สำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ
Responsive image

กรมควบคุมโรค แนะประชาชนยึดหลัก “สุก ร้อน สะอาด” ป้องกันโรคติดต่อทางอาหารและน้ำ

          กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข แนะประชาชนยึดหลัก “สุก ร้อน สะอาด” ป้องกันโรคติดต่อทางอาหารและน้ำ ได้แก่ โรคอุจจาระร่วง และโรคอาหารเป็นพิษ หากมีอาการปวดท้องรุนแรง ถ่ายเหลว หรืออุจจาระเป็นมูกปนเลือด กระหายน้ำมากกว่าปกติ ให้รีบไปพบแพทย์โดยเร็ว       

          วันนี้ (22 กุมภาพันธ์ 2564) นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ช่วงนี้ประเทศไทยเริ่มมีอุณหภูมิสูงขึ้น อาจทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคติดต่อทางอาหารและน้ำ ได้แก่ โรคอุจจาระร่วง และโรคอาหารเป็นพิษ กรมควบคุมโรค จึงขอให้ประชาชนรับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ อาหารค้างมื้อควรนำมาอุ่นร้อนให้ทั่วถึงก่อนรับประทาน เลือกซื้อน้ำดื่ม น้ำแข็งที่สะอาดได้มาตรฐาน ล้างวัตถุดิบให้สะอาดก่อนนำมาปรุงประกอบอาหาร เพื่อลดความเสี่ยงของการปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส โปรโตซัว พยาธิฯ เพราะอาจทำให้เกิดอาการปวดท้อง ถ่ายเหลวตั้งแต่ 3 ครั้งต่อวัน อุจจาระมีเลือดปน คลื่นไส้ อาเจียน มีไข้ ในบางรายที่อาการรุนแรง จนเกิดภาวะขาดน้ำ เช่น คอแห้ง ปากแห้ง ปัสสาวะออกน้อย ทำให้ช็อกและเสียชีวิตได้  

          จากรายงานของกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม–15 กุมภาพันธ์ 2564 พบผู้ป่วยโรคอุจจาระร่วง จำนวน 65,445 ราย กลุ่มอายุที่พบมาก 3 อันดับแรก คือ แรกเกิด-4 ปี รองลงมาคือ อายุ 65 ปีขึ้นไป และอายุ 15-24 ปี ตามลำดับ ส่วนโรคอาหารเป็นพิษ พบผู้ป่วย จำนวน 8,166 ราย กลุ่มอายุที่พบมาก 3 อันดับแรก คือ อายุ 15-24 ปี รองลงมาคือ อายุ 25-34 ปี และแรกเกิด-4 ปี ตามลำดับ โดยทั้ง 2 โรคนี้ยังไม่พบผู้เสียชีวิต

          กรมควบคุมโรค ขอแนะนำให้ประชาชนเลือกรับประทานอาหารที่ถูกสุขลักษณะ โดยขอให้ยึดหลัก “สุก ร้อน สะอาด” คือ รับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ อาหารที่เก็บไว้นานเกิน 2 ชั่วโมง ต้องนำมาอุ่นร้อนให้ทั่วถึงก่อนรับประทานทุกครั้ง เลือกบริโภคอาหาร น้ำดื่ม และน้ำแข็งที่สะอาดได้มาตรฐาน ไม่รับประทานอาหารที่ปรุงจากสัตว์หรือพืชที่มีพิษ เลือกซื้อวัตถุดิบที่สด สะอาดและมีคุณภาพ ควรใช้ช้อนกลางส่วนตัวเมื่อรับประทานร่วมกัน เพื่อป้องกันโรคโควิด 19 และก่อนหยิบจับหรือรับประทานอาหารควรล้างมือให้สะอาดทุกครั้ง สำหรับผู้ประกอบอาหารต้องหมั่นดูแลรักษาสุขภาพให้แข็งแรงและปรุงอาหารอย่างถูกสุขลักษณะ เช่น ล้างมือให้สะอาดทุกครั้งก่อนเตรียมและปรุงอาหาร ล้างวัตถุดิบ ภาชนะและอุปกรณ์ให้สะอาด สวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย สวมหมวกคลุมผม ไม่ปฏิบัติงานขณะป่วย เพื่อป้องกันการปนเปื้อนเชื้อโรคในอาหารและน้ำไปสู่ผู้บริโภคได้ 

          นายแพทย์โอภาส กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับประชาชนที่มีอาการป่วยข้างต้น สามารถช่วยเหลือปฐมพยาบาลเบื้องต้น โดยให้ผู้ป่วยจิบน้ำผสมสารละลายเกลือแร่ (ORS) บ่อยๆ เพื่อป้องกันการขาดน้ำ และควรรับประทานอาหารอ่อนย่อยง่าย หากอาการไม่ดีขึ้น ให้รีบไปพบแพทย์ หากต้องการใช้ยาปฏิชีวนะ ควรอยู่ในการดูแลของแพทย์ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422

 

*************************
ข้อมูลจาก : กองโรคติดต่อทั่วไป/สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค

วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2564


ข่าวสารอื่นๆ