กรมควบคุมโรค เตือนประชาชนระมัดระวังฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) แนะนำวิธีดูแลสุขภาพและรับมือเพื่อความปลอดภัยอย่างสูงสุด
วันนี้ (15 ธันวาคม 2564) นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากข้อมูลของศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (ศกพ.) เตือนพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลอาจมีสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 สะสมและเกินมาตรฐานในระหว่างวันที่ 15-18 ธันวาคม 2564 อาจส่งผลต่อสุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ อีกทั้งผู้ที่มี 4 กลุ่มโรคสำคัญที่ต้องเฝ้าระวังและดูแลเป็นพิเศษ ได้แก่ 1.กลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือด และผู้ที่มีอาการเหนื่อยง่าย หัวใจเต้นเร็ว แน่นหน้าอก 2.กลุ่มโรคระบบทางเดินหายใจ และผู้ที่มีอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล แสบจมูก และลำคอ 3.กลุ่มโรคผิวหนังอักเสบ และผู้ที่มีอาการคันตามร่างกาย มีผื่นแดงตามร่างกาย และ 4. กลุ่มโรคตาอักเสบ และผู้ที่มีอาการแสบหรือคันตา น้ำตาไหล และตาแดง ซึ่งกลุ่มเสี่ยงและผู้ที่มีอาการดังกล่าวต้องเฝ้าระวังมากเป็นพิเศษ หากได้รับฝุ่นละอองขนาดเล็กขนาดเล็ก PM2.5 เข้าสู่ร่างกายจะส่งผลต่อสุขภาพ ทำให้เกิดการเจ็บป่วยได้มากกว่าคนทั่วไป
นายแพทย์โอภาส กล่าวอีกว่า กรมควบคุมโรค ขอแนะนำวิธีดูแลสุขภาพและรับมือฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ประกอบด้วย 1.สวมหน้ากากป้องกันฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ชนิดที่มีแผ่นกรองคาร์บอน หรือชนิด N95 2.ดูแลสุขภาพร่างกายเป็นพิเศษ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ อย่างน้อย 6-7 ชั่วโมง ดื่มน้ำมากๆ เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ 3.หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมกลางแจ้ง 4.ตรวจเช็คสภาพเครื่องยนต์ ไม่สร้างควันดำหรือฝุ่นพิษเพิ่ม 5.หากสงสัยหรือมีอาการผิดปกติ เช่น ไอบ่อย แน่นหน้าอก หายใจลำบาก เวียนหัว และคลื่นไส้ ควรรีบไปพบแพทย์ที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน และ 6.ติดตามสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 จากแอปพลิเคชัน "Air4Thai" และเว็บไซต์ www.air4thai.com ของกรมควบคุมมลพิษ เป็นประจำ หรือเช็คทุกครั้งก่อนเดินทางออกนอกบ้าน เพื่อหลีกเลี่ยงการสัมผัสและหาวิธีป้องกันฝุ่นที่เหมาะสม นอกจากนี้ ยังต้องปฏิบัติควบคู่ไปกับมาตรการป้องกันโรคโควิด 19 อย่างเคร่งครัด ทั้งการสวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง หมั่นล้างมือ เพื่อความปลอดภัยอย่างสูงสุด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422
***************************
ข้อมูลจาก : กองโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม/สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค
วันที่ 15 ธันวาคม 2564