมืองที่สุขภาพดี มีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคม และเด็กทุกคนได้รับการพัฒนาเต็มศักยภาพ หลังพบข้อมูล ปี 2561 มีผู้ป่วยโรคมือเท้าปากเป็นกลุ่มก้อนมากถึง 61 เหตุการณ์  

            วันนี้ (12 ธันวาคม 2562) ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค  และนายทวี เสริมภักดีกุล รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ร่วมเป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการเสริมสร้างความร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อผลักดันนโยบายการบูรณาการดำเนินงานเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคติดต่อในกลุ่มเด็กปฐมวัย (อายุต่ำกว่า 6 ปี) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้และสร้างการมีส่วนร่วมในการจัดทำแผนปฏิบัติการป้องกันควบคุมโรคติดต่อในเด็กแบบบูรณาการในระดับพื้นที่  มีเป้าหมายให้เด็กปลอดโรค มีคุณภาพชีวิตที่ดีเหมาะสมตามวัย เป็นพลเมืองที่สุขภาพดี มีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคม และเด็กทุกคนได้รับการพัฒนาเต็มศักยภาพ   

            นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวว่า เด็กถือว่าเป็นกลุ่มวัยที่มีความสำคัญ และเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ หากเด็กเล็กป่วยและไม่ได้รับการดูแลรักษาตั้งแต่เริ่มต้น อาจส่งผลทำให้มีภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงถึงเสียชีวิตได้ ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนประชากรเด็กปฐมวัยที่มีอายุต่ำกว่า 6 ปี จำนวนประมาณ 4 ล้านคน จากข้อมูลการเฝ้าระวังโรคของกองระบาดวิทยา ปี 2561 โรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังในเด็กปฐมวัย เช่น โรคมือเท้าปาก ไข้หวัดใหญ่ และโรคอุจจาระร่วง เป็นต้น พบผู้ป่วยโรคมือเท้าปากในกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี จำนวน 60,422 ราย (อัตราป่วย 1,765 ต่อแสนประชากร) และมีผู้เสียชีวิตโดยเฉลี่ย  ปีละ 3 ราย โดยกลุ่มอายุที่พบมากที่สุด คือ 0-2 ปี (58.49%) รองลงมาคือ 3-5 ปี (33.09%) ภาคเหนือมีอัตราป่วยสูงสุด รองลงมาคือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ ตามลำดับ และจากการเฝ้าระวังเหตุการณ์ระบาด มีรายงาน 61 เหตุการณ์ ส่วนใหญ่เกิดในโรงเรียนอนุบาล 37 เหตุการณ์ (ร้อยละ 61) ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก 19 เหตุการณ์ (ร้อยละ 31) และในชุมชน 5 เหตุการณ์ (ร้อยละ 8) แนวโน้มพบผู้ป่วยและอัตราป่วยเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้เด็กยังเสี่ยงต่อการป่วยด้วยโรคไข้หวัดใหญ่ โดยในกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี พบผู้ป่วยจำนวน 44,029 ราย (อัตราป่วย 1,286 ต่อแสนประชากร) และมีผู้เสียชีวิตโดยเฉลี่ยปีละ 2 ราย และพบผู้ป่วยโรคอุจจาระร่วงในกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี จำนวน 267,934 ราย (อัตราป่วย 7,827 ต่อแสนประชากร) และมีผู้เสียชีวิตโดยเฉลี่ยปีละ 3 ราย

            ทั้งนี้ การดูแลสุขภาพเด็กปฐมวัยด้านการเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคให้มีประสิทธิภาพ ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่ายและทุกระดับ รวมถึงการขับเคลื่อนนโยบายและถ่ายทอดความรู้สู่ประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” ที่เป็นเจ้าภาพหลักในการดูแลศูนย์พัฒนาเด็กเล็กทั่วประเทศ สามารถบริหารจัดการงบประมาณ และผลักดันนโยบายการบูรณาการดำเนินงานเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคติดต่อในกลุ่มเด็กปฐมวัย เข้าสู่แผนงบประมาณรายจ่ายประจำปีขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมถึงการสร้างจิตสำนึกให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เช่น เจ้าหน้าที่ ผู้ปกครองเด็ก ประชาชน มีความใส่ใจและให้ความสำคัญกับศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก นำไปสู่การจัดทำแผนพัฒนาปรับปรุงด้วยความตระหนักในการเป็นเจ้าของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กร่วมกัน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการดำเนินงานศูนย์พัฒนาเด็กเล็กและชุมชนอย่างยั่งยืน

            กรมควบคุมโรค และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ร่วมกันจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการฯ ครั้งนี้ มีการบรรยาย อภิปราย และประชุมกลุ่มระดมความคิดและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ในการจัดทำแผนปฏิบัติการเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคติดต่อในเด็กแบบบูรณาการ ที่สามารถนำไปใช้ได้จริง เกิดกลไกการขับเคลื่อนความร่วมมือภายใต้กรอบการบูรณาการพัฒนาศักยภาพคนตามช่วงวัย (กลุ่มเด็กปฐมวัย) โดยยึดเด็กเป็นศูนย์กลาง 

            ผู้เข้าร่วมการประชุม ประกอบด้วย ผู้บริหารหรือผู้แทนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 76 แห่ง เจ้าหน้าที่จากสำนักงานท้องถิ่นจังหวัดทั่วประเทศ 76 จังหวัด กรมอนามัย มูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย ผู้รับผิดชอบงานโรคติดต่อจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ 76 จังหวัด สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 1-12 สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง กองโรคติดต่อนำโดยแมลง กองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค รวม 350 คน  

**************************************************

ข้อมูลจาก : กองโรคติดต่อทั่วไป / สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค

โทร. 02-590-3183 วันที่ 12 ธันวาคม 2562


ข่าวสารอื่นๆ