กรมควบคุมโรค ขอเผยแพร่ “พยากรณ์โรคและภัยสุขภาพรายสัปดาห์”
ฉบับที่ 35/2564 ประจำสัปดาห์ที่ 40 (วันที่ 3 - 9 ต.ค. 64)
“จากการเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรค สถานการณ์โรคเมลิออยโดสิส (melioidosis) ในปีนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 30 กันยายน 2564 พบผู้ป่วย 1,649 ราย เสียชีวิต 2 ราย ผู้ป่วยส่วนใหญ่อยู่เป็นกลุ่มผู้สูงอายุและวัยทำงาน ได้แก่ อายุ 55-64 ปี รองลงมาคืออายุมากกว่า 65 ปี และอายุ 45-54 ปี ตามลำดับ โดยพบมากในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รองลงมาคือภาคเหนือ ภาคใต้ และพบในกลุ่มอาชีพเกษตรกรมากที่สุด”
“การพยากรณ์โรคและภัยสุขภาพของสัปดาห์นี้ คาดว่าในช่วงนี้จะมีโอกาสพบผู้ป่วยโรคเมลิออยโดสิสเพิ่มขึ้น เนื่องจากโรคนี้พบมากในช่วงฤดูฝน โดยผู้ป่วยมักได้รับเชื้อที่อยู่ในดินและน้ำ สามารถติดต่อได้ 3 ทาง คือ 1.ผ่านทางบาดแผลบนผิวหนัง 2.หายใจเอาฝุ่นจากดินหรือน้ำที่มีเชื้อเจือปนอยู่เข้าไป 3.ดื่มหรือกินอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อเข้าไป หลังติดเชื้อประมาณ 1-21 วันจะมีอาการเจ็บป่วย แต่บางรายอาจนานเป็นปีขึ้นอยู่กับปริมาณเชื้อที่ได้รับและภูมิต้านทานของแต่ละคน และจะมีอาการหลากหลาย เช่น มีไข้สูง มีฝีที่ผิวหนัง มีอาการทางระบบทางเดินหายใจ บางรายพบอาการทางระบบประสาทร่วมด้วย อาจติดเชื้อเฉพาะที่หรือติดเชื้อแล้วแพร่กระจายทั่วทุกอวัยวะก็ได้ ส่วนใหญ่มักจะเริ่มจากอาการไข้เป็นหลัก จึงทำให้วินิจฉัยโรคได้ยาก ต้องอาศัยการตรวจเพาะเชื้อทางห้องปฏิบัติการเป็นหลัก เพื่อใช้ประกอบการตรวจวินิจฉัยและรักษา กรมควบคุมโรค ขอแนะนำผู้ที่มีความเสี่ยงติดเชื้อโรคเมลิออยโดสิส ได้แก่ ผู้ที่ประกอบอาชีพเกษตรกร ที่ต้องทำงานสัมผัสกับดินและนํ้าที่ปนเปื้อนเชื้อ หรือการสัมผัสสัตว์เลี้ยงที่มีเชื้อโรคนี้อยู่ในร่างกาย เช่น แมว สุนัข หมู ม้า วัว ควาย แกะ หรือแพะ เป็นต้น วิธีการป้องกันโรคเมลิออยโดสิส ได้แก่ 1.ผู้ที่มีบาดแผลให้หลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำย่ำโคลนหรือสัมผัสดินและน้ำโดยตรง หากจำเป็นขอให้สวมรองเท้าบูท ถุงมือยาง กางเกงขายาวหรือชุดลุยน้ำและรีบทำความสะอาดร่างกายด้วยน้ำสะอาดและสบู่ 2.หากมีบาดแผลที่ผิวหนัง ควรรีบทำความสะอาดด้วยยาฆ่าเชื้อ และหลีกเลี่ยงการสัมผัสดินและน้ำจนกว่าแผลจะแห้งสนิท 3.ทานอาหารปรุงสุก ดื่มน้ำต้มสุก 4.หลีกเลี่ยงการสัมผัสลมฝุ่น และการอยู่ท่ามกลางสายฝน สอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422”
*************************************************
ข้อมูลจาก : ทีม SAT / สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค
วันที่ 2 ตุลาคม 2564