กรมควบคุมโรค ขอเผยแพร่ “พยากรณ์โรคและภัยสุขภาพรายสัปดาห์”
ฉบับที่ 22/2564 ประจำสัปดาห์ที่ 24 (วันที่ 13 - 19 มิ.ย. 64
“จากการเฝ้าระวังเหตุการณ์ของกรมควบคุมโรค พบเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับสารเคมีในประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 9 มิถุนายน 2564 ทั้งหมด 4 เหตุการณ์ เดือนกุมภาพันธ์ 2 เหตุการณ์ เดือนมีนาคม และมิถุนายน เดือนละ 1 เหตุการณ์ ดังนี้ (1) แหล่งผลิตพลุไล่นกเกิดการระเบิด จังหวัดพิจิตร มีผู้เสียชีวิต 4 ราย สูญหาย 1 ราย มีผู้บาดเจ็บเล็กน้อยบริเวณแขน 1 ราย (2) ไฟไหม้บ่อขยะ ซึ่งใช้เป็นสถานที่ฝังกลบขยะ จังหวัดปราจีนบุรี ส่งผลให้เกิดกลุ่มควันลอยฟุ้งทั่วพื้นที่ ระยะห่างระหว่างบ่อขยะกับชุมชนประมาณ 1 - 2 กิโลเมตร ทำให้ประชาชนได้รับผลกระทบจากควันที่ลอยเข้าไปตามบ้านเรือนที่อยู่รอบข้าง (3) แอมโมเนียรั่วในโรงงานผลิตน้ำแข็ง จังหวัดสตูล มีลักษณะเป็นควันฟุ้งกระจายบริเวณโซนผลิตของโรงน้ำแข็ง มีกลิ่นฉุน พบผู้ได้รับผลกระทบทั้งหมด 12 ราย ส่วนใหญ่มีอาการทางเดินหายใจ แสบ และระคายเคืองเยื่อบุตา จมูก น้ำมูกไหล น้ำตาไหล คลื่นไส้อาเจียน ปวดท้องและท้องเสีย (4) สารเคมีระเบิดและเกิดเพลิงไหม้ ภายในร้านขายเคมีภัณฑ์และอุปกรณ์ทางการเกษตร จังหวัดเชียงใหม่ ไฟลุกไหม้ขึ้นภายในร้าน ไม่มีผู้เสียชีวิต พบผู้บาดเจ็บเล็กน้อย 1 ราย สารเคมีที่พบเป็นสารโพแทสเซียมคลอเรต ทำให้เกิดการระคายเคืองต่อทางเดินอาหารและไต เซลล์เม็ดเลือดแดงแตก ทำให้เม็ดเลือดแดงไม่มีออกซิเจนไปเลี้ยงส่งผลให้ร่างกายขาดออกซิเจนได้”
“พยากรณ์โรคและภัยสุขภาพในสัปดาห์นี้ คาดว่าอาจจะเกิดเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับสารเคมีขึ้นได้ ซึ่งจะส่งผลกระทบด้านสุขภาพต่อผู้ปฏิบัติงาน ประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณใกล้เคียง และสภาพแวดล้อม เช่น การรั่วไหลของสารเคมี อุบัติภัยสารเคมีจากการขนส่ง เป็นต้น กรมควบคุมโรค ขอแนะนำว่า ควรมีการให้ความรู้เกี่ยวกับสารเคมีที่ใช้ วิธีการปฏิบัติงานที่ถูกต้อง การเก็บรักษา การควบคุมป้องกันการรั่วไหล การเตรียมความพร้อมตอบโต้ภาวะฉุกเฉินเมื่อเกิดการรั่วไหล และเร่งพัฒนาองค์ความรู้และสมรรถนะของผู้ปฏิบัติงาน เจ้าหน้าที่และเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งเฝ้าระวังเหตุการณ์และแจ้งเตือนภัยสุขภาพจากสารเคมี ประชาสัมพันธ์วิธีเก็บรักษาสารเคมีที่ถูกต้อง ด้านสิ่งแวดล้อมและผลกระทบ และตรวจสอบผลกระทบทางด้านทรัพย์สินรวมถึงการเยียวยาจิตใจผู้ประสบเหตุ ทั้งนี้ หากพบเหตุการณ์หรือผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ ให้โทรแจ้งเหตุที่หมายเลขฉุกเฉิน 1669 หรือสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422”
*******************************************************
ข้อมูลจาก : ทีม SAT / สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค
วันที่ 13 มิถุนายน 2564