กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เตือนประชาชนช่วงนี้อากาศร้อน ทำอาหารบูดเสียได้ง่าย ขอให้รับประทานอาหารและน้ำ โดยยึดหลัก “สุก ร้อน สะอาด” เพื่อป้องกันการเกิดโรคติดต่อทางอาหารและน้ำ หากมีอาการปวดท้องรุนแรง ถ่ายอุจจาระเป็นมูกหรือมีเลือดปน ควรพบแพทย์ทันที
วันนี้ (11 มิถุนายน 2564) นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ช่วงนี้อากาศร้อนทำให้อาหารบูดเสียได้ง่าย ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดโรคติดต่อทางอาหารและน้ำ ได้แก่ โรคอุจจาระร่วง และโรคอาหารเป็นพิษ หากรับประทานอาหารที่ไม่ได้ปรุงสุกหรือปรุงทิ้งไว้นานมากกว่า 2 ชั่วโมง โดยไม่ได้อุ่นร้อนให้ทั่วถึงก่อนรับประทาน ขณะนี้มีรายงานสถานการณ์ พบผู้ป่วยโรคอุจจาระร่วงและโรคอาหารเป็นพิษในหลายจังหวัด จึงขอให้ประชาชนเลือกซื้อวัตถุดิบ ที่สดสะอาดได้มาตรฐานมาปรุงอาหาร หลีกเลี่ยงการทานอาหารที่ปรุงสุกๆดิบๆ อาหารแบ่งทานหลายมื้อควรอุ่นร้อน ให้ทั่วถึงก่อนรับประทาน เลือกบริโภคน้ำดื่ม น้ำแข็งที่สะอาดได้มาตรฐาน และปรุงอาหารอย่างถูกสุขลักษณะ เพื่อลดความเสี่ยง ของการปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส โปรโตซัว พยาธิฯ ซึ่งอาจทำให้ปวดท้อง ถ่ายเหลวตั้งแต่ 3 ครั้งต่อวัน อุจจาระมีเลือดปน คลื่นไส้ อาเจียน มีไข้ จนเกิดภาวะขาดน้ำ คอแห้ง ปากแห้ง ปัสสาวะน้อย ทำให้ช็อกและเสียชีวิตได้
จากรายงานของกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค สถานการณ์โรคอุจจาระร่วงตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 8 มิถุนายน 2564 พบผู้ป่วย 269,211 ราย เสียชีวิต 2 ราย กลุ่มอายุที่พบมากที่สุด คือ อายุแรกเกิด-4 ปี รองลงมา คือ กลุ่มอายุมากกว่า 65 ปี และอายุ 25-34 ปี ตามลำดับ จังหวัดที่มีอัตราป่วยต่อแสนประชากรสูงสุด 5 อันดับ ได้แก่ อำนาจเจริญ มุกดาหาร จันทบุรี เชียงราย และมหาสารคาม ตามลำดับ สำหรับสถานการณ์โรคอาหารเป็นพิษตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 8 มิถุนายน 2564 พบผู้ป่วย 31,820 ราย เสียชีวิต 1 ราย กล่มอายุที่พบมากที่สุด คืออายุ 15-24 ปี รองลงมาอายุ 25-34 ปี และกลุ่มอายุมากกว่า 65 ปี ตามลำดับ จังหวัดที่มีอัตราป่วยต่อแสนประชากรสูงสุด 5 อันดับ ได้แก่ อุบลราชธานี มุกดาหาร ร้อยเอ็ด เชียงราย และศรีสะเกษ ตามลำดับ
กรมควบคุมโรค ขอแนะนำประชาชนให้ยึดหลัก “สุก ร้อน สะอาด” เลือกซื้อผักผลไม้ตามฤดูกาล เนื้อสัตว์ที่ได้มาตรฐานและล้างวัตถุดิบให้สะอาดก่อนนำมาปรุงอาหาร ให้รับประทานภายใน 2 ชั่วโมงหลังปรุงสำเร็จ หลีกเลี่ยงการวางอาหาร ทิ้งไว้ในอุณหภูมิห้อง เพราะอาจทำให้แบคทีเรียก่อโรคเจริญเติบโตได้ ควรเก็บไว้ในตู้เย็น และอุ่นร้อนให้ทั่วถึงก่อนนำมารับประทานอีกครั้ง เลือกซื้อน้ำดื่มหรือน้ำแข็งที่สะอาดได้มาตรฐาน มีข้อความระบุว่า “น้ำแข็งใช้รับประทานได้” และมีเครื่องหมายอย. ล้างมือด้วยน้ำและสบู่ให้สะอาดทุกครั้งก่อนรับประทานอาหารหลังเข้าห้องน้ำหรือสัมผัสสิ่งสกปรกควรแยกสำรับอาหารใช้ช้อนกลางส่วนตัวเมื่อรับประทานอาหารร่วมกัน สำหรับผู้ประกอบอาหารควรปรุงอาหารอย่างถูกสุขลักษณะ เช่น ล้างมือให้สะอาดทุกครั้งก่อนเตรียมและปรุงอาหารล้างวัตถุดิบและภาชนะอุปกรณ์ให้สะอาดควรสวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย สวมหมวกคลุมผม ไม่ปฏิบัติงานขณะป่วย เพื่อป้องกันการปนเปื้อนของเชื้อลงสู่อาหาร และน้ำไปยังผู้บริโภคได้
นายแพทย์โอภาส กล่าวเพิ่มเติม สำหรับประชาชนที่มีอาการป่วยข้างต้น ให้ผู้ป่วยจิบนํ้าผสมสารละลายเกลือแร่ (ORS) บ่อยๆ เพื่อป้องกันการขาดนํ้า และควรรับประทานอาหารอ่อนย่อยง่าย หากอาการไม่ดีขึ้นให้รีบไปพบแพทย์ทันที สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422
********************************
ข้อมูลจาก : กองโรคติดต่อทั่วไป/สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค
วันที่ 11 มิถุนายน 2564