สำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ
Responsive image

กรมควบคุมโรค พยากรณ์โรคฯ ฉบับที่ 282"เตือนประชาชนระมัดระวังการรับประทานอาหารทะเลจำพวก แมงดาทะเล ปลาปักเป้า หากไม่ทราบ แยกไม่ออก ไม่ควรนำมารับประทาน เนื่องจากเป็นสัตว์ที่มีพิษรุนแรง เสี่ยงได้รับอันตรายอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้"

กรมควบคุมโรค ขอเผยแพร่ “พยากรณ์โรคและภัยสุขภาพรายสัปดาห์”

ฉบับที่ 282 ประจำสัปดาห์ที่ 41 (วันที่ 11 – 17 ต.ค. 63)


          “จากการเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรค ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน (ปี 2559-2563) พบเหตุการณ์การรับประทานอาหารทะเลที่มีพิษทุกปี รวม 13 เหตุการณ์ จำแนกเป็น พิษจากแมงดาทะเล 6 เหตุการณ์ พิษจากปลาปักเป้า 7 เหตุการณ์  พบผู้ป่วยรวม 37 ราย มีผู้เสียชีวิต 11 ราย คิดเป็นอัตราป่วยตายสูงถึงร้อยละ 29.7 หรือคิดเป็น 1 ใน 3 ของผู้ที่รับประทานอาหารทะเลที่มีพิษ โดยเหตุการณ์ล่าสุด เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมามีรายงานผู้ป่วย 1 ราย รับประทานแมงดาทะเล โดยผู้ป่วยมีอาการเวียนศีรษะ ชาที่บริเวณปลายมือและปลายเท้าทั้งสองข้าง และเสียชีวิตในเวลาต่อมา”

          “การพยากรณ์โรคและภัยสุขภาพประจำสัปดาห์นี้ คาดว่าในช่วงนี้ไปจนถึงต้นปีมีโอกาสจะพบผู้ป่วยจากการรับประทานอาหารทะเลที่มีพิษ เช่น แมงดาทะเล ปลาปักเป้าได้ เนื่องจากในช่วงนี้กำลังจะเข้าสู่ช่วงฤดูหนาว ที่พายุฝนน้อยลงอาจทำให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ริมทะเล มีโอกาสพบเจอสัตว์ทะเลที่มีพิษและเก็บมารับประทานได้โดยง่าย  โดยแมงดาทะเล และปลาปักเป้า เป็นสัตว์ทะเลที่มีพิษ tetrodotoxin หรือ saxitoxin ซึ่งยับยั้งการทำงานของระบบประสาทโดยตรง ผู้ที่รับประทานพิษเข้าไปจะมีอาการ ภายหลังรับประทานประมาน 10-45 นาที หรือนานถึง 3 ชั่วโมง ขึ้นกับชนิด ฤดูกาล จำนวนที่รับประทาน หรือจำนวนพิษที่ได้รับ เช่น รับประทานไข่แมงดาทะเล อาการพิษจะเกิดรุนแรงกว่ารับประทานเฉพาะเนื้อ อาการมักเริ่มจากเวียนศีรษะ อาเจียน ชาบริเวณลิ้น ปาก ปลายมือ ปลายเท้า หรือมีอาการน้ำลายฟูมปาก เหงื่อออกมาก พูดลำบาก ตามองเห็นภาพไม่ชัด ในรายที่มีอาการรุนแรงมาก อาจทำให้กล้ามเนื้อหายใจอ่อนแรง และอาจเสียชีวิตได้ภายใน 6-24 ชม.  ทั้งนี้ แมงดาทะเลไทยมีอยู่ 2 ชนิด คือ แมงดาถ้วย หรือ เห-รา ตัวเล็กกว่าหางกลมเรียบ แมงดาชนิดนี้เป็นแมงดาที่มีพิษ ทั้งในเนื้อและไข่  อีกชนิดคือแมงดาจาน ที่ตัวใหญ่กว่าแต่หางรูปสามเหลี่ยมมีรอยหยัก แมงดาชนิดนี้เป็นแมงดาที่ไม่มีพิษ สามารถรับประทานได้  อย่างไรก็ตาม ต้องใช้ความเชี่ยวชาญสูงในการจำแนกชนิดของสัตว์แมงดาทะเลทั้งสองชนิด  กรมควบคุมโรค จึงขอเตือนประชาชนให้ระมัดระวังในการรับประทานอาหารทะเลจำพวก แมงดาทะเล และปลาปักเป้า หากไม่ทราบ แยกไม่ออก ไม่ควรนำมารับประทาน เนื่องจากเป็นสัตว์ที่มีพิษรุนแรง มีโอกาสเสียชีวิตสูง หากประชาชนสงสัยจะได้รับพิษหรือมีอาการผิดปกติตามอาการข้างต้น ขอให้รีบไปพบแพทย์ทันที และแจ้งประวัติการรับประทานอาหารที่สงสัย เพื่อรับการรักษาที่ถูกต้องและทันเวลา สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422”

 

*******************************************************

ข้อมูลจาก : ทีม SAT / สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค

วันที่ 10 ตุลาคม 2563


ข่าวสารอื่นๆ