สำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ
Responsive image

สธ. ห่วงประชาชน พร้อมเตือน พิษจากเมทานอลในสุราปลอม อาจก่อให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้

       กระทรวงสาธารณสุข เตือนประชาชนผู้ดื่มสุราปลอมหรือยาดอง หากมีอาการตามองไม่เห็นหรือมองเห็นผิดปกติ ร่วมกับมึนเวียนศีรษะ ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียนรุนแรง เกร็งกระตุกทั้งตัว อาจก่อให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้ ญาติและผู้ใกล้ชิดควรรีบพาส่งโรงพยาบาลเพื่อเข้ารับการรักษาโดยด่วน ประชาชนควรหลีกเลี่ยงการดื่มสุราปลอมหรือยาดองที่จำหน่ายตามซุ้มยาดอง หรือแหล่งอื่น ๆ อาจก่อให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้

       เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2567 ณ ห้องประชุม 2 ชั้น 2 สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมแนวทางการป้องกันปัญหาการลักลอบผลิต บริโภคและอันตรายของเหล้าปลอม พร้อมด้วยนายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค แพทย์หญิงอัมพร  เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมการแพทย์ ว่าที่ร้อยตรียงยุทธ ภูมิประเทศ รองอธิบดีกรมสรรพสามิต นายแพทย์บัลลังก์ อุปพงษ์ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ นายแพทย์สฤษดิ์เดช เจริญไชย ผู้อำนวยการกองสาธารณสุขฉุกเฉิน และเภสัชกรหญิงสุภัทรา บุญเสริม ผู้ทรงคุณวุฒิด้านมาตรฐานผลิตภัณฑ์ด้านสาธารณสุข สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา

       นายสมศักดิ์ ได้แสดงความห่วงใยและให้ทุกหน่วยงานแจ้งเตือนไปยังประชาชน ขอให้พิจารณาและระมัดระวังให้มาก ไม่ควรดื่มยาดองที่ซื้อจากพื้นที่ถนนหทัยราษฎร์ /ถนนสามวา /ถนนเจริญพัฒนา และบริเวณใกล้เคียงโดยรอบกรุงเทพมหานครหรือที่จำหน่ายตามซุ้มยาดอง หรือแหล่งอื่น ๆ ที่ไม่ได้มาตรฐาน รวมทั้งสุราที่ไม่ได้รับอนุญาตจากกรมสรรพสามิต พร้อมทั้งควรสังเกตลักษณะขวดต้องไม่มีการแยกบรรจุใหม่ ไม่มีการใช้ขวดเครื่องดื่มอื่น ๆ มาบรรจุแทนและฉลากต้องชัดเจน หากพบว่ามีสี กลิ่น รสเปลี่ยนไปจากเดิม ขุ่นหรือมีตะกอน ไม่ควรดื่ม และแจ้งต่อร้านค้าผู้จัดจำหน่ายหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ตรวจสอบ และหลีกเลี่ยงการดื่มเพื่อป้องกันอันตรายต่อสุขภาพและชีวิตของตนเอง

       นายแพทย์ธงชัย กล่าวถึงกรณีพบผู้ป่วยที่ดื่มสุราปลอม เข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล พื้นที่กรุงเทพมหานครพร้อมกันกว่า 28 ราย ด้วยอาการเวียนศีรษะ ปวดท้อง คลื่นไส้อาเจียนรุนแรง มีอาการตามองไม่เห็นหรือมองเห็นผิดปกติทั้งสองข้าง อาจมีอาการชักเกร็งกระตุกทั้งตัว ซึม และมีผู้เสียชีวิต 2 รายนั้น จากการตรวจสอบของกรมสรรพสามิต พบว่าสุราปลอมดังกล่าวได้มีส่วนผสมของเมทานอลและไอโซโพรพิลแอลกอฮอล์ เป็นสารอันตรายที่ใช้ในงานอุตสาหกรรม ไม่สามารถนำมาบริโภคได้ โดยผู้ผลิตบางรายที่มีการต้มหรือกลั่นเองได้ผสมสารพิษหรือเมทานอลในสุราปลอมเพื่อลดต้นทุน เนื่องจากเมทานอลมีราคาถูกกว่าเอทานอล ทั้งนี้ กรมควบคุมโรค ได้มีการเฝ้าระวังติดตาม และประสานงานกับหน่วยงานต่าง ๆ ในพื้นที่ ให้มีการสอบสวนและตีกรอบพื้นที่เสี่ยงอื่น ๆ ที่อาจมีการรับหัวเชื้อยาดองผสมสารเมทานอล และเฝ้าสังเกตอาการของประชาชนต่อไป

       ทั้งนี้ หากพบการกระทำผิดกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สามารถร้องเรียนได้ที่โปรแกรม TAS โดยสามารถเข้าใช้งานผ่านเว็บไซต์ https://tas.go.th และสามารถติดต่อขอรับคำปรึกษา คำแนะนำ และเทคนิคการเลิกดื่มสุราอย่างปลอดภัย จากศูนย์ปรึกษาเพื่อการเลิกสุราและการเสพติด 1413 สายด่วนเลิกสุรา หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422

**************************************************

ข้อมูลจาก : สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กรมควบคุมโรค/สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค

27 สิงหาคม 2567


ข่าวสารอื่นๆ