สำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ
Responsive image

กรมควบคุมโรค เผยผลการวิเคราะห์การเสียชีวิตส่วนเกิน (Excess Deaths) ยังไม่พบหลักฐานว่าการรับวัคซีนโควิดชนิด mRNA เพิ่มความเสี่ยงต่อการเสียชีวิต พร้อมเดินหน้าวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกต่อไป

          กรมควบคุมโรค เปิดเวทีรับฟังและแลกเปลี่ยนข้อมูลวิชาการเกี่ยวกับประโยชน์และผลเสียจากวัคซีนโควิด 19  ผลการวิเคราะห์การตายส่วนเกินระบุว่ายังไม่พบหลักฐานว่าการได้รับวัคซีนโควิดชนิด mRNA เพิ่มความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตโดยรวม อีกทั้งยังไม่สัมพันธ์กับการตายในกลุ่มโรคหลอดเลือดสมองและกลุ่มโรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ รวบรวมข้อมูลวิชาการและความเห็นรอบด้านจากทุกฝ่าย พร้อมจัดทำข้อเสนอแนะส่งให้กับคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องนำไปใช้ประโยชน์พัฒนาแนวทางป้องกันควบคุมโรคโควิดต่อ

          เมื่อวันที่ (15 กุมภาพันธ์ 2567) ที่โรงแรมไมด้า งามวงศ์วาน จ.นนทบุรี นายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดการเสวนาวิชาการผลการวิเคราะห์ข้อมูลด้านการเฝ้าระวังโรคและสาเหตุการเสียชีวิตในสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด 19 โดยมีวิทยากรรับเชิญได้แก่ แพทย์หญิงจุไร วงศ์สวัสดิ์ นายแพทย์วีรวัฒน์ มโนสุทธิ นายแพทย์ปณิธี ธัมมวิจยะ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค  และนายแพทย์ระพีพงศ์ สุพรรณไชยมาตย์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) โดย นายแพทย์โสภณ กล่าวว่า การเสวนาวิชาการครั้งนี้เป็นโอกาสดีในการแลกเปลี่ยนข้อมูลวิชาการและความเห็นต่างๆ จากผู้ที่ให้ความสำคัญกับวัคซีนโควิด 19 ซึ่งมีผู้ทรงคุณวุฒิ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางระบาดวิทยา นักวิชาการสาธารณสุข กลุ่มคนไทยที่สนใจเรื่องของวัคซีน เข้าร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผลดีและผลกระทบจากวัคซีน ซึ่งสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศได้ทำการศึกษาการตายส่วนเกิน (Excess Death) โดยพบว่าในปี พ.ศ. 2564-2566 ประเทศไทยมีจำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มสูงกว่าค่าที่คาดการณ์ไว้ แม้ว่าจะผ่านช่วงการระบาดใหญ่ของโรคโควิด 19 มาระยะหนึ่งแล้วก็ตาม โดยมีผู้ตั้งสมมติฐานว่าปรากฏการณ์ดังกล่าวอาจเกิดจากสาเหตุต่างๆได้หลายประการ อาทิเช่น ช่วงเกิดเหตุการณ์โควิด 19 ระบาดอาจมีผู้ป่วยโรคเรื้อรังหรือผู้ป่วยสูงอายุจำนวนหนึ่งที่เข้าไม่ถึงบริการสุขภาพตามปกติจึงทำให้ภาวะสุขภาพเสื่อมลงเร็วกว่าที่ควร ซึ่งบางส่วนจะเสียชีวิตในปีที่ระบาดหนักแต่บางส่วนอาจจะทยอยเสียชีวิตในปีต่อๆ มา นอกจากนี้ยังมีสมมติฐานที่ว่าการเสียชีวิตอาจเป็นผลมาจากการรับวัคซีนป้องกันโควิด 19 ชนิด mRNA

          การเสวนาวันนี้ นายแพทย์ปณิธีและนายแพทย์ระพีพงศ์ร่วมกันนำเสนอผลการวิเคราะห์ที่สืบเนื่องจากศึกษาการตายส่วนเกิน (Excess Death) ข้างต้น เพื่อทดสอบสมมติฐานว่าปรากฏการณ์ดังกล่าวอาจจะเกิดจากการได้รับวัคซีนชนิด mRNA หรือไม่ ด้วยการศึกษาทางระบาดวิทยารูปแบบ case-control study ที่อาศัยฐานข้อมูลการเสียชีวิตของประชากรไทยร่วมกับฐานข้อมูลการได้รับวัคซีนโควิด 19 (หมอพร้อม) ช่วง พ.ศ. 2564-2566 โดยดูผลลัพธ์การเสียชีวิตภาพรวมจากทุกสาเหตุ และวิเคราะห์แยกสาเหตุการเสียชีวิตตามกลุ่มโรคสำคัญ ได้แก่ กลุ่มโรคหลอดเลือดสมอง และกลุ่มโรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ รวมทั้งวิเคราะห์แยกกลุ่มอายุ และนำมาเปรียบเทียบกับกลุ่มตัวอย่างประชากรไทยที่ไม่เสียชีวิต ในช่วงเวลาเดียวกัน รวมจำนวนตัวอย่างกว่าหนึ่งล้านราย โดยการเปรียบเทียบจำนวนผู้ได้รับวัคซีน mRNA กับผู้ได้รับวัคซีนชนิดอื่นๆ ที่ไม่ใช่วัคซีน mRNA ผลการศึกษาเบื้องต้นเผยให้เห็นว่า ความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตทุกสาเหตุของผู้ได้รับวัคซีน mRNA ในภาพรวมต่ำกว่ากลุ่มที่ได้รับวัคซีนอื่นประมาณร้อยละ 23 ส่วนการเสียชีวิตจากสาเหตุกลุ่มโรคหลอดเลือดสมองและกลุ่มโรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ พบว่าในผู้ได้รับวัคซีน mRNA มีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตต่ำกว่าผู้ได้รับวัคซีนอื่นร้อยละ 22-37 รวมถึงเมื่อทำการวิเคราะห์แยกตามกลุ่มอายุต่างๆ ก็ได้ผลในลักษณะเดียวกัน ดังนั้น ผลการวิเคราะห์เบื้องต้นซึ่งอาศัยฐานข้อมูลระดับประเทศดังกล่าวแสดงให้เห็นว่ายังไม่พบหลักฐานที่บ่งชี้ว่าการได้รับวัคซีน mRNA เพิ่มความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตทุกสาเหตุในภาพรวมและยังไม่พบว่ามีความสัมพันธ์กับการเสียชีวิตด้วยกลุ่มโรคหลอดเลือดสมองและกลุ่มโรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตามกรมควบคุมโรคมีแผนที่จะทำการศึกษาเพิ่มเติมโดยอาศัยฐานข้อมูลแหล่งอื่น เช่น ฐานข้อมูลที่เกียวข้องกับการเสียชีวิตในระดับบุคคลที่มีตัวแปรอื่นๆ มาประกอบการวิเคราะห์ต่อไป

          แพทย์หญิงจุไร วงศ์สวัสดิ์ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ และโฆษกกรมควบคุมโรค กล่าวเพิ่มเติมว่า ในช่วงแรกประเทศไทยใช้วัคซีนโควิด 19 ตามสถานการณ์ระบาดที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2564 ประเทศไทยมีการให้บริการวัคซีนหลายชนิด ทั้งวัคซีนชนิดเชื้อตาย คือ ซิโนแวค ซิโนฟาร์ม วัคซีนในรูปแบบไวรัสเวกเตอร์ คือ แอสตราเซเนกา วัคซีนชนิด mRNA คือ ไฟเซอร์ โมเดอร์น่า มีการประเมินโดยใช้แบบจำลองคาดการณ์ประโยชน์ของวัคซีนช่วยป้องกันคนไทยป่วยหนัก และเสียชีวิตจากโควิดเกือบ 5 แสนราย และมีระบบการเฝ้าระวังเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ภายหลังจากได้รับวัคซีนอย่างต่อเนื่อง โดยจะนำข้อมูลการตายส่วนเกิน (Excess Death) มาวิเคราะห์เพิ่มเติมในประเด็นที่ได้รับคำแนะนำจากผู้ร่วมการเสวนา ทั้งการวิเคราะห์ในรายพื้นที่ และวิเคราะห์เปรียบเทียบกับผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีน และในโอกาสหน้าจะได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้เพิ่มเติมกับผู้เชี่ยวชาญในประเด็นเชิงลึก เช่น กลไกการออกฤทธิของวัคซีนชนิด mRNA ว่ามีผลต่อสารพันธุกรรมหรือไม่ ตลอดจนผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาว พร้อมจัดทำข้อเสนอแนะส่งให้กับคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องพิจารณานำไปใช้ประโยชน์เพื่อพัฒนาแนวทางป้องกันควบคุมโควิด 19 ต่อไป

 

**********************************

ข้อมูลจาก: สำนักงานคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ/กองระบาดวิทยา/กองโรคติดต่อทั่วไป/สำนักสื่อสารความเสี่ยง กรมควบคุมโรค

วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2567


ข่าวสารอื่นๆ