สำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ
Responsive image

กรมควบคุมโรค เผย “วัณโรคเทียม โรคที่ไม่ควรมองข้าม” เร่งรณรงค์สร้างความตระหนักรู้ และเข้าถึงการรักษาอย่างมีประสิทธิภาพ

          กรมควบคุมโรค ย้ำเตือน “อย่าปล่อยให้ร่างกายอ่อนแอ มีโอกาสเป็นวัณโรคเทียม” วัณโรค (Tuberculosis หรือ TB) เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Mycobacterium tuberculosis ซึ่งยังเป็นปัญหา  ในระบบสาธารณสุขในประเทศไทย จากข้อมูลองค์การอนามัยโลก (WHO) ปี 2566 ประมาณการว่ามีผู้ป่วยวัณโรครายใหม่ 111,000 กว่ารายต่อปี และมีการเสียชีวิตเนื่องจากวัณโรคกว่า 12,000 รายต่อปี

          วัณโรค (Tuberculosis หรือ TB) เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Mycobacterium tuberculosis จัดอยู่ในกลุ่ม Mycobacterium tuberculosis complex เกิดได้ในทุกอวัยวะของร่างกาย ส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นที่ปอด เชื้อ Mycobacterium แบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม คือ 1) Mycobacterium tuberculosis complex (MTBC) เป็นสาเหตุของวัณโรคในคนและสัตว์  2) Nontuberculous mycobacteria (NTM) หรือวัณโรคเทียม ซึ่งมีจำนวนมากกว่า 140  สายพันธุ์ เชื้อมัยโคแบคทีเรียที่ไม่ก่อโรควัณโรค มักก่อโรคในผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง และมีอุบัติการณ์ของการติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา*  3) Mycobacterium leprae เชื้อมัยโคแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของโรคเรื้อน

          กรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า การติดเชื้อมัยโคแบคทีเรียกลุ่มที่ไม่ได้ก่อให้เกิดวัณโรค (Nontuberculous Mycobacteria - NTM) หรือที่เรียกว่า วัณโรคเทียม พบว่า มีการกระจายตัวอยู่ในธรรมชาติสูงทั้งในดิน น้ำ และอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคในคนได้ คนที่มีปอดปกติเมื่อหายใจเอาเชื้อวัณโรคเทียมเข้าไป จะไม่ก่อให้เกิดโรค แต่คนที่มีโรคปอดอยู่แล้ว หรือโดยเฉพาะในกลุ่มคนที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น ผู้ที่มีความบกพร่องของระบบภูมิคุ้มกัน ผู้ป่วยเรื้อรัง ผู้ที่ติดเชื้อ HIV ผู้สูงอายุ ผู้ที่เคยป่วยเป็นวัณโรค โดยการติดเชื้อนี้จะมีผลต่อการเกิดโรคที่บริเวณปอด ต่อมน้ำเหลือง หรือส่วนต่างๆ ของร่างกาย รวมทั้งผิวหนัง

          ซึ่งปัจจุบันพบว่า ผู้ติดเชื้อ NTM มักดื้อยารักษาวัณโรค ซึ่งหากมีการตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อคัดแยกผู้ติดเชื้อ NTM ออกจากผู้ป่วยวัณโรค จะทำให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งหากไม่มีการตรวจคัดแยกผู้ติดเชื้อ NTM ออกจากผู้ป่วยวัณโรค จะทำให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่ไม่มีประสิทธิภาพ และอาจส่งผลให้มีโอกาสเสียชีวิตเพิ่มมากขึ้น

          สำหรับผู้ป่วยวัณโรคเทียม จะมีอาการคล้ายผู้ป่วยวัณโรคเนื่องจากการติดเชื้อส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นที่ปอด อาการที่พบบ่อย ได้แก่ ไข้ ไอเรื้อรังไม่ทราบสาเหตุ เหนื่อยง่าย เสมหะเป็นเลือด น้ำหนักลด เบื่ออาหาร เหงื่อออกในตอนกลางคืน อ่อนเพลีย นอกจากนี้ยังพบอาการอื่นๆ ซึ่งขึ้นอยู่กับตำแหน่งของการติดเชื้อ เช่น ต่อมน้ำเหลืองบริเวณคอ หรือขาหนีบ ผื่นผิวหนัง ฝี หรือแผลเรื้อรัง เป็นต้น

          หากสังเกตตัวเองว่ามีอาการเหล่านี้ หรือสงสัยว่าตนเองป่วยวัณโรค ควรรีบไปตรวจหาการป่วยเป็นวัณโรคโดยเร็ว ด้วยการเอกซเรย์ปอดและการตรวจเสมหะ ณ โรงพยาบาลหรือสถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้าน เพื่อเข้าสู่กระบวนการการรักษาตามมาตรฐาน ทั้งนี้ เราสามารถป้องกันการป่วยเป็นวัณโรคได้ด้วยการรักษาสุขภาพให้แข็งแรง สวมใส่หน้ากากอนามัยเมื่อมีอาการไอ ตรวจสุขภาพอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง

          วัณโรค โรคร้ายที่ไม่น่ากลัวอย่างที่คิด “รู้เร็ว รักษาหาย ไม่แพร่กระจาย” ประชาชนสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่กองวัณโรค โทร. 02 212 2279 หรือสายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422

 

************************************************

ข้อมูลจาก : กองวัณโรค/สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค

วันที่ 2 กรกฎาคม 2567

 

* ข้อมูลจาก หนังสือคำแนะนำการรักษาการติดเชื้อมัยโคแบคทีเรียที่ไม่ใช่วัณโรค สมาคมโรคติดเชื้้อแห่งประเทศไทย


ข่าวสารอื่นๆ