สำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ
Responsive image

กรมควบคุมโรค พยากรณ์โรคฯ ฉบับที่ 29/2565 "เตือนประชาชนในช่วงฤดูฝน หากมีอาการป่วยหลังกลับจากป่า อาจป่วยเป็นมาลาเรีย ควรรีบพบแพทย์ทันที"

กรมควบคุมโรค ขอเผยแพร่ “พยากรณ์โรคและภัยสุขภาพรายสัปดาห์”

ฉบับที่ 29/2565 ประจำสัปดาห์ที่ 30 (วันที่ 24 - 30 ก.ค. 65)

 

          “จากการเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรค สถานการณ์โรคไข้มาลาเรียในปีนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 13 กรกฎาคม 2565 พบผู้ป่วย 4,765 ราย มากกว่าจำนวนการรายงานผู้ติดเชื้อในปี 2564 ถึง 2.6 เท่า กลุ่มอายุที่พบผู้ป่วยมากที่สุด คือ อายุ 25-44 ปี รองลงมาคือ 15-24 ปี  และอายุ 5-14 ปี ตามลำดับ  จังหวัดที่พบผู้ป่วยมากที่สุด ได้แก่ ตาก 2,724 ราย  แม่ฮ่องสอน 757 ราย และกาญจนบุรี 429 ราย ตามลำดับ ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเกษตรกร (ร้อยละ 48.0)  รับจ้าง (ร้อยละ 25.0) และเด็ก/นักเรียน (ร้อยละ 24.0) ชนิดเชื้อส่วนใหญ่ คือ P.vivax (ร้อยละ 93.8) รองลงมา P.falciparum (ร้อยละ 3.0)  ทั้งนี้ ถึงแม้ว่าเชื้อ P.vivax จะเป็นเชื้อชนิดรุนแรงน้อยกว่า P.falciparum แต่ถ้าไม่ได้รักษาให้หายขาด เชื้อสามารถอยู่ในร่างกายคนได้นานหลายปี ทําให้มีอาการของโรคไข้มาลาเรียแบบเป็นๆ หายๆ”

           “การพยากรณ์โรคและภัยสุขภาพประจำสัปดาห์นี้ คาดว่าจำนวนผู้ป่วยโรคไข้มาลาเรียมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากประเทศไทยอยู่ในช่วงฤดูฝน ซึ่งเป็นช่วงที่เหมาะสมต่อการเจริญพันธุ์ของยุงซึ่งเป็นพาหะนำโรค โดยเฉพาะบริเวณพื้นที่ชนบทชายป่าหรือพื้นที่ที่มีแหล่งน้ำ ทำให้มีโอกาสเกิดโรคและมีผลกระทบต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ของประชาชนได้  โรคไข้มาลาเรีย หรือมีชื่อเรียกได้อีกว่า ไข้จับสั่น ไข้ป่า ไข้ดง ไข้ร้อนเย็น ไข้ดอกสัก ไข้ป้าง  มียุงก้นปล่องเป็นพาหะนำโรค ซึ่งเป็นยุงที่ออกหากินเวลากลางคืน ส่วนใหญ่ของการติดเชื้อมาจากการถูกยุงก้นปล่องที่มีเชื้อกัด แต่สาเหตุอื่นๆ ที่อาจพบได้ เช่น การถ่ายทอดเชื้อจากแม่สู่ลูกในครรภ์ การถ่ายโลหิต เป็นต้น เมื่อยุงก้นปล่องตัวเมียกัดผู้ป่วยที่มีเชื้อไข้มาลาเรีย เชื้อจะอยู่ในตัวยุงประมาณ 10-12 วัน เมื่อยุงนั้นไปกัดคนอื่นก็จะปล่อยเชื้อมาลาเรียจากต่อมน้ำลายเข้าสู่คน จึงทำให้คนที่ถูกยุงกัดเป็นไข้มาลาเรีย อาการเริ่มแรกของไข้มาลาเรียจะเกิดขึ้นหลังจากถูกยุงก้นปล่องที่มีเชื้อกัดประมาณ 10-14 วัน จะมีไข้ต่ำๆ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัวและกล้ามเนื้อ อาจมีอาการคลื่นไส้และเบื่ออาหารร่วมด้วย หลังจากนั้นจะมีอาการหนาวๆ ร้อนๆ เหงื่อออก อ่อนเพลียและเหนื่อย หากประชาชนมีอาการดังกล่าวหลังมีประวัติเคยเข้าไปในป่าหรืออาศัยอยู่ในป่าในช่วงเวลา 2 สัปดาห์ถึง 2 เดือนก่อนเริ่มป่วย ให้รีบไปพบแพทย์ และให้ประวัติการเดินทางเข้าป่าหรือพักอาศัยในป่า   กรมควบคุมโรค ขอให้ข้อมูลว่า เนื่องจากโรคไข้มาลาเรียไม่มีวัคซีนและไม่มียาเพื่อป้องกันการเกิดโรคโดยเฉพาะ  ดังนั้น หากต้องเดินทางเข้าป่าหรือไปในพื้นที่เสี่ยงควรป้องกันตนเอง ดังนี้ 1) สวมใส่เสื้อผ้าปกปิดแขนขาให้มิดชิด  2) ใช้ยาทากันยุงหรือจุดยากันยุง  3) นอนในมุ้งชุบน้ำยาทุกคืน ใช้มุ้งชุบน้ำยาคลุมเปลเมื่อไปค้างคืนในไร่นาป่าเขา สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422”

     

*******************************************************

ข้อมูลจาก : ทีม SAT / สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค

วันที่ 26 กรกฎาคม 2565


ข่าวสารอื่นๆ