สำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ
Responsive image

กรมควบคุมโรค พบโรคฉี่หนูปีนี้กว่า 600 ราย ย้ำเตือนผู้อยู่ในพื้นที่น้ำท่วมขัง! เลี่ยงลุยน้ำย่ำโคลนด้วย เท้าเปล่า!!

                        กรมควบคุมโรค เผยปีนี้พบผู้ป่วยโรคฉี่หนู 635 ราย เสียชีวิต 4 ราย ย้ำเตือนผู้ที่อยู่ในพื้นที่น้ำท่วมขังให้ระมัดระวังเป็นพิเศษโดยเฉพาะช่วงหลังน้ำลด ไม่ควรเดินลุยน้ำย่ำดินโคลนด้วยเท้าเปล่าหรือแช่น้ำเป็นเวลานาน แนะสัญญาณป่วยโรคนี้ คือ มีไข้สูงเฉียบพลันหลังลุยน้ำ 1-2 สัปดาห์ ปวดศีรษะอย่างรุนแรง ปวดกล้ามเนื้อโดยเฉพาะที่น่องหรือโคนขา ขอให้นึกถึงโรคนี้ ให้รีบไปสถานพยาบาลใกล้บ้าน มียารักษาหายขาด อย่าซื้อยากินเอง อาจทำให้โรครุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้    

            วันนี้ (21 กันยายน 2564) นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ช่วงนี้มีฝนตกหนัก รายงานของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย ในวันนี้ (21 กันยายน 2564) มีน้ำท่วมใน 16 จังหวัด คลี่คลายแล้ว 10 จังหวัด ผลกระทบทางสุขภาพที่มักเกิดตามมาหลังจากมีน้ำท่วมขัง ประชาชนต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ คือ โรคเลปโตสไปโรสิส (Leptospirosis) หรือโรคฉี่หนู  เชื้อชนิดนี้เป็นเชื้อแบคทีเรีย จะออกมากับฉี่ของสัตว์ เช่น หนู หมู วัว ควาย สุนัข แพะ แกะ ปนเปื้อนอยู่ในแหล่งน้ำ ลำคลอง ตามแอ่งน้ำขังเล็กๆ และพื้นดินโคลนที่ชื้นแฉะเชื้อจะมีปริมาณเข้มข้นมาก สามารถเข้าสู่ร่างกายคนได้ทางบาดแผลหรือแค่รอยถลอก รอยขีดข่วน หรืออาจไชผ่านผิวหนังที่อ่อนนุ่มจากการแช่น้ำนาน และจากการรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อเข้าไป 

            โรคฉี่หนูจะพบผู้ป่วยมากช่วงฤดูฝนหรือเกิดพายุมรสุม จากการเฝ้าระวังสถานการณ์โรคฉี่หนูตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม–12 กันยายน 2564  ทั่วประเทศพบผู้ป่วย 635 ราย เสียชีวิต 4 ราย ภาคที่มีอัตราป่วยต่อประชากรแสนคนสูงสุด ได้แก่ ภาคใต้ พบ 4.43 ต่อประชากรแสนคน สูงกว่าภาคอื่นๆ ประมาณ 4 เท่าตัว จังหวัดที่มีอัตราป่วยสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ระนอง พัทลุง พังงา ยะลา และสงขลา ตามลำดับ พบได้ทุกวัย ส่วนใหญ่เป็นวัยแรงงาน และประกอบอาชีพเกษตรกรรม รับจ้าง

            นายแพทย์โอภาส กล่าวต่อไปว่า อาการป่วยของโรคฉี่หนูระยะแรกจะคล้ายกับโรคติดเชื้อทั่วไป แต่ประชาชนสามารถสังเกตได้ โดยหลังติดเชื้อประมาณ 2-10 วัน จะเริ่มมีไข้สูงอย่างเฉียบพลัน ปวดศีรษะอย่างรุนแรง ปวดเมื่อยตามตัว โดยเฉพาะที่หลัง น่องและโคนขา หนาวสั่น บางรายอาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย และตาแดง หากมีอาการที่กล่าวมาและเกิดภายหลังเดินลุยน้ำย่ำโคลนหรือแช่น้ำเป็นเวลานาน ขอให้นึกถึงโรคนี้ และรีบไปพบแพทย์หรือสถานพยาบาลใกล้บ้านโดยเร็วเพื่อรับการรักษาที่ถูกต้อง ประการสำคัญขอให้แจ้งประวัติการเดินลุยน้ำหรือย่ำโคลนให้แพทย์ที่ตรวจรักษาทราบด้วย เพื่อวินิจฉัยและให้การรักษาได้อย่างรวดเร็ว อย่าซื้อยามารับประทานเอง เพราะทำให้อาการรุนแรง เช่น ตับไตวาย มีอันตรายถึงขั้นเสียชีวิต ทั้งนี้ การเสียชีวิตจากโรคฉี่หนูที่ผ่านมาส่วนใหญ่เกิดมาจากพบแพทย์ช้า 

            ทางด้านแพทย์หญิงวรยา เหลืองอ่อน ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กล่าวว่า โรคฉี่หนูสามารถป้องกันได้ ขอแนะนำให้ประชาชนปฏิบัติ ดังนี้ 1.หลีกเลี่ยงการแช่น้ำเป็นเวลานาน หรือเดินลุยน้ำย่ำโคลนด้วยเท้าเปล่า  โดยเฉพาะผู้ที่มีบาดแผลหรือรอยขีดข่วนที่เท้าต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ หากจำเป็นต้องเดินลุยน้ำควรสวมรองเท้าบู๊ท หรือสวมถุงพลาสติกที่สะอาด หุ้มเท้าเพื่อป้องกันไม่ให้สัมผัสน้ำโดยตรง กรณีมีบาดแผลควรปิดด้วยพลาสเตอร์กันน้ำ และรีบชำระล้างร่างกายทันทีหลังจากเสร็จจากการทำงานหรือลุยน้ำ 2.หมั่นล้างมือล้างเท้าด้วยน้ำและสบู่บ่อยๆ 3.รับประทานอาหารที่สะอาด ปรุงสุกใหม่และร้อน อาหารที่ค้างมื้อควรเก็บในภาชนะที่ปิดมิดชิด และอุ่นให้เดือดหรือร้อนก่อนนำมารับประทานทุกครั้ง 4.ดูแลทำความสะอาดที่พัก บ้านเรือนและห้องครัวให้สะอาด หากทำความสะอาดบ้านหลังน้ำลดควรสวมถุงมือยางและรองเท้าบู๊ทขณะเก็บกวาด ควรเก็บขยะ โดยเฉพาะเศษอาหาร ในถังที่มีฝาปิดมิดชิด หรือทิ้งในถุงพลาสติกและมัดปากถุงให้แน่น เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งอาหารให้หนูเข้ามาในบ้าน สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมหรือขอรับคำปรึกษาที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422

*************************

ที่มา : กองโรคติดต่อทั่วไป /สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค

วันที่ 21 กันยายน 2564


ข่าวสารอื่นๆ