สำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ
Responsive image

กรมควบคุมโรค แนะช่วงเปิดเทอมขอให้ผู้ปกครองและสถานศึกษา ระวังเด็กป่วย “โรคมือ เท้า ปาก” เน้นคัดกรองและสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด

          กรมควบคุม แนะช่วงเปิดเทอมขอให้ผู้ปกครองและสถานศึกษา ระวังเด็กป่วย “โรคมือ เท้า ปาก” เน้นคัดกรองและสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด ข้อมูลปีนี้พบว่าในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมามีผู้ป่วยรวมกันมากกว่าครึ่งของผู้ป่วยตลอดทั้งปี แนะให้สังเกตอาการของเด็ก หากมีไข้สูง ซึม เดินเซ ชักเกร็ง หายใจหอบเหนื่อย อาเจียน ให้แยกเด็กป่วยออกจากเด็กปกติและแจ้งผู้ปกครองมารับกลับบ้านเพื่อดูแลเบื้องต้น หากอาการไม่ดีขึ้นให้พาไปพบแพทย์โดยเร็ว และให้หยุดเรียนจนกว่าจะหาย สถานศึกษาหมั่นทำความสะอาดของเล่น ของใช้เด็กอย่างสม่ำเสมอ

          วันนี้ (4 ธันวาคม 2563) นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในสัปดาห์นี้สถานศึกษาเริ่มเปิดภาคเรียน อาจมีการทำกิจกรรมรวมกันเป็นกลุ่มมีโอกาสใกล้ชิดกันมาก ทำให้เสี่ยงต่อการแพร่กระจายของเชื้อโรคได้ง่าย โดยสิ่งที่ผู้ปกครองและครูควรระมัดระวังไม่ให้เด็กป่วย นอกจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด 19) แล้ว ยังมีโรคมือ เท้า ปาก ที่มีแนวโน้มพบอัตราป่วยมากที่สุดในกลุ่มเด็กเล็กและเด็กวัยเรียน ดังนั้น สถานศึกษาต้องมีมาตรการคัดกรองและสังเกตอาการของเด็กก่อนเข้าเรียนทุกเช้า เพื่อเฝ้าระวังการป่วยด้วยโรคมือ เท้า ปาก และโรคโควิด 19 ด้วย

          สถานการณ์ของโรคมือ เท้า ปาก ในปี 2563 นี้ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 30 พฤศจิกายน 2563 มีรายงานพบผู้ป่วย 27,220 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต โดยในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา (ตุลาคม-พฤศจิกายน) พบผู้ป่วย 15,613 ราย  คิดเป็นร้อยละ 57 ของผู้ป่วยทั้งหมด กลุ่มอายุที่พบมากที่สุด 3 อันดับ คือ แรกเกิด-4 ปี รองลงมาคืออายุ 5 ปี และอายุ 7-9 ปี โดยโรคมือ เท้า ปาก จะพบมากในกลุ่มเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ซึ่งมีภูมิคุ้มกันต่ำ สามารถติดต่อจากการได้รับเชื้อไวรัสเข้าทางปากโดยตรง โดยเชื้อไวรัสจะติดมากับมือหรือของเล่นที่เปื้อนน้ำมูก น้ำลาย น้ำจากแผลตุ่มพองหรืออุจจาระของผู้ป่วย หรือติดต่อจากการไอ จาม รดกัน

               ดังนั้น เมื่อได้รับเชื้อเด็กจะมีอาการไข้ต่ำๆ อ่อนเพลีย ต่อมา 1-2 วัน มีอาการเจ็บปาก ร่วมกับมีตุ่มพองเล็กๆ บริเวณฝ่ามือฝ่าเท้า ตุ่มแผลในปาก เพดานอ่อน กระพุ้งแก้ม ลิ้น ต่อมาจะแตกออกเป็นแผลหลุมตื้นๆ หากอาการไม่ดีขึ้น เช่น มีไข้ขึ้นสูง ซึมลง เดินเซ ชักเกร็ง หายใจหอบเหนื่อย อาเจียนมาก ต้องรีบไปพบแพทย์ทันทีเพราะอาจติดเชื้อโรคมือ เท้า ปากชนิดรุนแรง อาจถึงขั้นเสียชีวิตได้

          นายแพทย์โอภาส กล่าวเน้นย้ำผู้ปกครองและสถานศึกษา ให้ดูแลและสังเกตอาการของเด็กอย่างใกล้ชิดและสม่ำเสมอ และขอแนะนำวิธีป้องกันโรคมือ เท้า ปาก ดังนี้  1.ผู้ปกครองควรสังเกตอาการของเด็กก่อนมาเรียน ส่วนสถานศึกษามีการคัดกรองเด็กก่อนเข้าเรียนทุกเช้า  2.ให้เด็กสวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย เพื่อลดการสัมผัส ป้องกันการแพร่กระจายเชื้อสู่ผู้อื่น 3.หมั่นทำความสะอาดของใช้ ของเล่นและพื้นที่ที่เด็กใช้ร่วมกันเป็นประจำ 4.สอนให้เด็กล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์ 70% ทั้งก่อนและหลังรับประทานอาหาร หลังเข้าห้องน้ำ และหลังเล่นของเล่น  5.จัดให้มีพื้นที่ในการเข้าแถวทำกิจกรรมหรือเล่นเป็นกลุ่มย่อย จำนวน 5-6 คน มีการเว้นระยะห่างระหว่างกันอย่างน้อย 1-2 เมตร  และ 6.หากเด็กไม่สบายหรือมีไข้ก่อนมาเรียน ผู้ปกครองควรพาไปพบแพทย์และให้พักอยู่บ้าน ส่วนสถานศึกษาหากพบเด็กป่วยให้แยกออกจากเด็กปกติและแจ้งให้ผู้ปกครองรับกลับบ้าน เพื่อพาไปพบแพทย์โดยเร็ว และให้หยุดเรียนจนกว่าจะหาย แยกของใช้ส่วนตัวของเด็กป่วยออกจากเด็กปกติ หลีกเลี่ยงการคลุกคลีกับเด็กคนอื่นๆ งดไปในที่ชุมชนหรือสถานที่แออัด ซึ่งวิธีดังกล่าวสามารถป้องกันได้ทั้งโรคมือ เท้า ปาก โรคโควิด 19 และโรคติดต่อระบบทางเดินหายใจอื่นๆ สอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422

************************

ข้อมูลจาก : กองโรคติดต่อทั่วไป/ สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค

วันที่ 4 ธันวาคม 2563


ข่าวสารอื่นๆ