สำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ
Responsive image

กรมควบคุมโรค เตือนประชาชนโดยเฉพาะภาคเหนือ และภาคอีสาน เลี่ยงการรับประทานหมูดิบ หรือสุกๆ ดิบๆ เสี่ยงป่วยโรคไข้หูดับอาจถึงขั้นเสียชีวิต

          กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เตือนประชาชนโดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือและภาคอีสาน ให้หลีกเลี่ยงการรับประทานหมูดิบ หรือสุกๆ ดิบๆ เพราะเสี่ยงป่วยด้วยโรคไข้หูดับ อาจทำให้หูหนวกถาวรหรือถึงขั้นเสียชีวิตได้ พร้อมแนะวิธีป้องกันโดยรับประทานอาหารที่ปรุงสุก ไม่ใช้เขียงของดิบและของสุกร่วมกัน ไม่สัมผัสเนื้อหมูและเลือดดิบด้วยมือเปล่า และขอให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโควิด 19 อย่างเคร่งครัด

             วันนี้ (5 พฤษภาคม 2564) นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในช่วงนี้มีรายงานพบผู้ป่วยโรคไข้หูดับประปรายในบางพื้นที่ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่มักมีการจัดกิจกรรมร่วมกันและมีการปรุงอาหารรับประทานกันเองในงานต่างๆ เช่น งานบุญหรือประกอบพิธีกรรมทางศาสนา เป็นต้น กรมควบคุมโรค จึงขอเตือนประชาชนให้ระมัดระวังเรื่องการประกอบอาหารและรับประทานอาหารดังกล่าว โดยขอให้เน้นการรับประทานอาหารที่ปรุงสุก ใหม่ และสะอาด โดยเฉพาะเนื้อหมูที่ชำแหละกันเองในหมู่บ้าน และนำมารับประทานดิบ หรือสุกๆ ดิบๆ เช่น ลาบ หลู้หมูดิบ ซึ่งเป็นอาหารพื้นบ้านที่มีการใส่เลือดหมูดิบผสม หรือการปิ้งย่างไม่สุก ทำให้เสี่ยงโรคไข้หูดับ หรือโรคติดเชื้อสเตร็พโตค็อกคัส ซูอิส และอาจทำให้หูหนวกถาวรหรือเสียชีวิตได้ 

            สถานการณ์ของโรคไข้หูดับ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม -25 เมษายน 2564 พบผู้ป่วยแล้ว 119 ราย เสียชีวิต 9 ราย ผู้ป่วยส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มผู้สูงอายุ ได้แก่ อายุมากกว่า 65 ปี รองลงมาคืออายุ 55-64 ปี และ 45-54 ปี ตามลำดับ ภาคที่มีผู้ป่วยมากที่สุดคือภาคเหนือ รองลงมาคือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดที่มีอัตราป่วยสูงสุด 5 อันดับแรก คือ ลำปาง อุตรดิตถ์ พะเยา นครราชสีมา และพิจิตร ตามลำดับ  นอกจากนี้ รายงานจากโปรแกรมตรวจสอบข่าวการระบาด พบว่าในช่วงที่ผ่านมา (เดือนเมษายน) มีเหตุการณ์สำคัญที่เป็นการระบาดของโรคไข้หูดับ เช่น ลำปาง พบเหตุการณ์ประปรายในหลายพื้นที่ และที่นครราชสีมา พบเหตุการณ์ผู้ป่วยเป็นกลุ่มก้อนที่เกิดจากการรับประทานลาบหมูดิบร่วมกันในงานอุปสมบท เป็นต้น

           โรคไข้หูดับ เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย สเตร็พโตค็อกคัส ซูอิส (Streptococcus suis) โดยเชื้อนี้จะอยู่ในทางเดินหายใจของหมู และอยู่ในเลือดของหมูที่กำลังป่วย สามารถติดต่อได้ 2 ทาง คือ 1.เกิดจากการบริโภคเนื้อและเลือดหมู ที่ปรุงแบบดิบ หรือสุกๆ ดิบๆ 2.การสัมผัสกับหมูที่ติดเชื้อทั้งเนื้อหมู เครื่องใน และเลือดหมูที่เป็นโรค จากทางบาดแผล รอยขีดข่วนตามร่างกายหรือทางเยื่อบุตา หรือสัมผัสเลือดของหมูที่กำลังป่วย หลังจากได้รับเชื้อ 3-5 วัน ผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูง ปวดศีรษะอย่างรุนแรง เวียนศีรษะจนทรงตัวไม่ได้ อาเจียน คอแข็ง หูหนวก ท้องเสีย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ หากพบว่ามีอาการดังกล่าว ขอให้รีบพบแพทย์ทันที และแจ้งประวัติการกินหมูดิบและสัมผัสเนื้อหมูให้ทราบเพราะหากมาพบแพทย์และวินิจฉัยได้เร็ว จะช่วยลดอัตราการเกิดหูหนวกและการเสียชีวิตได้  ซึ่งผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้ติดสุราเรื้อรัง ผู้มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคความดัน ไต มะเร็ง หัวใจ ผู้ที่เคยตัดม้ามออก เป็นต้น หากติดเชื้อจะมีอาการป่วยรุนแรงเนื่องจากร่างกายมีภูมิต้านทานโรคต่ำ

              นายแพทย์โอภาส แนะนำวิธีการป้องกันโรคไข้หูดับ คือ 1.ควรบริโภคอาหารที่ปรุงสุกด้วยความร้อน ทำสดใหม่ โดยเฉพาะเนื้อหมู ควรเลือกซื้อเนื้อหมูจากตลาดสดหรือห้างสรรพสินค้า ที่ผ่านการตรวจสอบมาตรฐานจากกรมปศุสัตว์ ไม่ซื้อเนื้อหมูที่มีกลิ่นคาว สีคล้ำ ขอให้แยกอุปกรณ์ที่ใช้หยิบเนื้อหมูสุกและดิบออกจากกัน ไม่ใช้เขียงของดิบและของสุกร่วมกัน  และ 2.ไม่สัมผัสเนื้อหมูและเลือดดิบด้วยมือเปล่า โดยเฉพาะผู้เลี้ยงหมู ผู้ที่ทำงานในโรงฆ่าสัตว์ ผู้ที่ชำแหละเนื้อหมู สัตวบาล สัตวแพทย์ ควรสวมรองเท้าบู๊ทยาง สวมถุงมือ รวมถึงสวมเสื้อที่รัดกุมระหว่างทำงาน หากมีบาดแผลต้องปิดแผลให้มิดชิด และล้างมือหลังสัมผัสกับหมูทุกครั้ง

           ที่สำคัญในช่วงนี้มีการระบาดของโรคโควิด 19 ขอให้ประชาชนปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคโควิด 19 อย่างเคร่งครัด โดยสวมหน้ากาก 100% ล้างมือบ่อยๆ เว้นระยะห่าง และหลีกเลี่ยงการจัดเลี้ยงหรือจัดงานที่รวมคนจำนวนมาก เพื่อป้องกันการรับเชื้อและแพร่เชื้อให้กับบุคคลอื่น โดยเฉพาะคนในครอบครัวที่เป็นผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง หรือมีโรคประจำตัว  สอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422

*************************

ข้อมูลจาก : กองโรคติดต่อทั่วไป/สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค

วันที่ 5 พฤษภาคม 2564


ข่าวสารอื่นๆ