สำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ
Responsive image

กรมควบคุมโรค พยากรณ์โรคฯ ฉบับที่ 9/2564 "เตือนประชาชนระวังป่วยวัณโรคดื้อยาหลายขนานชนิดรุนแรงมาก (XDR-TB) พร้อมแนะสถานพยาบาล ให้มีการเฝ้าระวัง ตรวจวินิจฉัย และรีบรายงาน เพื่อที่จะสามารถป้องกันและควบคุมโรคได้อย่างรวดเร็ว"

 

กรมควบคุมโรค ขอเผยแพร่ “พยากรณ์โรคและภัยสุขภาพรายสัปดาห์”

ฉบับที่ 9/2564 ประจำสัปดาห์ที่ 9 (วันที่ 28 ก.พ. – 6 มี.ค. 64)

 

          “จากการเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรค สถานการณ์ของวัณโรคดื้อยาหลายขนานชนิดรุนแรงมาก (XDR-TB) ในปี 2564  พบผู้ป่วย XDR-TB  3 ราย ในจังหวัดกาญจนบุรี ปทุมธานี และปราจีนบุรี  วัณโรคดื้อยาหลายขนานชนิดรุนแรงมาก (XDR-TB) เป็นโรคติดต่ออันตรายลำดับที่ 13 ตาม พรบ.โรคติดต่อ 2558 สาเหตุที่ทำให้เกิดเชื้อวัณโรคดื้อยา 2 ประการคือ 1) ติดเชื้อวัณโรคดื้อยา เมื่อป่วยจึงป่วยเป็นวัณโรคดื้อยาทั้งที่ไม่เคยรับการรักษามาก่อน 2) ได้รับการรักษาวัณโรคที่ไม่สม่ำเสมอ ไม่ครบถ้วน หรือด้อยคุณภาพ ทำให้เกิดการคัดเลือกสายพันธุ์เชื้อดื้อยา กลุ่มเสี่ยงที่จะเป็น XDR-TB ได้แก่ ผู้ป่วย  วัณโรคที่สัมผัสผู้ป่วย XDR-TB หรือ ผู้ป่วยวัณโรคดื้อยาหลายขนาน (MDR-TB) ที่ปฏิเสธการรักษา ไม่ยินยอมให้มีผู้กำกับการกินยา ขาดการรักษา ไม่ปฏิบัติตามแผนการรักษา เช่น กินหรือฉีดยาไม่สม่ำเสมอ”

          “การพยากรณ์โรคและภัยสุขภาพของสัปดาห์นี้ คาดว่าในช่วงนี้อาจจะพบผู้ป่วยวัณโรคดื้อยาหลายขนานชนิดรุนแรงมาก (XDR-TB) และมีโอกาสพบการแพร่กระจายของโรคในวงกว้างได้ เนื่องจากโรคนี้สามารถแพร่เชื้อให้ผู้อื่นได้โดยการไอ จาม หรืออาการอื่นๆ ที่ทำให้เกิดละอองฝอยที่มีเชื้อวัณโรคลอยอยู่ในอากาศ เมื่อผู้สัมผัสใกล้ชิดสูดหายใจเอาละอองฝอยที่มีเชื้อวัณโรคเข้าไปในปอด ทำให้เกิดการติดเชื้อและป่วยเป็นวัณโรคได้ และผู้ที่สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยวัณโรค XDR-TB จะติดเชื้อและป่วยเป็นวัณโรค XDR-TB ได้ทั้ง ๆ ที่ยังไม่เคยได้รับยาวัณโรคมาก่อน  สำหรับการรักษา XDR-TB มีความยุ่งยากและค่าใช้จ่ายสูงกว่าการรักษาวัณโรคที่ยังไวต่อยา (DS-TB) หลายเท่า เนื่องจากต้องใช้ระยะเวลาอย่างน้อย 18 เดือน แต่มีผลสำเร็จของการรักษาน้อยกว่า  กรมควบคุมโรค จึงขอแนะนำสถานพยาบาลให้มีการเฝ้าระวัง ตรวจวินิจฉัย และรีบรายงานโดยเร็ว มีการสอบสวนโรคและติดตามตรวจผู้สัมผัส เมื่อพบผู้ป่วยรายใหม่จะได้รับการรักษาอย่างถูกต้องเหมาะสม เพื่อป้องกันและควบคุมโรคได้ทันเวลาไม่ให้แพร่ระบาดในวงกว้างต่อไป  นอกจากนี้ ขอแนะนำให้ผู้ป่วยสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของโรค สามารถสอบถามข้อมูลได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422”

 

*******************************************************

ข้อมูลจาก : ทีม SAT / สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค

วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564


ข่าวสารอื่นๆ