สำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ
Responsive image

กรมควบคุมโรค แนะสถานที่ที่ทำ Big Cleaning เพื่อฆ่าเชื้อโควิด 19 ขอให้ถือโอกาสนี้กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายด้วย

          กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข แนะสถานที่ที่ทำ Big Cleaning เช่น การล้างตลาด หรือล้างถนนทางเดิน เพื่อฆ่าเชื้อโควิด 19 โดยขอให้ถือโอกาสนี้กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายควบคู่กันไปด้วย เพื่อเตรียมความพร้อมในการป้องกันโรคไข้เลือดออกในช่วงฤดูฝนที่จะถึงนี้ ข้อมูลปีนี้พบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกแล้วเกือบ 1 พันราย

          วันนี้ (18 กุมภาพันธ์ 2564) นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สถานการณ์โรค  โควิด 19 พบว่าในช่วงนี้ยังมีรายงานพบผู้ป่วยในพื้นที่ต่างๆ อยู่ ซึ่งสถานที่ที่พบผู้ป่วยเป็นกลุ่มก้อนล่าสุดคือตลาด โดยทั่วไปแล้วสถานที่ดังกล่าว จะมีผู้คนเดินทางมาจับจ่ายใช้สอยและเข้า-ออกเป็นจำนวนมาก จึงทำให้เกิดเศษขยะ และอาจเป็นแหล่งรวมเชื้อโรคได้ ประกอบกับในบางพื้นที่ตามทางเดินอาจมีน้ำขัง ซึ่งอาจเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายได้ เมื่อเกิดเหตุการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ทำให้สถานที่ดังกล่าวปิดเพื่อทำความสะอาดครั้งใหญ่ Big Cleaning ฆ่าเชื้อโควิด 19 หรือตลาดที่ทำความสะอาดเป็นประจำอยู่แล้วนั้น กรมควบคุมโรค ขอให้เจ้าของตลาดหรือผู้ที่เกี่ยวข้อง ถือโอกาสนี้กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายควบคู่กันไปด้วย เพื่อป้องกันโรคติดต่อนำโดยยุงลาย ได้แก่ โรคไข้เลือดออก  โรคไข้ปวดข้อยุงลาย และโรคติดเชื้อไวรัสซิกา โดยเน้นเก็บขยะ ปิดภาชนะที่มีน้ำให้มิดชิด คว่ำภาชนะหรือเศษวัสดุที่มีน้ำขัง และทำความสะอาดพื้นผิวต่างๆ เป็นต้น  สำหรับสถานการณ์โรคไข้เลือดออกตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 10 กุมภาพันธ์ 2564 มีรายงานพบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก จำนวน 818 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต โดยในช่วง 4 สัปดาห์ล่าสุด (วันที่ 3-30 มกราคม 2564) พบจังหวัดที่มีอัตราป่วยสูงสุด 10 อันดับแรก ดังนี้ กรุงเทพมหานคร แม่ฮ่องสอน นครปฐม ระนอง สุพรรณบุรี กระบี่ นครสวรรค์ ชลบุรี เพชรบุรี และระยอง ตามลำดับ

          ด้านแพทย์หญิงชีวนันท์ เลิศพิริยสุวัฒน์ ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อนำโดยแมลง กล่าวว่า ในช่วงเดือนมกราคม - เมษายนของทุกปี เป็นช่วงสำคัญของการป้องกันควบคุมโรคไข้เลือดออก หากทำได้ดีจะช่วยลดจำนวนผู้ป่วยที่อาจเกิดมากขึ้นในช่วงฤดูฝน (พฤษภาคม-สิงหาคม) และขอฝากไปถึงประชาชนว่า หากมีไข้เกิน 2 วัน ไม่ควรซื้อยารับประทานเอง ต้องรีบไปพบแพทย์ตรวจวินิฉัยโรคให้แน่นอน โดยเฉพาะผู้สูงอายุและผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเสียชีวิต รวมทั้งในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด 19 หากป่วยเป็นโรคไข้เลือดออกร่วมด้วยจะทำให้อาการรุนแรงมากขึ้น  ในการป้องกันโรคไข้เลือดออก ขอให้ยึดหลัก เก็บบ้าน เก็บขยะ เก็บน้ำ ตามมาตรการ “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค” คือ เก็บบ้านให้สะอาด ไม่ให้มีมุมอับทึบเป็นที่เกาะพักของยุง เก็บขยะบริเวณรอบบ้าน และ เก็บน้ำ ปิดฝาภาชนะ  ที่ใส่น้ำให้มิดชิด เปลี่ยนน้ำในแจกันทุกสัปดาห์

          ทั้งนี้ หากประชาชนมีอาการป่วย เช่น มีไข้ ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ หายใจเหนื่อยหอบ เบื่ออาหาร ปวดท้อง ซึ่งอาจมีลักษณะคล้ายกันหลายโรค ทั้งไข้หวัดใหญ่ ไข้เลือดออก และโรคโควิด 19 ขอให้ประชาชนสวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย 100% รับประทานยาลดไข้ 1-2 วัน โดยให้เลือกรับประทานยาแก้ไข้พาราเซตามอล หลีกเลี่ยงการรับประทานยากลุ่มเอ็นเสด เช่น ยาไอบรูโปรเฟน แอสไพริน เพราะถ้าหากเป็นไข้จากโรคไข้เลือดออก ยากลุ่มนี้จะส่งผลทำให้การรักษายุ่งยากและเสี่ยงต่อการทำให้มีอาการหนักมากยิ่งขึ้น หากทานยาแล้วอาการไม่ดีขึ้น ให้รีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน เพื่อรับการวินิจฉัยโรคหาสาเหตุว่าเกิดจากโรคอะไรและรับการรักษาต่อไป สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422

 

*********************************

ข้อมูลจาก : กองโรคติดต่อนำโดยแมลง/สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค

วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2564


ข่าวสารอื่นๆ