สำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ
Responsive image

กรมควบคุมโรค พยากรณ์โรคฯ ฉบับที่ 34/2565 "เตือนประชาชนช่วงนี้ระวังป่วยด้วยโรคไข้เลือดออก เนื่องจากมีฝนตกในหลายพื้นที่ ทำให้มีน้ำขังเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย แนะใช้มาตรการ 3 เก็บป้องกัน 3 โรค"

กรมควบคุมโรค ขอเผยแพร่ “พยากรณ์โรคและภัยสุขภาพรายสัปดาห์”

ฉบับที่ 34/2565 ประจำสัปดาห์ที่ 36 (วันที่ 4 - 10 ก.ย. 65)

 

          “จากการเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรค สถานการณ์โรคไข้เลือดออกในปีนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 24 สิงหาคม 2565 มีรายงานผู้ป่วยทั่วประเทศ 19,380 ราย เสียชีวิต 17 ราย กลุ่มอายุที่พบอัตราป่วยมากที่สุด คือ 5 -14 ปี รองลงมา 15 - 24 ปี และเด็กแรกเกิด - 4 ปี พบผู้ป่วยกระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ จังหวัดที่พบอัตราป่วยสูงสุด 5 ลำดับ ได้แก่ แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ตาก ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี”

          “การพยากรณ์โรคและภัยสุขภาพของสัปดาห์นี้ คาดการณ์ว่าปีนี้มีโอกาสพบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกเพิ่มมากขึ้นตามวงรอบของปีที่จะระบาด โดยมีแนวโน้มพบผู้ป่วยในกลุ่มผู้ใหญ่มากขึ้น และในช่วงนี้เป็นช่วงฤดูฝนซึ่งมีฝนตกในหลายพื้นที่ของประเทศไทย ทำให้มีน้ำขังตามภาชนะต่างๆ ซึ่งเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย และอาจเป็นปัจจัยสนับสนุนให้เกิดการระบาดของโรคได้   กรมควบคุมโรค จึงขอความร่วมมือประชาชนให้ร่วมกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายในบริเวณบ้านและโรงเรียนทุกแห่ง โดยใช้มาตรการ 3 เก็บป้องกัน 3 โรค (โรคไข้เลือดออก โรคไข้ปวดข้อยุงลาย และโรคติดเชื้อไวรัสซิกา) ได้แก่ เก็บบ้าน/โรงเรียนให้สะอาดไม่ให้ยุงลายเข้ามาเกาะพัก เก็บภาชนะกักเก็บน้ำให้มิดชิดเพื่อป้องกันยุงลายลงไปวางไข่ เก็บขยะภายในบริเวณบ้าน/โรงเรียน ให้เรียบร้อยไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย พร้อมทั้งจัดกิจกรรมเสริมการจัดการสิ่งแวดล้อมกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงในโรงเรียน เช่น กิจกรรม BIG CLEANING DAY รวมถึงการป้องกันตนเองจากการถูกยุงกัด ทั้งในบริเวณบ้านและโรงเรียน  ทั้งนี้ หากประชาชนหรือบุตรหลานมีอาการไข้สูงลอย รับประทานยาแล้วไข้ไม่ลดหรือลดแล้วไข้กลับมาสูงอีก ร่วมกับอาการปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดกระบอกตา หรือมีจุดเลือดออกที่ลำตัว และแขน ขา ไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง โดยเฉพาะยาลดไข้ในกลุ่มแอสไพริน และไอบูโพรเฟน  นอกจากนี้ หากมีอาการ ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ หายใจเหนื่อยหอบ ซึ่งอาจเป็นการเจ็บป่วยร่วมกันระหว่างไข้เลือดออกกับโรคโควิด 19 อาจทำให้มีอาการทรุดหนักลงได้ ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยแยกโรคให้ชัดเจน และได้รับการรักษาที่เหมาะสม เพื่อป้องกันอาการรุนแรงและลดการเสียชีวิต สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422”

      *******************************************************

ข้อมูลจาก : ทีม SAT / สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค

วันที่ 9 กันยายน 2565


ข่าวสารอื่นๆ