กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เตือนประชาชนให้หลีกเลี่ยงการรับประทานหมูดิบ หรือสุกๆ ดิบๆ โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลสงกรานต์นี้ อาจเสี่ยงป่วยโรคไข้หูดับ ทำให้หูหนวกถาวรหรือถึงขั้นเสียชีวิตได้ พร้อมแนะวิธีป้องกัน โดยรับประทานอาหารที่ปรุงสุก และใช้อุปกรณ์ประกอบอาหารระหว่างของสุกและของดิบแยกกันไม่สัมผัสเนื้อหมู เลือดดิบด้วยมือเปล่า
วันนี้ (15 เมษายน 2565) นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ช่วงวันหยุดยาวเทศกาลสงกรานต์นี้ หลายครอบครัวมีการรับประทานร่วมกัน และอาจมีเมนูสุกๆ ดิบๆ เช่น ลาบ หลู้หมูดิบ ซึ่งเป็นอาหารพื้นบ้านที่มีการใส่เลือดหมูดิบผสม หรือการปิ้งย่างไม่สุก ทำให้เสี่ยงติดเชื้อโรคไข้หูดับได้ สถานการณ์ของโรคไข้หูดับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 5 เมษายน 2565 พบผู้ป่วย 81 ราย เสียชีวิต 7 ราย ผู้ป่วยส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มผู้สูงอายุ ได้แก่ อายุมากกว่า 65 ปี รองลงมาคืออายุ 55-64 ปี และ 45-54 ปี ตามลำดับ ภาคที่มีผู้ป่วยมากที่สุดคือ ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดที่มีอัตราป่วยสูงสุด 5 อันดับแรก คือ นครราชสีมา พะเยา อุตรดิตถ์ อุทัยธานี และตาก ตามลำดับ
โรคไข้หูดับ เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย สเตร็พโตค็อกคัส ซูอิส (Streptococcus suis) โดยเชื้อนี้จะอยู่ในทางเดินหายใจของหมู และเลือดของหมูที่กำลังป่วย สามารถติดต่อได้ 2 ทาง คือ 1.เกิดจากการบริโภคเนื้อและเลือดหมูที่ปรุงแบบดิบ หรือสุกๆ ดิบๆ 2.การสัมผัสกับหมูที่ติดเชื้อทั้งเนื้อหมู เครื่องใน และเลือดหมูที่เป็นโรค โดยเชื้อจะเข้าทางบาดแผล รอยขีดข่วนตามร่างกายหรือทางเยื่อบุตา หรือการสัมผัสเลือดของหมูที่กำลังป่วย ซึ่งหลังจากได้รับเชื้อ 3-5 วัน ผู้ป่วยจะมีไข้สูง ปวดศีรษะอย่างรุนแรง เวียนศีรษะจนทรงตัวไม่ได้ อาเจียน คอแข็ง หูหนวก ท้องเสีย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ หากพบว่ามีอาการดังกล่าว ขอให้รีบไปพบแพทย์ทันที แจ้งประวัติการกินหมูดิบและสัมผัสเนื้อหมูให้ทราบ เพราะหากมาพบแพทย์และวินิจฉัยได้เร็ว จะช่วยลดอัตราการเกิดหูหนวกและการเสียชีวิตได้ นอกจากนี้ กลุ่มเสี่ยงที่หากติดเชื้อจะมีอาการป่วยรุนแรงเนื่องจากร่างกายมีภูมิต้านทานโรคต่ำได้แก่ ผู้ติดสุราเรื้อรัง ผู้มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไต โรคมะเร็ง โรคหัวใจ หรือผู้ที่เคยตัดม้ามออก เป็นต้น
นายแพทย์โอภาส กล่าวเพิ่มเติมว่า วิธีป้องกันโรคไข้หูดับ คือ 1.บริโภคอาหารที่ปรุงสุกด้วยความร้อน หากรับประทานอาหารปิ้งย่าง แยกอุปกรณ์ที่ใช้หยิบเนื้อหมูสุกและดิบออกจากกัน ไม่ใช้เขียงของดิบและของสุกร่วมกัน 2.เลือกซื้อเนื้อหมูจากตลาดสดหรือห้างสรรพสินค้า ที่ผ่านการตรวจสอบมาตรฐานจากกรมปศุสัตว์ ไม่ซื้อเนื้อหมูที่มีกลิ่นคาว สีคล้ำ 3.ไม่สัมผัสเนื้อหมูและเลือดดิบด้วยมือเปล่า โดยเฉพาะผู้เลี้ยงหมู ผู้ที่ทำงานในโรงฆ่าสัตว์ ผู้ที่ชำแหละเนื้อหมู สัตวบาล สัตวแพทย์ ขณะทำงานควรสวมรองเท้าบู๊ทยางและสวมถุงมือ หากมีบาดแผลต้องปิดแผลให้มิดชิด และล้างมือหลังสัมผัสกับหมูทุกครั้ง สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422
ข้อมูลจาก : กองโรคติดต่อทั่วไป/สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค
วันที่ 15 เมษายน 2565