สำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ
Responsive image

ภาวะการเกิดลิ่มเลือดอุดตันในปอดกับวัคซีนโควิด 19

ภาวะการเกิดลิ่มเลือดอุดตันในปอดกับวัคซีนโควิด 19

กรมควบคุมโรค และคณะผู้เชี่ยวชาญเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ภายหลังการได้รับวัคซีน

ฉบับวันที่ 31 พฤษภาคม 2564

ภาวะการเกิดลิ่มเลือดอุดตันในปอดมาจากอะไรกันแน่ จริงแล้วสาเหตุของการเกิดมาได้จากหลายสาเหตุ

          จากกรณีที่หญิงอายุ 32 ปี ชาวอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลาเสียชีวิต ซึ่งก่อนหน้านั้น 13 วัน ได้รับวัคซีนของบริษัท Sinovac ในวันที่ 14 พ.ค.2564 จากนั้น 5 วันต่อมาผู้ป่วยมีอาการใจสั่น ต่อมาหอบเหนื่อยและถูกส่งตัวเข้าโรงพยาบาลและเสียชีวิต ในวันที่ 27 พ.ค.2564 โดยแพทย์วินิจฉัยว่ามีภาวะลิ่มเลือดอุดตันในปอดนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการสอบสวนโรค คาดว่าจะได้ข้อสรุปเร็วๆ นี้ แต่อย่างไรก็ตามข่าวนี้อาจสร้างความสงสัยถึงความปลอดภัยของวัคซีน ในเบื้องต้นผู้เชี่ยวชาญที่ให้คำปรึกษาแก่กระทรวงสาธารณสุขได้ให้ความเห็น ดังนี้

          ภาวะการเกิดลิ่มเลือดอุดตันในปอด (Pulmonary embolism) เกิดจากการที่มีลิ่มเลือดเกิดขึ้นในหลอดเลือดดำ และหลุดไปอุดที่หลอดเลือดที่ปอด (Venous thromboembolism; VTE) เป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญ
ที่ทำให้ผู้ป่วยมีอาการหายใจหอบเหนื่อยอย่างเฉียบพลัน และทำให้มีอัตราป่วยตายสูงได้ถึงร้อยละ 30 ผู้ป่วยที่เกิดโรคนี้ จากฐานข้อมูลกระทรวงสาธารณสุขที่เก็บข้อมูลผู้ป่วยลิ่มเลือดอุดตันในปอด ระหว่างปี 2559 – 2563 พบว่า ประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคดังกล่าวประมาณปีละ 12,900 – 26,800 ราย คิดเป็นอัตราการป่วยประมาณ 200 – 400 รายต่อประชากรหนึ่งล้านคน โดยปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดภาวะนี้ คือ พันธุกรรม ภาวะโรคมะเร็ง การไม่เคลื่อนที่เป็นเวลานานๆ การกินยาคุมกำเนิด หรือการได้รับการรักษาด้วยฮอร์โมน เป็นต้น

          ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก ณ วันที่ 29 พฤษภาคม 2564 พบว่า มีรายงานพบผู้ป่วยภาวะลิ่มเลือดอุดตันในปอดภายหลังการได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 ทั่วโลกทั้งสิ้น 4,575 ราย จากการฉีดกว่า 1,800 ล้านคน คิดเป็นอัตราการเกิดโรคนี้เพียง 2.5 รายต่อประชากรล้านคนที่ได้รับวัคซีน ซึ่งจะเห็นได้ว่า ต่ำกว่าอัตราการเกิดในผู้ไม่ได้รับวัคซีนอย่างมาก และที่สำคัญสำหรับวัคซีนของบริษัท Sinovac นั้น มีรายงานพบ 7 ราย จากการฉีดไปมากกว่า 200 ล้านโดส และไม่พบสัญญาณที่บ่งว่าผู้ที่ได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 มีโอกาสเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันในปอดสูงขึ้น หรือวัคซีนเป็นสาเหตุโดยตรง นอกจากนี้จากข้อมูลการเฝ้าระวังเหตุการณ์ ไม่พึงประสงค์ภายหลังการได้รับวัคซีนของบริษัท Sinovac มากกว่า 2 ล้านโดสในคนไทย ไม่เคยมีรายงานผู้ป่วยลิ่มเลือดอุดตันในปอดภายหลังการได้รับวัคซีนดังกล่าว

          ผู้เชี่ยวชาญจึงแนะนำให้ฉีดวัคซีนของบริษัท Sinovac ต่อไปได้ และผู้มารับบริการฉีดวัคซีนทั้งสองชนิด ไม่จำเป็นต้องหยุดการใช้ยาคุมกำเนิด เนื่องจากไม่มีความเกี่ยวข้องกับการเพิ่มความเสี่ยงในการฉีดวัคซีน แต่ให้เฝ้าดูอาการ และหากมีอาการผิดปกติที่ไม่แน่ใจว่าจะมีภาวะนี้หรือไม่ เช่น อาการเหนื่อยง่าย ใจสั่น เจ็บหน้าอก ไอเป็นเลือด ปวดบวมขา หรืออาการอื่น ๆ ที่รุนแรง ให้ปรึกษาแพทย์โดยเร็ว

 

.............................................


ข่าวสารอื่นๆ