สำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ
Responsive image

กรมควบคุมโรค ย้ำเตือน “โรคปอดบวม” หากเป็นไข้หวัด 3 วันแล้ว ไข้ไม่ลง ให้รีบพบแพทย์!

          กรมควบคุมโรค ย้ำเตือนประชาชนที่ป่วยเป็นไข้หวัด โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในพื้นที่ฝนตกชุกหรือมีน้ำท่วมขัง หากป่วย 3 วันแล้วอาการไม่ดีขึ้น ไข้ยังไม่ลง ไอมากขึ้น หายใจหอบ น้ำมูกเปลี่ยนสี ขอให้รีบพบแพทย์หรือสถานพยาบาลใกล้บ้านโดยเร็ว เพราะอาจเกิดโรคแทรกซ้อนที่สำคัญคือโรคปอดบวม โดยเฉพาะผู้สูงอายุและเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ

          วันนี้ (14 กันยายน 2564) นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้หลายพื้นที่ฝนตกชุกต่อเนื่อง ประชาชนมีโอกาสป่วยเป็นโรคระบบทางเดินหายใจมากขึ้น โดยเฉพาะไข้หวัด ซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัสชนิดไม่รุนแรง เป็นได้ทุกวัย พบได้บ่อยในช่วงที่สภาพอากาศเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในพื้นที่ที่มีน้ำท่วมขัง มีความชื้นในอากาศสูง บางแห่งประชาชนต้องลุยน้ำ ตัวเปียกชื้น จึงมีโอกาสป่วยจากโรคนี้สูงกว่าพื้นที่ปกติ ยิ่งหากน้ำท่วมขังนานหลายวัน ประชาชนจะมีแนวโน้มป่วยเป็นไข้หวัดมากขึ้น

          นายแพทย์โอภาสกล่าวว่า โดยทั่วไปไข้หวัดเป็นโรคติดต่อที่ไม่อันตราย เริ่มแรกมักมีอาการครั่นเนื้อครั่นตัว มีไข้ต่ำๆ ไอ มีน้ำมูก ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามร่างกาย อ่อนเพลีย อาการจะค่อยๆ ดีขึ้นเองหลังจากป่วยแล้วประมาณวันที่ 3 โดยไข้จะลดลง มักหายได้เองภายใน 1 สัปดาห์ อาจไอต่อไปได้อีก 1-2 สัปดาห์  แต่หากยังไม่ดีขึ้นและมีอาการอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้คือมีไข้สูง ไอมาก หายใจหอบเร็ว น้ำมูกเปลี่ยนสีจากสีเหลืองอ่อนๆ เป็นสีเขียว ขอให้สงสัยว่าอาจมีโรคแทรกซ้อนที่ปอดที่สำคัญและเป็นอันตรายถึงชีวิตคือโรคปอดบวมหรือปอดอักเสบ (Pneumonia) ให้รีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลหรือสถานบริการธารณสุขที่อยู่ใกล้บ้านโดยเร็ว เพื่อรับการรักษาได้อย่างถูกต้องและทันท่วงที ทั้งนี้ จากการเฝ้าระวังสถานการณ์โรคปอดบวม ช่วงฤดูฝนปีนี้ ทั่วประเทศพบผู้ป่วย จำนวน 24,895 ราย เสียชีวิต 22 ราย ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้สูงอายุ และเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ

           ทางด้านแพทย์หญิงวรยา เหลืองอ่อน ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กล่าวว่า โรคปอดบวมมีสาเหตุจากเชื้อหลายชนิด ทั้งไวรัส แบคทีเรีย หรือเกิดจากการสำลักสิ่งแปลกปลอมเข้าปอด แต่ส่วนใหญ่มักจะเกิดเป็นโรคแทรกซ้อนหลังจากป่วยเป็นไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่หรือเป็นโรคอื่นมาก่อน โรคนี้ติดต่อกันจากการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย โดยเชื้อจะแพร่กระจายมาจากน้ำมูก น้ำลาย เสมหะของผู้ป่วยโดยตรง หรือติดมากับสิ่งของเครื่องใช้ของผู้ป่วย หากป่วยขอให้นอนพักผ่อนให้มากๆ หยุดทำงานหนัก งดการใช้ของร่วมกับคนอื่น หากมีไข้ ให้ใช้ผ้าชุบน้ำธรรมดาเช็ดตัว หรือกินยาพาราเซตามอลเพื่อลดไข้ ดื่มน้ำอุ่นหรือน้ำธรรมดามากๆ เพื่อช่วยในการขับเสมหะได้ดีขึ้น อาการจะค่อยๆ ดีขึ้นเอง

          ”การป้องกันการป่วยเป็นไข้หวัด ขอให้ประชาชนออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์โดยเฉพาะเพิ่มการกินผักและผลไม้ให้มากขึ้น ซึ่งในผักและผลไม้จะมีวิตามินซี ช่วยสร้างภูมิต้านทานโรคได้  หลีกเลี่ยงการเข้าไปอยู่ในที่แออัด ไม่คลุกคลีกับผู้ป่วย ล้างมือบ่อยๆ สวมใส่เสื้อผ้ารักษาความอบอุ่นให้ร่างกายเสมอ และสวมใส่หน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าเมื่อออกจากบ้าน สามารถขอรับคำปรึกษาหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422” แพทย์หญิงวรยากล่าว

 

****************************

ข้อมูลจาก : กองโรคติดต่อทั่วไป/สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค

วันที่ 14 กันยายน 2564


ข่าวสารอื่นๆ