สำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ
Responsive image

กรมควบคุมโรค แนะผู้ปกครองและสถานศึกษา ดูแลบุตรหลานอย่างใกล้ชิด ระวังป่วยโรคมือ เท้า ปาก

          กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เตือนผู้ปกครองและสถานศึกษาระวังเด็กป่วยโรคมือ เท้า ปาก โดยเฉพาะกลุ่มเด็กเล็ก เน้นสังเกตอาการบุตรหลานอย่างใกล้ชิด ข้อมูลต้นปีนี้พบผู้ป่วยกว่า 3 พันรายแล้ว พร้อมแนะ 4 วิธีป้องกันโรค หากเด็กมีอาการป่วย ซึม อ่อนแรง ชักกระตุก มือสั่น เดินเซ หอบ อาเจียน ให้รีบพบแพทย์ทันที เพราะอาจติดเชื้อชนิดรุนแรง ถึงขั้นเสียชีวิตได้

          วันนี้ (27 กุมภาพันธ์ 2563) นายแพทย์อัษฏางค์ รวยอาจิน รองอธิบดีและโฆษกกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ถึงแม้จะยังไม่เข้าสู่ฤดูฝน แต่ในช่วงนี้สภาพอากาศมีการเปลี่ยนแปลงบ่อย อาจทำให้เด็กเล็กป่วยได้ง่าย โดยเฉพาะโรคมือ เท้า ปาก ที่ผู้ปกครองและครูควรสังเกตอาการบุตรหลานอย่างใกล้ชิด เนื่องจากโรคนี้มักพบในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี สถานการณ์ของโรคมือ เท้า ปาก ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 24 กุมภาพันธ์ 2563 มีรายงานผู้ป่วยจำนวน 3,244 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นเด็กเล็กและเด็กช่วงวัยเรียน โดยกลุ่มอายุที่พบมากที่สุดคือ แรกเกิด-4 ปี (83.63%) รองลงมา อายุ 5-6 ปี (5.24%) และ อายุ 7-9 ปี (4.50%) ซึ่งจังหวัดที่มีอัตราป่วยต่อแสนประชากรสูงสุด 5 อันดับ ได้แก่ น่าน เชียงราย ชุมพร ลำปาง และเชียงใหม่ ตามลำดับ

          โรคมือ เท้า ปาก เป็นโรคที่พบมากในเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ซึ่งมีภูมิคุ้มกันต่ำ และสามารถติดต่อจากการได้รับเชื้อไวรัสเข้าทางปากโดยตรง โดยเชื้อไวรัสจะติดมากับมือหรือของเล่นที่เปื้อนน้ำมูก น้ำลาย น้ำจากแผลตุ่มพองหรืออุจจาระของผู้ป่วย หรือติดต่อจากการไอ จาม รดกัน หากผู้ป่วยได้รับเชื้อจะมีอาการเล็กน้อย เช่น มีไข้ต่ำๆ อ่อนเพลีย ต่อมา 1-2 วัน มีอาการเจ็บปาก ร่วมกับมีตุ่มพองเล็กๆ บริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้าตุ่มแผลในปาก ที่เพดานอ่อน กระพุ้งแก้ม ลิ้น  ต่อมาจะแตกออกเป็นแผลหลุมตื้นๆ หากอาการไม่ดีขึ้นหรือมีไข้ขึ้นสูง ซึมลง เดินเซ ชัก เกร็ง หายใจหอบเหนื่อย อาเจียนมาก ต้องรีบไปพบแพทย์ทันทีเพราะอาจติดเชื้อโรคมือ เท้า ปากชนิดรุนแรง อาจถึงขั้นเสียชีวิตได้

          นายแพทย์อัษฏางค์ กล่าวต่อไปว่า กรมควบคุมโรค ขอแนะนำ 4 วิธีในการป้องกันโรคมือ เท้า ปาก ดังนี้ 1.การลดการสัมผัสเชื้อ เมื่อผู้ป่วยไปจับของเล่น ของใช้จะทำให้เชื้อกระจายสู่ผู้อื่นได้  หากลดการสัมผัส จะสามารถป้องกันการรับเชื้อได้ 2.หมั่นทำความสะอาดของใช้และของเล่นของเด็กเป็นประจำ เพื่อลดเชื้อโรคที่อยู่ในสิ่งแวดล้อม 3.หมั่นให้เด็กล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์ ทั้งก่อนและหลัง รับประทานอาหาร เข้าห้องน้ำ และเล่นของเล่น เพื่อลดเชื้อสะสมบนมือและลดการแพร่สู่ผู้อื่น และ 4.หากพบผู้ป่วย ควรให้หยุดเรียนและรักษาจนกว่าจะหาย ควรแยกของใช้ส่วนตัวเด็กป่วยออกจากเด็กปกติ และไม่ควรคลุกคลีกับคนอื่นๆในครอบครัวหรือชุมชน เพื่อชะลอ การแพร่กระจายของเชื้อโรค

          สำหรับศูนย์พัฒนาเด็กเล็กและโรงเรียน ควรมีการคัดกรองเด็กนักเรียนทุกเช้าก่อนเข้าห้องเรียน เพื่อตรวจดูนักเรียนที่มีอาการแสดงของโรค คือมีไข้ ผื่น ตุ่มน้ำใส หรือเม็ดแดงๆ ในปาก ฝ่ามือ ฝ่าเท้า หรือก้น หากพบเด็กป่วยให้แยกออกมา แจ้งผู้ปกครองให้มารับกลับและพักรักษาจนกว่าจะหายเป็นปกติ จัดจุดล้างมือหรือเจลแอลกอฮอล์สำหรับล้างมือ ส่วนผู้ปกครอง ควรหมั่นสังเกตอาการของบุตรหลาน หากพบมีอาการข้างต้นควรให้หยุดเรียนและพักรักษาจนกว่าจะหาย ถ้าหากเด็กมีอาการแทรกซ้อน เช่น ไข้สูง ซึม อาเจียน หอบ ต้องรีบนำเด็กไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลทันที สอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422

 

*********************************************

ข้อมูลจาก: กองโรคติดต่อทั่วไป / สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค

วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2563


ข่าวสารอื่นๆ