กรมควบคุมโรค ขอเผยแพร่ “พยากรณ์โรคและภัยสุขภาพรายสัปดาห์”
ฉบับที่ ฉบับที่ 7/2566 ประจำสัปดาห์ที่ 8 (วันที่ 26 กุมภาพันธ์ – 4 มีนาคม2566)
“จากการเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรค สถานการณ์โรคอาหารเป็นพิษในปี 2566 ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. – 20 ก.พ. 66 มีรายงานผู้ป่วยทั่วประเทศ จำนวน 13,217 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 19.97 ต่อประชากรแสนคน ไม่พบผู้เสียชีวิต เป็นผู้ป่วยเพศชายมากกว่าเพศหญิง (1: 1.53) กลุ่มอายุที่พบมากที่สุด คือ แรกเกิด - 4 ปี (15.11%) รองลงมาคือ 15-24 ปี (13.44%) และ 25-34 ปี (12.43%) อาชีพที่พบมากที่สุด คือ นักเรียน (30.4%) รองลงมาคือ ไม่ทราบอาชีพ/ในปกครอง (29.4%) และรับจ้าง (18.9%) ผู้ป่วยกระจายทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย โดยภูมิภาคที่พบอัตราป่วยสูงสุด คือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ และภาคใต้ ตามลำดับ จังหวัดที่มีอัตราป่วยต่อประชากรแสนคนสูงสุด 5 อันดับแรกคือ น่าน สุรินทร์ อำนาจเจริญ ระนอง และมุกดาหาร ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีรายงานเหตุการณ์โรคอาหารเป็นพิษแบบกลุ่มก้อนจำนวน 10 เหตุการณ์ ในพื้นที่จังหวัดพิจิตร ชัยภูมิ ชลบุรี ปทุมธานี และพระนครศรีอยุธยา โดยพบว่าสถานที่เกิดเหตุการณ์ส่วนใหญ่ คือ สถานศึกษา”
“การพยากรณ์โรคและภัยสุขภาพประจำสัปดาห์ คาดว่ามีโอกาสพบผู้ป่วยโรคอาหารเป็นพิษเพิ่มขึ้น เนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนขึ้น อาจทำให้เชื้อแบคทีเรียก่อโรคเจริญเติบโตได้ดี เมื่อรับประทานอาหารที่มีเชื้อดังกล่าวเข้าไป อาจป่วยด้วยโรคอาหารเป็นพิษได้
สำหรับผู้ป่วยโรคอาหารเป็นพิษ จะมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ถ่ายอุจจาระเหลว ถ่ายเป็นน้ำหรือมีมูกเลือด ร่วมกับอาการอื่นๆ เช่น ปวดศีรษะ คอแห้งกระหายน้ำ และอาจมีไข้ได้ ผู้ป่วยสามารถแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นได้ผ่านทางอุจจาระและอาเจียน ส่วนใหญ่มักเกิดการระบาดเป็นกลุ่มก้อนในกลุ่มคนที่มีการรับประทานอาหารและน้ำร่วมกัน การช่วยเหลือเบื้องต้นควรให้จิบสารละลายเกลือแร่ ORS บ่อยๆ เพื่อป้องกันไม่ให้ร่างกายขาดน้ำ ถ้าอาการไม่ดีขึ้นให้รีบไปพบแพทย์โดยเร็ว
กรมควบคุมโรค ขอแนะนำว่า การป้องกันโรคอาหารเป็นพิษ ควรเลือกซื้ออาหารที่สด สะอาด รูป รส กลิ่น สี ไม่ผิดปกติ และล้างทำความสะอาดก่อนนำมาปรุงประกอบด้วยความร้อนให้สุกอย่างทั่วถึง ที่สำคัญขอให้ยึดหลัก “สุก ร้อน สะอาด” รับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ ไม่รับประทานอาหารดิบ หรือสุกๆ ดิบๆ อาหารที่ปรุงไว้นานเกิน 2 ชั่วโมง ต้องนำมาอุ่นร้อนให้ทั่วถึงก่อนรับประทานทุกครั้ง เลือกบริโภคอาหาร น้ำแข็ง และน้ำดื่มที่สะอาดมีเครื่องหมาย อย. ล้างมือด้วยสบู่และน้ำให้สะอาดทุกครั้งก่อนปรุงประกอบและรับประทานอาหาร หลังเข้าห้องน้ำหรือสัมผัสสิ่งสกปรก หากอาหารที่รับประทานมีรูป รส กลิ่น สี เปลี่ยนไป ไม่ควรนำมารับประทานต่อ สำหรับผู้ประกอบอาหาร ควรยึดหลักสุขอนามัยของผู้ปรุงและสุขาภิบาลอาหาร หากมีข้อสงสัย สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422”
*******************************************************
ข้อมูลจาก : ทีม SAT / สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค
วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566