สำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ
Responsive image

กรมควบคุมโรค พยากรณ์โรคฯ ฉบับที่ 25/2565 "เตือนประชาชนช่วงนี้ระวังป่วยด้วยโรคไข้เลือดออก เนื่องจากเป็นช่วงฤดูฝน แนะกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ด้วยมาตรการ 3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค"

กรมควบคุมโรค ขอเผยแพร่ “พยากรณ์โรคและภัยสุขภาพรายสัปดาห์”

ฉบับที่ 25/2565 ประจำสัปดาห์ที่ 26 (วันที่ 26 มิ.ย. – 2 ก.ค. 65)

 

          “จากการเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรค สถานการณ์โรคไข้เลือดออกในปี พ.ศ. 2565 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 20 มิถุนายน 2565  มีรายงานผู้ป่วยทั่วประเทศ 5,196 ราย เสียชีวิต 6 ราย กลุ่มอายุที่พบผู้ป่วยมากที่สุด คือ 15-24 ปี รองลงมา 10-14 ปี และ 25-34 ปี ตามลำดับ โดยพบผู้ป่วยกระจายทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ จังหวัดที่พบอัตราป่วยสูงสุด 5 ลำดับ ได้แก่ แม่ฮ่องสอน ตาก ระนอง น่านและนครปฐม แม้สถานการณ์โรคไข้เลือดออกช่วงต้นปี 2565 นี้จะมีตัวเลขที่ลดลงกว่าปี 2564 แต่กลับพบว่าจำนวนผู้ป่วยในช่วงเดือนเมษายนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นและสูงกว่าช่วงเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา”

          “การพยากรณ์โรคและภัยสุขภาพของสัปดาห์นี้ ในช่วงนี้มีโอกาสพบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกเพิ่มขึ้น จากการพยากรณ์อากาศของกรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ว่าในช่วงระหว่างสัปดาห์นี้ จนถึงสัปดาห์หน้าจะมีฝนตกในหลายพื้นที่ของประเทศไทย จะทำให้มีน้ำขังตามภาชนะต่างๆ ซึ่งเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของยุงลาย อาจเป็นปัจจัยสนับสนุนให้เกิดการระบาดของโรคได้  กรมควบคุมโรค แนะนำประชาชนให้ช่วยกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายในบริเวณบ้านและโรงเรียนทุกแห่ง  ใช้มาตรการ 3 เก็บป้องกัน 3 โรค  (โรคไข้เลือดออก โรคไข้ปวดข้อยุงลาย และโรคติดเชื้อไวรัสซิกา) ได้แก่ เก็บบ้าน/โรงเรียน ให้สะอาดไม่ให้ยุงลายเข้ามาเกาะพัก เก็บภาชนะกักเก็บน้ำให้มิดชิดเพื่อป้องกันยุงลายลงไปวางไข่  เก็บขยะภายในบริเวณบ้าน/โรงเรียน ให้เรียบร้อยไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย และจัดกิจกรรมเสริมในการจัดการสิ่งแวดล้อมกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงในโรงเรียน เช่น กิจกรรม BIG CLEANING DAY รวมถึงการป้องกันตนเองจากการถูกยุงกัด ทั้งในบริเวณบ้านและโรงเรียน   หากประชาชนหรือบุตรหลาน มีอาการไข้สูงลอย รับประทานยาแล้วไข้ไม่ลดหรือลดแล้วไข้กลับมาสูงอีก ร่วมกับอาการปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดกระบอกตา หรือมีจุดเลือดออกที่ลำตัว และแขน ขา ไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง โดยเฉพาะยาลดไข้ในกลุ่มแอสไพริน และไอบูโพรเฟน และหากมีอาการ ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ หายใจเหนื่อยหอบ เบื่ออาหาร ปวดท้องร่วมด้วย ซึ่งอาจเป็นการเจ็บป่วยร่วมกันระหว่างไข้เลือดออก กับโรคโควิด 19 ทำให้มีอาการทรุดหนักและรวดเร็วได้ ดังนั้นเมื่อมีอาการสงสัยดังกล่าวควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยแยกโรคให้ชัดเจน จะได้รับการรักษาที่เหมาะสม จะช่วยลดความรุนแรงของการเสียชีวิตได้  หากมีข้อสงสัยสามารถโทรศัพท์สอบถามข้อมูลได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422”

      

*******************************************************

ข้อมูลจาก : ทีม SAT / สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค

วันที่ 27 มิถุนายน 2565


ข่าวสารอื่นๆ